ผู้เขียน หัวข้อ: 4 เดือนนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน มีผู้ป่วยเข้าถึงบริการกว่า 4 พันราย  (อ่าน 937 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
       4 เดือนนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน มีผู้ป่วยเข้าถึงบริการกว่า 4 พันราย โดยกลุ่มข้าราชการเข้าถึงบริการได้สูงสุด รองมาใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพมากสุด และพื้นที่ กทม.ให้บริการผู้ป่วยได้มากที่สุด
       
       นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงผลการดำเนินงาน นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้นับเป็นเวลา 4 เดือน (1 เมษายน-31 กรกฎาคม 2555) ซึ่งผลการดำเนินการ พบว่า มีผู้ป่วยเข้าถึงบริการ 4,080 ราย จาก รพ.เอกชน 205 แห่ง เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพ 2,526 ราย หรือร้อยละ 69.91 สิทธิข้าราชการ 1,135 ราย หรือร้อยละ 27.82 สิทธิประกันสังคม 409 ราย หรือร้อยละ 10.01 ผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ 6 ราย หรือร้อยละ 0.15 และสิทธิรัฐวิสาหกิจ 4 ราย หรือร้อยละ 0.10
       
       ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของแต่ละสิทธิ พบว่า สิทธิข้าราชการเข้าถึงบริการสูงสุด ในอัตรา 23 คนต่อประชากร 10,000 คน ขณะที่สิทธิหลักประกันสุขภาพ อัตรา 5 คนต่อประชากร 10,000 คน และสิทธิประกันสังคม 4 คนต่อประชากร 10,000 คน สำหรับประเภทการบริการ เป็นบริการผู้ป่วยนอก 939 ราย หรือร้อยละ 23.01 ผู้ป่วยใน 3,137 ราย หรือร้อยละ 76.89 เป็นผู้ป่วยเร่งด่วน 2,100 ราย หรือร้อยละ 51.47 ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต 1,980 ราย หรือร้อยละ 48.53 ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาจนกระทั่งหาย ร้อยละ 57.3 ร้อยละ 31.2 มีการส่งตัวไปรักษาที่ รพ.อื่นต่อ และร้อยละ 9.5 เสียชีวิตเนื่องจากการเจ็บป่วยขั้นวิกฤต ผู้ป่วยส่วนมากนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 1 วัน และมีวันนอนเฉลี่ย 3.4 วัน จำนวนวันนอนสูงสุดคือ 48 วัน
       
       เลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม พบว่า ในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่ให้บริการผู้ป่วยมากที่สุด 1,745 ราย หรือร้อยละ 42.8 รองลงมา คือ สาขาเขตสระบุรี 470 ราย และสาขาเขตเชียงใหม่ 410 ราย ทั้งนี้ จ่ายเงินชดเชยแล้ว 2,982 ราย จำนวนเงิน 57,406,274 บาท ยังไม่สามารถจ่ายชดเชยได้ 1,098 ราย เนื่องจากข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ ต้องมีการแก้ไขข้อมูลใหม่