ผู้เขียน หัวข้อ: เตือนสวยทางลัดเสี่ยงอันตราย พบ'ยาผอม'ผสม'ไซบูทรามีน'ไร้อย.ขายเกร่อตลาดนัดกทม.  (อ่าน 1228 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 20 นางแฉล้ม ชนะคช นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการแพทย์ชำนาญการ กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยนางฉราวดี สมภักดี และนายภาณุ มคพิทักษ์ ได้ทำการสำรวจผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักที่วางจำหน่ายในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง เพื่อตรวจหายาไซบูทรามีนซึ่งเป็นยาลดความอ้วนที่ต้องควบคุมพิเศษ มาตรวจวิเคราะห์จำนวน 102 ตัวอย่าง ผลการตรวจสอบพบว่ามีจำนวน 80 ตัวอย่างที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่พบการปลอมปนตัวยาดังกล่าว แต่อีก 22 ตัวอย่างที่ไม่มี อย. พบว่ามีส่วนผสมของยาลดความอ้วนไซบูทรามีน ซึ่งต่อจากนี้จะต้องมาทำการวิเคราะห์หาปริมาณการปลอมปนอีกครั้ง ดังนั้นการจะเลือกซื้อกาแฟควบคุมน้ำหนัก ผู้บริโภคควรเลือกประเภทที่ได้รับการรับรองจาก อย.เท่านั้น ไม่ควรเชื่อโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง

"เราไปเก็บตัวอย่างกาแฟทั้งหมดนี้มาจากตลาดนัด จากร้านขายเครื่องสำอางโดยเฉพาะโดยกาแฟ 22 ตัวอย่างที่พบไซบูทรามีนนั้นเป็นผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้รับการรับรองจาก อย. สอบถามทางร้านเขาก็บอกว่าไปรับมาอีกที แต่ไม่ได้บอกว่ารับมาจากใคร ส่วนการโฆษณาตอนนี้เราพบแค่ทางอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่เท่าที่เดินๆ ดูตามแถบชายแดนจะพบมาก ตลาดนัดใน กทม.เองก็มี" นางแฉล้มกล่าว

ด้าน ภก.คมกฤช รำมะนะกิจจะ เภสัชกรประจำศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 จังหวัดตรัง กล่าวว่า เมื่อปี2554 ได้ลงพื้นที่สำรวจในจังหวัดพังงา กระบี่ และตรัง พบว่าประชาชนโดยเฉพาะผู้หญิงนิยมรับประทานกาแฟและอาหารเสริมลดน้ำหนัก จึงได้ทำการเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบจำนวน 4 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้เป็นกาแฟ 3 ตัวอย่างที่ติดฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งไม่มี อย.รับรองมาตรฐาน และอาหารเสริมชนิดแคปซูล 1 ตัวอย่าง ที่ยังไม่แน่ใจว่าผลิตในประเทศหรือต่างประเทศ เพราะผู้บริโภคนำมาให้ตรวจเป็นแผงโดยมีกล่องบรรจุภัณฑ์ ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่ามีการลักลอบผสมยาแผนปัจจุบัน เช่น ไซบูทรามีน และฟีนอล์ธาลีน ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย และมีอันตรายต่อผู้บริโภค

ภก.คมกฤชกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เราได้ทำการวิเคราะห์เพิ่มเติมในเกือบทุกจังหวัดทางภาคใต้ โดยเก็บตัวอย่างที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด ร้านขายยา ซึ่งแหล่งใหญ่ที่สุดอยู่ที่ตลาดกิมหยง จำนวน 66 ตัวอย่าง แบ่งเป็นกาแฟ 43 ตัวอย่าง อาหารเสริมประเภทแคปซูล 23 ตัวอย่าง และผลการตรวจสอบพบกาแฟปนเปื้อนไซบูทรามีน 16 ตัวอย่าง อาหารเสริมประเภทแคปซูล 10 ตัวอย่าง ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่มีการปนเปื้อนนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเลขทะเบียนเพียง 4 ตัวอย่างเท่านั้น ในขณะที่อีก 22 ตัวอย่างไม่มีเลขทะเบียน

"ของพวกนี้มักอ้างสรรพคุณโดยใช้ข้อความว่า สำหรับคนดื้อ (ลดยาก) หรือการใช้รูปภาพหญิงสาวที่มีรูปร่างดี เป็นการสื่อความหมายถึงการใช้เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ดังนั้นในกรณีนี้จึงอยากขอให้ประชาชนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีฉลากเป็นภาษาไทย ระบุชื่อผู้ผลิตและมี อย.รับรองอย่างชัดเจน ไม่มีการโฆษณาโออวดเกินจริง ในกรณีที่ผู้บริโภคสงสัยหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ควรแจ้งหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค เช่น สสจ. อย. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป"ภก.คมกฤชกล่าว.