ผู้เขียน หัวข้อ: ขอแยก สธ.จาก ก.พ. แก้ปัญหาบุคลากรไม่คืบ  (อ่าน 1038 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
นับเป็นปัญหาคาราคาซังมานาน สำหรับการแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข

ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งการเพิ่มอัตรากำลังคน การปรับค่าตอบแทน ที่รวมไปถึงสวัสดิการ ความมั่นคงในชีวิต ตลอดจนความก้าวหน้าในอาชีพการงาน

 หลังจากที่สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มีนโยบายจำกัดกำลังพล ส่งผลให้มีการลดอัตราตำแหน่งบรรจุข้าราชการ สิ่งที่ตามมา คือ ทำให้กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลในด้านการรักษาพยาบาลและสุขภาพประชาชนขาดคนทำงาน

                ทางออกที่ผ่านมาของโรงพยาบาลคือการว่าจ้างบุคลากรเข้าทำงานโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และนักเทคนิคการแพทย์ ตลอดจนในตำแหน่งอื่นๆ ในฐานะลูกจ้างชั่วคราว ที่เป็นการใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลเอง

                ด้วยเหตุนี้ทำให้บุคลากรเหล่านี้ขาดความมั่นคง ส่วนใหญ่เลือกที่จะลาออกไปทำงานยังโรงพยาบาลเอกชน หรือประกอบวิชาชีพอื่นแทน กลายเป็นปัญหาสมองไหล ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนบุคลากร นับเป็นการแก้ไม่ตก

                ปัญหาที่เกิดในอนาคตยังอาจถูกซ้ำเติมด้วยนโยบายการขยายเมดิคัล ฮับ เพื่อดึงเงินจากผู้ป่วยต่างชาติในการเข้ารับบริการสุขภาพในประเทศ ประกอบกับการเปิดเสรีอาเซียน ซึ่งจะเริ่มขึ้นในอีก 3 ปีจากนี้ จำเป็นที่รัฐบาลต้องหามาตรการออกมารองรับ

                อย่างไรก็ตามแม้ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเองได้พยายามแก้ไขปัญหา โดยได้มีการจัดทำแผนอัตรากำลังคนระยะยาว 5 ปี เพื่อขออัตราตำแหน่งบรรจุจาก ก.พ. และรัฐบาล กว่า 70,000 ตำแหน่ง แต่ก็ยังต้องรอลุ้นท่ามกลางเสียงประท้วงของกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวจากหลากหลายวิชาชีพในระบบ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

                ล่าสุดจึงได้มีการเสนอทางออกแบบเด็ดขาด โดยขอให้มีการ “แยกกระทรวงสาธารณสุขออกจาก ก.พ.” ที่ถือเป็นการเริ่มต้นนับ 1 ซึ่งทางสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) ได้เข้ายื่นร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการและบุคลากรสาธารณสุข พ.ศ. ... ต่อทางสภาผู้แทนราษฎร์ โดยมีรายชื่อบุคลากรในระบบสาธารณสุขร่วมสนับสนุนกว่า 1.2 แสนคน หลังจากที่อดทนรอการแก้ไขปัญหาจากผู้บริการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาลไม่ไหว

                   โดยแนวทางนี้ ยังได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้หลักผู้ใหญ่ในระบบสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่รวมผู้บริหารจากโรงเรียนแพทย์ รวมไปถึงสภาการพยาบาลที่เห็นชอบ หากปัญหาบุคลากรที่เกิดขึ้นนี้ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งต่างเห็นดีที่ต้องแยกเป็นอิสระเช่นเดียวกับ ตำรวจ ครู และศาลยุติธรรม เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถดึงคนไว้ในระบบได้

                ท้ายที่สุด ทุกข์หนักก็จะอยู่ที่ประชาชน เพราะแม้รัฐบาลจะมีนโยบายที่ให้ประชาชนคนไทยทั่วประเทศเข้าถึงการรักษา อย่างโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่หากไม่มีบุคลากรทำหน้าที่รักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพประชาชน วิกฤติครั้งใหม่ย่อมต้องเกิดขึ้นแน่