ผู้เขียน หัวข้อ: การแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุขภาครัฐ โดยการแยกออกจากก.พ.  (อ่าน 3875 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ทุกๆปีในช่วงที่นักศึกษาแพทย์หรือพยาบาลเรียนสำเร็จการศึกษา และถูก “เกณฑ์” หรือ “บังคับ” ให้เข้ามาทำงานเพื่อ “ชดใช้ทุนการศึกษา” ในกระทรวงสาธารณสุข เราก็จะได้ทราบจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่า “เรายังขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุขอยู่หลายหมื่นคน แต่ก.พ. ไม่มีตำแหน่งให้บรรจุ” ซึ่งปรากฎการณ์เหล่านี้ บุคลากรในแวดวงของกระทรวงสาธารณสุขก็คงได้รับทราบเป็นประจำทุกๆปี (สำหรับแพทย์ก็คือจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน) หลังจากนั้นก็จะมีข่าวต่อมาอีกว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะได้มอบหมายรองปลัดกระทรวง ให้พิจารณาว่าควรจะ”ขอตำแหน่งข้าราชการเพิ่มไปที่ก.พ.อีกกี่ตำแหน่ง”เป็นอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้ว สำหรับปีนี้ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฒธน ก็ได้ออกมา “เคาะ” แล้วว่า กระทรวงสาธารณสุขยังต้องการบุคลากรอีก 70,000 ตำแหน่ง

 ถ้าปีไหนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเข้าใจปัญหาและ “มีพลังมากหน่อย” ก็จะไปใช้ “พลังภายใน” บีบบังคับก.พ.ให้เพิ่มตำแหน่งข้าราชการสาธารณสุขมาได้เป็นจำนวนมากขึ้น แต่ถ้าปีไหนรัฐมนตรีไม่เข้าใจหรือไม่สนใจ ตำแหน่งบุคลากรสาธารณสุขที่กระทรวงสาธารณสุขขอเพิ่มไปก็จะไม่ได้รับการตอบสนอง เนื่องจากก.พ.ก็จะยึดถือมติครม.(ยุคนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย )อย่างเคร่งครัดว่า จำนวนข้าราชการไทยไม่ให้เพิ่ม (Zero Growth) เพราะก.พ.เคยไปสำรวจว่า ข้าราชการบางแห่งมีคนล้นงาน ไม่มีงานทำ เดินไปเดินมาหรือทำงานแบบ “เช้าชาม เย็นชาม”

  แต่ก.พ.ไม่เคยมาสำรวจว่า ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ทำงานในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลที่ให้บริการ “ตรวจรักษาสุขภาพประชาชน”นั้น มีงานล้นมือตลอดเวลา 24 ชั่วโมงใน 365 วัน และขาดบุคลากรทุกสาขาอาชีพและวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขโดยตรงแล้ว ยังมีบุคลากรวิชาชีพหรืออาชีพอื่นๆอีกหลากหลายสาขามากกว่า 30 สาขา ซึ่งเป็นบุคลากรที่สำคัญที่ต้องทำงานเป็นกลุ่ม (Team work) ในการที่จะทำให้การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชน และอ.ก.พ. (อนุกรรมการก.พ.) ของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีทั้งรมว.สธ.และปลัดกระทรวงสธ.เป็นอนุกรรมการด้วย ก็ไม่เคยไปอธิบายให้ก.พ.เข้าใจและให้ตำแหน่งเพิ่มมาตามความจำเป็นที่แท้จริงแต่อย่างใด

 แต่เมื่อไม่มีตำแหน่งบรรจุ โรงพยาบาลต่างๆก็ต้อง “จ้าง” บุคลากรเหล่านั้นให้ทำงานเพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลรักษาสุขภาพอย่างดีมีมาตรฐาน ได้รับความสะดวกและปลอดภัย ในชีวิตเมื่อเจ็บป่วย และกระทรวงสาธารณสุขมีลูกจ้างเกือบแสนคน

  แต่การจ้างงานของกระทรวงสาธารณสุขนั้น เป็นการจ้างที่ให้ค่าจ้างเท่ากับผู้เป็นข้าราชการ แต่ไม่มีสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆเหมือนข้าราชการ และเป็นการจ้าง “ชั่วคราว” คือทำสัญญาจ้างแบบปีต่อปี และไม่มีการ”เลื่อนขั้นเงินเดือน” เหมือนข้าราชการ จึงทำให้บรรดาลูกจ้างเหล่านี้ขาดโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ ขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน เพราะมองไม่เห็นความเจริญรุ่งเรืองในการทำงาน

 ซึ่งลูกจ้างที่ทนได้ก็ทนไป ที่ทนไม่ได้และมีช่องทางดีกว่า ก็ลาออกไปทำงานในภาคเอกชน ทำให้โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการทำงาน สูญเสียไปให้แก่ภาคเอกชนเป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้นข้าราชการแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรอื่นๆต่างก็มีภาระงานมากเกินภาระงานของคนทั่วไป เช่น แพทย์ต้องทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 90-120 ชั่วโมง  ต้องทำงานติดต่อกันเกิน24-32 ชั่วโมง เนื่องจากมีผู้ป่วยฉุกเฉินมารับการรักษาหรือผ่าตัด ต้องอยู่เวรนอกเวลาราชการอดนอนมาแล้วทั้งคืน แต่ต้องมาผ่าตัดอีกในตอนเช้า เนื่องจากมีผู้ป่วยอาการฉุกเฉินถ้าไม่รีบผ่าตัดก็จะตาย ถ้าผ่าตัดก็อาจจะรอดชีวิต แต่ถ้าแพทย์อดนอนแต่ต้องทำผ่าตัดแล้วจะทำให้ผู้ป่วยต้องรับความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่?

  ส่วนพยาบาลต้องทำงานเดือนละมากกว่า 35 วัน (เทียบกับข้าราชการทั่วไปทำงานเพียงเดือนละ 22 วัน) และส่วนใหญ่อาจต้องทำงานติดต่อกันวันละ 16 ชั่วโมง และต้องให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด (เหมือนแม่เฝ้าดูแลรักษาลูก) แต่จำนวนผู้ป่วยในความรับผิดชอบก็มากมาย บางครั้งมากถึง 30 เตียง ล้วนเป็นผู้ป่วยที่ลุกจากเตียงได้ยากหรือไม่ได้เลย (เปรียบเหมือนแม่ดูแลทารกฝาแฝด 30 คน) ท่านผู้อ่านลองคิดดูก็แล้วกันว่า แม่คนนี้จะดูแลรักษาพยาบาลทารกทั้งหมดได้ดีแค่ไหน คงมีหลงหูหลงตาตกเตียงไปบ้าง อดกินนมหรือต้องทนนอนเลอะขี้เลอะเยี่ยวบ้างเป็นแน่

  สำหรับวิชาชีพอื่นๆก็เช่นเดียวกันที่ต้องรับภาระงานเกินกำลังแบบนี้ แต่อาจจะมีบุคลากรสาธารณสุขส่วนหนึ่งที่ทำงานด้านการบริหาร นโยบายหรือด้านเอกสาร ที่ทำงานในสำนักงานในกระทรวงสาธารณสุข(ที่จังหวัดนนทบุรี) ที่ไม่ต้องทำงานหนักดังที่ผู้เขียนบรรยายมา มีเวลาเดิน “ฉุยฉาย”อยู่ในกระทรวง คอยตามเอาอกเอาใจรัฐมนตรี เพื่อไม่ไห้ถูกปลดจากตำแหน่ง (ต้องขออภัยสำหรับข้าราชการดีๆ ผู้เขียนว่าเฉพาะ “บางคน” เท่านั้น ใครทำดีหรือไม่ดีก็รู้อยู่แก่ใจตนเองและคนอื่นๆ)

  จึงเห็นได้ว่า มีแพทย์และพยาบาลจำนวนหนึ่ง พยายามหาโอกาสที่จะ “ย้าย” ทำงานเบาๆในสำนักงานในที่ตั้งของกระทรวงสาธารณสุข เพราะนอกจากจะได้ทำงานน้อยลงแล้ว ยังได้ตำแหน่งซี10 ซี 11 ง่ายกว่าข้าราชการอื่นๆที่ต้องทำงานหนักบริการประชาชนอีกด้วย  เพราะอยู่ใกล้ศูนย์อำนาจในกระทรวง จะวิ่งเต้นขอตำแหน่งเพื่อความเจริญก้าวหน้าของตัวเองก็ง่ายขึ้น

  ยังมีแพทย์/พยาบาลอีกส่วนหนึ่ง ก็สนองนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริม”Medical Hub” คือลาออกไปทำงานในภาคเอกชน เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายแก่ผู้ป่วยชาวต่างชาติและผู้ป่วยชาวไทยที่มีเงินพอที่จะไปใช้บริการที่โรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากประเทศชาติก็จะได้เงินจากชาวต่างชาติ และบุคลากรทางการแพทย์ก็ได้ทำงานตามอัตราของคนธรรมดาอื่นๆ ไม่ต้องอดนอนทำงานหามรุ่งหามค่ำ ข้ามวันข้ามคืนเหมือนอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขอีกต่อไป

 

 ผลจากการสูญเสียบุคลากรที่ทำงานให้บริการดูแลรักษาสุขภาพประชาชนในภาครัฐก็คือ ประชาชนที่ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล ต้องไปรอรับการบริการอย่างแออัด  จนล้นโรงพยาบาล เสียเวลาเป็นวันๆกว่าจะได้รับการตรวจรักษา เพราะบุคลากรก็ต้องรีบเร่งให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยอาการหนักก่อน ส่วนผู้ป่วยคนอื่นๆอาจใช้เวลารอหมอครึ่งค่อนวัน ได้พบปะปรึกษาหรือให้หมอตรวจร่างกายเพียง 2-4 นาที แล้วก็ต้องไปนั่งรอคิวรอรับยาอีกครึ่งค่อนวัน ถ้าต้องได้รับการตรวจพิเศษเช่นเจาะเลือด เอ๊กซเรย์ ก็อาจจะต้องกลับมารับผลการตรวจอีก 1 วัน จึงจะได้รับการรักษา

 บุคลากรสาธารณสุขที่ยังทำงานอยู่ในราชการก็ต้องเสียสละเวลาส่วนตัวที่ควรจะให้แก่ครอบครัว ต้องสละเวลาทำงานมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยที่มากมายนี้ได้ แต่ถ้ายังต้องเป็นลูกจ้างชั่วคราวไปเรื่อยๆ ก็คงต้องเลือกการลาออกไปแสวงหาสิ่งที่ดีขึ้นกว่านี้

  สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)ได้ติดตามศึกษาปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุขนี้มายาวนาน  และเห็นว่าการขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุขที่เหมาะสม/เพียงพอทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่เจ็บป่วย และไปรับการดูแลซ่อมแซมสุขภาพในรพ.ของกระทรวงสาธารณสุขได้รับการดูแลรักษาจากบุคลากรที่มีน้อยเกินไป ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อความผิดพลาดและความเสียหายจากการไปรับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข และไม่สามารถที่จะขอตำแหน่งเพิ่มได้จากก.พ.เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายให้ก.พ.ลดตำแหน่งและอัตรากำลังของข้าราชการทั้งหมด ซึ่งเป็นการตัดสินใจแบบรวบอำนาจจากส่วนกลาง โดยไม่รับรู้ถึงปัญหาจริงของผู้ปฏิบัติงาน ทำให้มีผลกระทบต่อการขาดตำแหน่งและอัตรากำลังของบุคลากรต่างๆในกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องทำงานดูแลรักษาสุขภาพประชาชน  ทำให้บุคลากรหลายหมื่นคนต้องทำงานในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ขาดสวัสดิการ ขาดความมั่นคงและความก้าวหน้าในวิชาชีพ(หรืออาชีพ) ส่งผลให้บุคลากรขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน และตัดสินใจลาออกจากการทำงานให้บริการสาธารณะด้านสาธารณสุขในกระทรวงสาธารณสุข

   และสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ได้สำรวจความคิดเห็นของบุคลากรสาธารณสุขหลายครั้งต่างกรรมต่างวาระและสถานที่กัน ได้พบว่า บุคลากรสาธารณสุขมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มีความเห็นชอบที่จะแยกออกจากก.พ.  เพื่อให้ คณะกรรมการข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ที่สรรหามาจากผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานในพื้นที่ ก็จะสามารถกำหนดกรอบอัตรากำลังเพื่อบรรจุข้าราชการในสายงานต่างๆให้เหมาะสมกับภาระงาน ที่จะต้องรักษามาตรฐานให้ดีที่สุด เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ  นับว่าเป็นการกระจายอำนาจการบริหารสาธารณสุขมาสู่บุคลากรที่รู้ปัญหาจริง เพื่อทำให้ประชาชนที่เจ็บป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างมีมาตรฐานและปลอดภัย

 โดยการแยกออกจากก.พ.นี้ จะทำให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถกำหนดตำแหน่งบุคลากรให้เหมาะสม มีตำแหน่งงานตามความเชี่ยวชาญที่รับผิดชอบ มีความก้าวหน้าในสายงานวิชาชีพ(อาชีพ) ทำให้บุคลากรมีขวัญกำลังใจดี ไม่ลาออกไปทำงานในภาคเอกชนเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และประชาชนจะได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการไปรับการบริการด้านสุขภาพจากโรงพยาบาลและสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขดีขึ้นกว่าเดิม

โดยสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ได้เริ่มรวบรวมรายชื่อบุคลากรสาธารณสุขและประชาชนทั่วไปมาประมาณ 2 ปีแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อเสนอพ.ร.บ.ก.สธ.(แยกจากก.พ.)  ที่ได้มอบให้พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล และนายสุกฤษฎิ์ กิติศรีวรพันธุ์ เป็นผู้ยกร่างพ.ร.บ.ก.สธ. พ.ศ. .... และได้เสนอร่างพ.ร.บ.ก.สธ. พ.ศ. ....ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับเปลี่ยนเงินเดือนและค่าตอบแทนแพทย์ แพทยสภา ซึ่งมีอนุกรรมการมาจากบุคลากรสาธารณสุขจากหลากหลายสาขาวิชาชีพและอาชีพ มาพิจารณาให้ความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ก.สธ. .... นี้ และได้มอบให้พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล เป็นหัวหน้าคณะทำงานรวบรวมรายชื่อผู้เสนอกฎหมาย โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากนพ.ธงชัย ซึงถาวร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 17 และบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศ

 สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ได้นำคณะบุคลากรจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ และประชาชนทั่วไป ไปยื่นเสนอพ.ร.บ.ก.สธ. พ.ศ. .... ต่อรองประธานสภา ผู้แทนราษฎรคนที่ 2 คือสส.วิสุทธิ์ ไชยณรุณ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 เพื่อให้สภาฯนำไปเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณา เพื่อออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป

 โดยท่านรองประธานสภาก็ได้ให้กำลังใจว่า ท่านเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และบอกให้สผพท.ไปบอกกล่าวให้บุคลากรสาธารณสุขทุกจังหวัด ไปร้องขอให้สส.ของท่านในทุกจังหวัด ให้การสนับสนุนและเห็นชอบในการออกกฎหมายนี้ให้สำเร็จต่อไป

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
8/8/55