เมื่อ 20 ปีที่แล้ว นพ.มรกต กรเกษม เลขาธิการอาหารและยาขณะนั้นได้ออกมาให้ข่าวต่อสาธารณะว่ากรณีการย้ายตนเองออกจากเลขาฯเป็นเพราะไม่สนองตอบรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขนายบุญพันธ์ แขวัฒนะกรณี รมว.แจ้งว่ามีภาระต้องใช้จ่ายวันละ สองแสนบาท นพ.สุวิทย์,อำพล,ชูชัย,วิชัย,สงวน,ศิริวัฒน์และแกนนำอีกหลายคนของกลุ่มแพทย์ชนบทประกาศผูกเน็คไทสีดำทั่วประเทศเพื่อประท้วงการแต่งตั้งโยกย้ายคราวนั้น ทั้งๆที่เป้าหมายการดำเนินการคราวนั้นเป็นการสกัดกั้นการแต่งตั้งนพ.สำเริง แหยงกระโทกเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงฯข้ามหัวแกนนำกลุ่มนี้
เหตุการณ์ผ่านมายุคนพ.วิทูร แสงสิงแก้ว ปลัดกระทรวงฯได้สั่งย้ายนพ
สุวิทย์ วิบูลย์ผลประเสริฐ จากผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนไปเป็นนายแพทย์ใหญ่ สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มแพทย์ชนบทเป็นอย่างมาก เพราะนพ.สุวิทย์ได้สร้างมิติใหม่ให้กับตำแหน่งผอก.สำนักนี้ด้วยการควบคุมงบประมาณทุกอย่างของกระทรวง สามารถสนับสนุนงานของกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ แกนนำทั้งหมดร่วมมือกันอีกครั้งและเพื่อให้มีน้ำหนักและชิงความได้เปรียบของการต่อสู้จึงพุ่งเป้า
ไปที่นายเสนาะ เทียนทอง รมว.ขณะนั้นที่ดูเหมือนว่าต้นทุนทางสังคมค่อนข้างน้อยกว่าปลัดวิทูร ต่อมาไม่นานถึงยุคนายรักเกียรติ์ สุขธนะมีการแต่งตั้งนพ.ยิ่งเกียรติ์ ผู้ช่วยปลัดให้เป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวงข้ามหัวแกนนำกลุ่มแพทย์ชนบทนี้อีก
ขณะนั้นมีงบประมาณลักษณะกระตุ้นเศรษฐกิจนับพันล้านบาท กลุ่มการเมืองก็ต้องการผลประโยชน์จากงบนี้จึงมีการสั่งการด้วยวาจาให้สนับสนุนบริษัทที่มีความสัมพันธ์กับรัฐมนตรีหลายบริษัท แต่งเผอิญคนที่ได้รับมอบหมายให้ไปดำเนินการคือนพ.ยิ่งเกียรติ์ กลุ่มแพทย์ชนบทเหล่านี้ได้ใช้กระแสสังคมผ่านสื่อต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพและเปลี่ยนแนวต่อสู้ด้วยยุทธศาสตร์การต่อต้านคอร์รัปชั่น ทำให้เกิดดาวรุ่ง นส.รสนา(อ้างว่าเป็นตัวแทนององค์กรอิสระ 37 องค์กร)ขณะนั้นเป็นหน้าห้องของนพ.สงวน นิตยารัมพงศ์ไม่ใช่ เอ็นจีโอที่ไหน และนพ.ยงยศ,นพ.ประวิทย์(ประธานชมรมแพทย์ชนบท) การเคลื่อนไหวคราวนั้นใช้มาตรการเบี้ยกินขุนเพราะหากเกิดความผิดพลาดต้องสูญเสียทางกลุ่มไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง เนื่องจากขณะนั้นแกนนำแต่ละคนอยู่ในแผงของการขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงของกระทรวงฯ ไม่พร้อมที่จะเสี่ยง
จะเห็นได้ว่าแพทย์กลุ่มนี้มักมีปัญหากับผู้บริหารระดับสูง ในการทำงานมักกดดันทิศทางการบริหารให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ หากไม่ได้ตามที่เสนอมักมีการเคลื่อนไหวออกสู่สาธารณะในลักษณะชี้ประเด็นทุจริตซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดีมาตลอด ทั้งการกำจัดฝ่ายตรงข้ามที่ขวางเส้นทางการเจริญเติบโตทางราชการของกลุ่มและการสร้างบารมีสำหรับนักการเมืองที่จะมาคุมกระทรวง แต่การต่อสู้กับรัฐมนตรีบ่อยๆไม่ใช่เรื่องสนุก แกนนำกลุ่มนี้เกิดความคิดว่าต้องปลดแอกออกจากอำนาจกำกับดูแลของนักการเมืองเสียที สบโอกาสที่มีการปฏิวัติเมื่อปี 2549 ซึ่งเราทราบดีว่าฝ่ายปฏิวัติเองก็มีการเตรียมการน้อยมากแม้กระทั่งตัวบุคคลที่จะมาดูแลกระทรวงต่างๆทางกลุ่มจึงฉวยโอกาสนี้ด้วยการนำเสนอนพ.มงคล ณ.สงขลามาเป็นรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข นพ.อำพล จินดาวัฒนะได้รับปูนบำเหน็จเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการแต่ท่านมงคลขณะนั้นมีปัญหาสุขภาพต้องรับการผ่าตัดหัวใจและพักรักษาตัวเป็นเวลานาน งานการต่างๆของกระทรวงฯถูกสั่งการโดยเลขาฯอำพลเกือบทั้งหมด งานแรกที่ถูกผลักดันอย่างเร่งด่วนคือ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ในช่วงนั้นนพ.อำพล เดินสายชี้แจงพ.ร.บ.นี้ด้วยตัวเองในที่ประชุมของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขระดับต่างๆรวมทั้งชี้แจงผ่านสื่อโทรทัศน์ว่าเป็นหน่วยงานวิชาการ เน้นประเด็นไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ โครงสร้างก็ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ไม่มีงบประมาณ ต่อไปสิทธิประชาชนจะดีขึ้นขนาดที่ว่าสั่งให้หมอไม่ต้องกู้ชีพได้ มีสิทธิ์เลือกตายได้ แต่วาระแอบแฝงในพรบ.ไม่เคยกล่าวถึง
ในมาตรา 25 ที่กล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของ คสช.(คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ)ในข้อที่ 5 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการติดตามและประเมินผลเกี่ยวกับระบบสุขภาพแห่งชาติและผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ
บทบาทนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขโดยมีรัฐมนตรีว่าการเป็นผู้รับผิดชอบกำกับดูแลทั้งระบบ หากมีผู้มีอำนาจตามกฎหมายมาสวมภารกิจนี้อีกจะเกิดความสับสนรวมทั้งปัญหาการยอมรับของของชาวสาธารณสุข และบารมีของเลขาธิการคสช.(นพ.อำพล จินดาวัฒนะ)ก็ยังมีไม่เพียงพอจึงมีความจำเป็นต้องเร่งมาตรการกระจายอำนาจถ่ายโอนภารกิจกระทรวงสาธารณสุขไปยังองค์กรท้องถิ่น หาเสียงความนิยมกับผู้นำท้องถิ่นและนักเคลื่อนไหวอาชีพ(เอ็นจีโอ)ว่าจะได้กำกับหน่วยงานของรัฐและบริหารงบประมาณมหาศาลจากการที่รพ.ศูนย์,รพทั่วไปไปอยู่กับ อบจ.รพ.อำเภอไปอยู่กับเทศบาลและสถานีอนามัยไปอยู่กับ อบต. โดยหลอกใช้ชมรมสาธารณสุขอำเภอให้เป็นหัวหอกเรียกร้องอ้างว่าต้องทำควบคู่กับพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุข การเคลื่อนไหวในระยะนี้เกิดขึ้นบ่อยจนผิดสังเกตเพราะกลุ่มแพทย์ชนบทประเมินว่าภาพลักษณ์รัฐบาลย่ำแย่จากโครงการไทยเข้มแข็ง และอายุรัฐบาลอาจจะสั้นด้วยปัญหาการกดดันของพรรคร่วม หากการถ่ายโอนหน่วยบริการระดับต่างๆเป็นไปตามแผนการ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติโดยมีนพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการก็จะออกโรงมาพบกับผู้นำท้องถิ่น นายกอบจ.นายกเทศมนตรีและนายกอบต.ว่าบทบาทการกำกับดูแลหน่วยบริการเหล่านี้เป็นหน้าที่ของ คสช.ตามกฏหมาย(พรบ.)ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายของแผนล้มกระทรวงสาธารณสุข
ความน่ากลัวของ คสช.ไม่มีเพียงลบอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ในมาตราที่ 48 ว่าด้วยธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ ธรรมนูญว่าด้วยสุขภาพแห่งชาติและนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพตามมาตรา 25(2)ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ผูกพันหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่ของตน
มาตรานี้ต้องการผูกมัดการกำหนดนโยบายของรัฐบาลและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพคล้ายคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมมีอำนาจกับการลงทุนของอุตสาหกรรมใหญ่ๆทั้งๆที่ธรรมนูญดังกล่าวถูกกำหนดโดยที่ประชุม เอ็นจีโอที่ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความเข้าใจงานสาธารณสุขเลย
ความทะเยอทะยานและปมความแค้นส่วนตัวของคนไม่กี่ คนได้สร้างปัญหามากมายกับระบบสาธารณสุขของประเทศ จำเป็นต้องรีบแก้ไขโดยเร่งด่วนต้องใช้ขบวนการรัฐสภายกเลิก พรบ.นี้ (พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2550)หรือแก้ไขอำนาจหน้าที่ของ 2 มาตรานี้
หากมีการดำเนินการในส่วนนี้จะได้ใจชาวสาธารณสุขจำนวนมากที่มีแนวคิดตรงข้ามกับกลุ่มแพทย์ชนบทซึ่งโดยข้อเท็จจริงมีไม่กี่คน รัฐมนตรีหลายท่านที่ผ่านมาไม่สนใจศึกษาผลกระทบของ พ.ร.บ.นี้ หรือดูไม่ออกถึงเลศนัยของพวกนี้ ทำให้ชาวสาธารณสุขส่วนใหญ่มองความล่มสลายของกระทรวงสาธารณสุขด้วยความเศร้าสลดและสิ้นหวัง รอคอยการนำของผู้นำที่มีวิสัยทัศน์มาตลอด หากมีการนำ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2550 เข้าทบทวนแก้ไขในสภาผู้แทน ข้าราชการสาธารณสุขทั่วประเทศจะเริ่มมีขวัญกำลังใจ
กลุ่มแพทย์ชนบทจะต้องกลับไปปกป้องฐานอำนาจตัวเองที่วางแผนสร้างสมมานานนับสิบปี แทนที่จะมาเคลื่อนไหวสร้างความปั่นป่วนในระบบสาธารณสุข เพราะภาระการทำลายภาพลักษณ์กระทรวงสาธารณสุขมาตลอดเป็นระยะ เป็นเพียงงานเสริมของการเกิดของ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ