ผู้เขียน หัวข้อ: ความทรงจำ-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2761 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

พนักงานธุรการหญิงวัย 41 ปีจากแคลิฟอร์เนีย ซึ่งรู้จักกันในชื่อทางการแพทย์ว่า "เอเจ" จดจำชีวิตประจำวันตั้งแต่อายุ 11 ปีเป็นต้นมา ในขณะที่เจ้าหน้าที่เทคนิคปลดเกษียณวัย 85 ปีที่รู้จักกันในชื่อ "อีพี" จำได้เพียงปัจจุบันขณะ ถ้าเธอมีความจำดีที่สุดในโลก เขาก็มีความจำแย่ที่สุด

"ความจำของฉันหลั่งไหลเหมือนหนังที่ต่อเนื่องและควบคุมไม่ได้" เอเจบอก เธอจำได้ว่าในวันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม ปี 1986 เวลา 12.34 น. เด็กหนุ่มที่เธอหลงรักโทรศัพท์มาหาเธอ เธอจำรายละเอียดของรายการ เมอร์ฟีบราวน์ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ปี 1988 ได้ และจำได้ว่า เธอกินมื้อเที่ยงกับพ่อที่โรงแรมเบเวอร์ลีฮิลส์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ปี 1992 เอเจจำเหตุการณ์สำคัญของโลก การเดินไปซื้อของที่ร้านขายของชำ สภาพอากาศ และอารมณ์ของเธอได้ จะว่าไปแล้วเวลาเกือบทุกวันบันทึกอยู่ในหัวเธอ การหลอกให้เธองงคงไม่ง่ายนัก คนที่มีความจำดีผิดปกติเช่นนี้มีไม่มากนัก

ว่ากันว่าคิม พีก อัจฉริยบุคคลวัย 56 ปี ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดภาพยนตร์เรื่อง เรนแมน ท่องจำหนังสือได้เกือบ 12,000 เล่ม (เขาใช้เวลาอ่านหนังสือแต่ละหน้าเพียง 8-10 วินาที) "เอส" นักข่าวชาวรัสเซียที่อะเล็กซันเดียร์ ลูเรีย นักประสาทจิตวิทยา (neuropsychologist) ชาวรัสเซีย ทำการศึกษาเป็นเวลา 30 ปี สามารถจดจำคำ ตัวเลข และพยางค์ที่ไม่มีความหมายอันยาวเหยียดได้นานหลายปีหลังจากได้ฟังเพียงแค่ ครั้งเดียว แต่เอเจไม่เหมือนใคร ความทรงจำพิเศษของเธอไม่ได้มีไว้สำหรับจดจำข้อเท็จจริงหรือตัวเลข แต่เป็นชีวิตของตัวเธอเอง อันที่จริงการจำรายละเอียดของประวัติชีวิตที่ไม่หมดสิ้นนี้ยังไม่เคยมีมาก่อน และยังมีการศึกษาน้อยมากเสียจนกระทั่งเจมส์ แมกกาฟ, เอลิซาเบท พาร์กเกอร์ และแลร์รี คาฮิลล์ นักประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscientist) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เออร์ไวน์ ผู้ติดตามศึกษาเอเจตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ต้องบัญญัติศัพท์ทางการแพทย์ขึ้นใหม่เพื่อเรียกลักษณะอาการของเธอว่า กลุ่มอาการไฮเปอร์ไทเมสติก (hyperthymestic syndrome ) หรือการจดจำมากเกินไป

อีพีสูง 180 เซนติเมตร ผมขาวแสกเรียบร้อย และมีหูยาวกว่าปกติ เขามีบุคลิกดี เป็นมิตร สุภาพ และหัวเราะง่าย ดูเผินๆเหมือนคุณตาใจดี แต่เมื่อ 15 ปีก่อน เขาถูกไวรัสโรคเริมทำลายสมองจนเหลือแต่แกนเหมือนผลแอปเปิลโดนแทะ เมื่อเริ่มทุเลา เนื้อสมองส่วนกลางของกลีบขมับขนาดเท่าผลองุ่นสองก้อนก็หายไปพร้อมความทรงจำ ส่วนใหญ่ของเขา เชื้อไวรัสโจมตีเข้าเป้าอย่างไม่น่าเชื่อ

สมองส่วนกลางของกลีบขมับซึ่งมีอยู่สองฝั่งของสมอง ประกอบด้วยโครงสร้างโค้งเรียกว่าฮิปโปแคมปัสและส่วนใกล้เคียงที่ร่วมกัน ปฏิบัติภารกิจอัศจรรย์ในการเปลี่ยนการรับรู้ของเราไปเป็นความทรงจำระยะยาว ความทรงจำไม่ได้เก็บไว้ในฮิปโปแคมปัส แต่อยู่ในรอยหยักของสมองชั้นนอก หรือนีโอคอร์เทกซ์ แต่ฮิปโปแคมปัสเป็นส่วนของสมองที่ทำให้ความทรงจำคงอยู่ ฮิปโปแคมปัสของอีพีถูกทำลาย และเมื่อไม่มีฮิปโปแคมปัส เขาก็เหมือนกล้องยันทึกภาพวิดีโอไร้หัวอัด นั่นคือมองไม่เห็น แต่จำไม่ได้ ภาวะสูญเสียความจำของอีพีมี 2 แบบคือ แบบเคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งหมายความว่าเขาสร้างความทรงจำใหม่ขึ้นไม่ได้ และแบบย้อนหลัง นั่นคือเขาจำเรื่องเก่าๆไม่ได้เช่นกัน อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา

เขาจำชีวิตวัยเด็กและการเป็นลูกเรือสินค้าสมัยสงครามโลกครั้งที่สองได้ชัด แต่เท่าที่เขาจำได้ น้ำมันราคาลิตรละ 25 เซนต์ และมนุษย์ยังไม่เคยไปดวงจันทร์ เอเจ และอีพีนั้นอยู่คนละขั้วของความทรงจำมนุษย์ และอาการของพวกเขาก็ทำให้เราเข้าใจได้ดีกว่าการตรวจสมองใดๆว่า ความทรงจำอาจส่งผลต่อเราอย่างไรได้บ้าง ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะอยู่ตรงไหนสักแห่งระหว่างขั้วความทรงจำทั้งสอง นั่นคือการจำได้ทุกอย่างหรือจำอะไรไม่ได้เลย แต่เราต่างมีประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมอย่างเอเจ และเผชิญชะตากรรมที่น่ากลัวอย่างอีพีด้วยกันทั้งนั้น

ก้อนเนื้อยับย่นน้ำหนักราว 1.3 กิโลกรัมที่อยู่ตอนบนของกระดูกสันหลังสามารถเก็บรายละเอียดที่เล็กน้อยที่ สุดเกี่ยวกับประสบการณ์วัยเด็กไว้ได้ชั่วชีวิต แต่กลับไม่อาจจำหมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญที่สุดไว้แค่สองนาทีได้ ความทรงจำแปลกเช่นนี้เอง ความทรงจำคืออะไร สิ่งที่นักประสาทวิทยาศาสตร์บอกได้ดีที่สุดในตอนนี้ก็คือ ความทรงจำคือรูปแบบของการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ประสาทในสมองที่ถูกบันทึกไว้

สมองของคนทั่วไปมีเซลล์ประสาทอยู่ราว 100,000 ล้านเซลล์ แต่ละเซลล์สามารถเชื่อมต่อกับเซลล์ประสาทอื่นๆได้อีก 5,000 ถึง 10,000 จุด ซึ่งทำให้มนุษย์มีจุดประสานประสาททั้งหมดประมาณ 500 ถึง 1,000 ล้านล้านจุด เป็นจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับห้องสมุดรัฐสภาที่มีข้อมูลสิ่งพิมพ์ทั้งหมด เพียง 32 ล้านล้านไบต์ ทุกๆความรู้สึกที่เราจดจำได้และทุกความคิดคำนึงของเราจะเปลี่ยนแปลงการ เชื่อมต่อภายในเครือข่ายอันมหาศาลนี้ จุดประสานประสาทอาจแข็งแรงขึ้น อ่อนแอลง หรือก่อตัวขึ้นใหม่ได้ สภาวะทางกายภาพของเรามีการเปลี่ยนแปลงไป อันที่จริงมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแม้ขณะที่เราหลับ

พฤศจิกายน 2550