ผู้เขียน หัวข้อ: เล็งพัฒนา รพ.-คลินิกให้เป็น One Stop service สำหรับต่างชาติ  (อ่าน 902 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
       สธ.จัดยุทธศาสตร์ 5 ปี พัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ พ.ศ.2555-2559 บริการ 4 สาขาหลัก ทั้งรักษาพยาบาล สปา แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก และผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย เดินเครื่องพัฒนาโรงพยาบาล คลินิกทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ บริการครบสูตร ทั้งล่าม บริการต่อวีซ่า เผย ขณะนี้มีแล้ว 21 แห่ง จะอบรมเพิ่มในเดือนนี้อีก ขณะเดียวกัน ได้ขยายเวลาพำนักรักษาตัวให้ผู้ป่วยจาก 5 ประเทศกลุ่มอาหรับ พักในไทยได้ 90 วัน และต่ออายุได้ไม่เกิน 1 ปี
       
       นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชียและนานาชาติ หรือ เมดิคัล ฮับ (Medical Hub) เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ แนวคิดหลักของนโยบายนี้ คือ เน้นในการพัฒนาและส่งเสริมการจัดบริการสุขภาพแบบนานาชาติ (Medical Hub and Wellness) พัฒนาระบบโลจิสติกส์ ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานระดับสากล และส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และการตลาด ดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาที่ได้เริ่มช่วงแรกมาตั้งแต่ พ.ศ.2547 เป็นต้นมา ที่มี 3 บริการหลัก คือ 1.รักษาพยาบาล 2.การส่งเสริมสุขภาพ และ 3.ผลิตภัณฑ์สุขภาพและสมุนไพรไทย ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย สร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจสุขภาพ และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ล่าสุด ในปี 2554 มีรายได้ประมาณ 97,874 ล้านบาท มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย และรับบริการด้านสุขภาพเป็นจำนวนมากถึง 2.2 ล้านคน

   

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
       นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาช่วงที่ 2 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพของนานาชาติในปี 2555-2559 โดยให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อเป็นกรอบในการกำหนดรูปแบบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์บริการสุขภาพทั่วประเทศ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอีกด้านหนึ่งด้วย โดยมีเป้าหมายหลัก 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การรักษาพยาบาล เช่น ทันตกรรม การรักษาโรคเฉพาะทาง การพำนักระยะยาว 2.การส่งเสริมสุขภาพ เช่น สปา นวดเพื่อสุขภาพ 3.ผลิตภัณฑ์สุขภาพและสมุนไพรไทยให้ได้มาตรฐาน จีเอซีพี (GACP) ขององค์การอนามัยโลก และ 4.การเพิ่มผลผลิตด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ส่งเสริมให้จัดตั้งโรงพยาบาลแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์ทางเลือกทุกภูมิภาค ให้โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนเปิดคลินิกแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาล ทั้งหมดนี้จะไม่ให้เกิดผลกระทบกับการบริการสุขภาพโดยรวมของคนไทย
       
       ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ขยายเวลาพำนักของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย จากเดิม 30 วัน เป็น 90 วัน โดยไม่ต้องทำวีซ่า และสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้หลายครั้ง รวมกันแล้วไม่เกิน 1 ปี ในขั้นต้นอนุโลมให้ 5 ประเทศในกลุ่มอาหรับ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ รัฐกาตาร์ รัฐคูเวต รัฐสุลต่านโอมาน และรัฐบาห์เรน ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป
       
       ขณะเดียวกัน จะพัฒนาโรงพยาบาลและคลินิกของไทยให้ได้มาตรฐาน ระดับนานาชาติ หรือมาตรฐาน เจซีไอเอ (JCIA: Joint Commission International on Accrediation) ซึ่งจะเป็นศูนย์บริการเฉพาะชาวต่างชาติที่เดียวเบ็ดเสร็จครบวงจร (One Stop service Center) มีล่าม มีหอผู้ป่วย บริการต่ออายุวีซ่า หรือบริการตามหลักศาสนาทั้งอาหารและบุคลากร
       
       ปัจจุบันมีโรงพยาบาลและคลินิกของไทย ได้รับการรับรองมาตรฐาน จำนวน 21 แห่ง ซึ่งจะมีการจัดอบรมเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ โดยเน้นการดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก รวมทั้งตรวจรับรองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทุกประเภทให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อก้าวสู่การรับรองคุณภาพในระดับสากล เตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนด้านสุขภาพของประชาคมอาเซียนในอนาคต ซึ่งจะทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในเวทีโลกด้านบริการสุขภาพอย่างแท้จริง
       
       นายวิทยา กล่าวด้วยว่า แผนพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของนานาชาติในปี 2555-2559 ใช้งบประมาณในการดำเนินงานประมาณ 3,131 ล้านบาท และคาดว่า จะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศรวม 5 ปี ประมาณ 814,266 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี โดยด้านการรักษาพยาบาล คาดว่า จะสร้างรายได้ 672,236 ล้านบาท ด้านการส่งเสริมสุขภาพ 85,669 ล้านบาท ด้านแพทย์แผนไทยฯ 3,868 ล้านบาท ด้านสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สุขภาพ 52,493 ล้านบาท