ผู้เขียน หัวข้อ: แฉกลุ่มหมอ-NGOหวังฮุบเงินกองทุนคุ้มครองฯ  (อ่าน 1624 ครั้ง)

Meem

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2576
    • ดูรายละเอียด
สหพันธ์แพทย์ฯ แฉกลุ่มหมอเอ็นจีโอ หวังฮุบเงินกองทุนคุ้มครองฯ ร่วมหมื่นล้าน อัดถลุงเงินสสส.-สปสช.นับแสนล้านยังไม่หนำใจ จี้กมธ.ยุติธรรมสภาฯสอบ

รัฐสภา -พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายฐนโรจน์ โรจนกุลเสฏฐ์ ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ถอนร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... ที่อยู่ในระเบียบวาระของสภาฯ เพื่อเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนทั่วไปและจัดทำประชาพิจารณ์ และนำมาปรับปรุงแก้ไขให้เป็นที่ยอมรับของผู้ที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบ เสียก่อน

เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อระบบการแพทย์ การสาธารณสุข และระบบการเงินการคลังของประเทศ นอกจากนี้ยังมีหลายมาตราที่มีความขัดแย้งกันเอง ขอให้ตรวจสอบรัฐบาลที่เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ว่าเกิดจากการกดดันของกลุ่ม บุคคลใดหรือไม่ รวมไปถึงกลุ่มเอ็นจีโอ ทั้งกลุ่มมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สสส. สปสช. และสช. ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการเคลื่อนไหวผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะหากผลักดันสำเร็จจะมีเงินงบประมาณจำนวนมากกว่าหมื่นล้านบาท ไหลเข้าสู่มูลนิธิและเอ็นจีโอเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้รัฐเสียหาย

ด้านพญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล รองประธานสหพันธ์ฯ กล่าวว่า การผลักดันร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวโดยกลุ่มหมอเอ็นจีโออย่างออกนอกหน้าถือว่ามีเงื่อนงำ ไม่เป็นไปโดยสุจริตโปร่งใส ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้ไม่มีความจำเป็นเลย เพราะมีพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งหากปรับแก้ในมาตรา 41 ก็สามารถใช้กองทุนสปสช. กองทุนสสส. ดูแลความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนได้แล้ว แต่กลับเคลื่อนไหวเพื่อออกกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อหวังจะให้มีการตั้งกองทุนขนาดใหญ่ขึ้นมาด้วยงบประมาณมหาศาล จะได้เอาคนของตัวเองไปอยู่ในคณะกรรมการกองทุน

ทั้งที่ตอนนี้สปสช. และสสส.มีเงินกองทุนถึง 120,000-130,000 ล้านบาท ได้รับงบประมาณปีละไม่น้อยกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ และมีงบประมาณสำหรับคุ้มครองความเสียหายปีละ 1,200 ล้านบาท แต่กลับมีการจ่ายชดเชยให้ผู้เสียหายแค่ปีละ 50-100 ล้านบาท แล้วเงินที่เหลือไปอยู่ที่ไหน ขณะนี้กำลังให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจสอบอยู่ เพราะทราบมาว่ามีการให้พรรคพวกของผู้บริหารกองทุน ตั้งโครงการขึ้นมาเพื่อจัดสรรงบให้โครงการละ 5-10 ล้านบาท แต่หากไม่ใช่พรรคพวกตัวเองก็ไม่ได้ ตรงนี้มีความโปร่งใสแค่ไหน

ขณะที่นายฐนโรจน์ กล่าวว่า ไม่ต้องเป็นกังวลกับเรื่องการพิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสีย หายจากการรับบริการสาธารณสุข แม้จะจ่อเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาฯแล้วก็ตาม แต่ถ้ามีข้อความที่จะเป็นปัญหาก็ต้องถูกตัดออก การเสนอร่างพ.ร.บ.ฯของฝ่ายบริหารเข้ามา ถือเป็นการโยนหินถามทาง รับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆก่อน ซึ่งตนจะนำเรื่องร้องเรียนนี้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯต่อไป ส่วนตัวยังคิดว่าคงมีการถอนร่างออกมาเพื่อนำมาปรับปรุงให้เกิดความรอบคอบยิ่งขึ้น

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 1 กันยายน 2553