ผู้เขียน หัวข้อ: โรคเสพติดกับงาน  (อ่าน 958 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
โรคเสพติดกับงาน
« เมื่อ: 31 กรกฎาคม 2012, 21:06:07 »
ในอดีตเราแยกระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวกันไว้ค่อนข้างชัดเจน แต่ดูเหมือนว่าในปัจจุบันเราจะพบว่าเป็นไปได้ยากที่จะแยกงานและชีวิตส่วนตัวออกจากกัน
คนทำงานจำนวนมากที่ต้องทำงาน (ไม่ว่าในที่ทำงานหรือที่บ้าน) จนถึงดึกดื่น ต้องทำงานในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ต้องพลาดกิจกรรมสำคัญของคนในครอบครัวเพราะงาน คุยกันแต่เรื่องงานในช่วงเวลาพักผ่อน ต้องถูกโทรศัพท์หรืออีเมลตามเรื่องงานในช่วงกลางคืนหรือวันสุดสัปดาห์ ฯลฯ 
จากการที่งานได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราเกือบตลอดเวลา ทำให้หลายคนเป็นโรค “เสพติดกับงาน” หรือที่ต่างประเทศเรียกว่า Work Addiction Syndrome ซึ่งโรคนี้สามารถเกิดขึ้นกับทุกคนครับ ไม่แบ่งชั้นวรรณะ สติปัญญา หรือ ความสามารถ อาการเสพติดกับงานนั้นก็เหมือนกับการเสพติดกับสิ่งเสพติด สุรา หรือกาแฟครับ ที่ต้องใช้สุรา หรือกาแฟในการบำบัดอาการอยากของตนเอง ซึ่งพวกเสพติดกับงานก็จะใช้งานมาบำบัดอาการของตนเองเช่นเดียวกัน ผู้เสพติดกับงานบางคนมีความสุขที่จะได้ทำงานอยู่ตลอดเวลา รู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องทำงานให้สำเร็จ หรือมีความรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถที่จะหยุดทำงานได้
 
ผู้ที่ “เสพติดกับงาน” กับผู้ที่ทำงานหนักนั้นมีความแตกต่างกันนะครับ ผู้ที่ทำงานหนัก อาจจะทำงานมากกว่าผู้อื่น ทำงานในช่วงวันหยุด (ถ้าจำเป็น) แต่คนทำงานหนักจะสามารถกำหนดขอบเขตหรือข้อจำกัดในการทำงานของตนเองได้อย่างชัดเจน เช่น บางคนถึงจะทำงานหนักแค่ไหน แต่ก็จะต้องกลับไปรับประทานข้าวเย็นกับครอบครัวสม่ำเสมอ หรือทุกปีจะกำหนดวันพักร้อนไว้ล่วงหน้าและเปลี่ยนตารางการทำงานของตนเองให้ตรงกับวันพักร้อน หรือจะไม่พลาดกิจกรรมหรือเหตุการณ์สำคัญของลูกๆ เป็นต้น เรียกได้ว่าผู้ที่ทำงานหนักนั้นสามารถจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำในชีวิตได้ดีกว่าผู้ที่เสพติดกับงาน และที่สำคัญ คือ มีความสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวกับชีวิตส่วนตัวมากกว่าผู้ที่เสพติดกับงาน ครับ
 
ผลของการเสพติดกับงานนั้น ถ้าในเชิงการทำงานแล้วอาจจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้ท่านเจริญก้าวหน้าในการทำงาน ประสบความสำเร็จ ได้รับคำชื่นชม แถมองค์กรต่างๆ ในปัจจุบันก็ดูเหมือนจะยิ่งสนับสนุนให้คนในองค์กรเป็นโรคเสพติดในการทำงานกันมากยิ่งขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้นผู้ที่เป็นโรคเสพติดกับงานก็อาจจะถูกมองด้วยสายตาที่สงสารจากเพื่อนร่วมงานก็ได้ เนื่องจากคนเหล่านี้ทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างหนักจนลืมมองอีกด้านหนึ่งของชีวิต นั่นคือ ในด้านของชีวิตครอบครัวและส่วนตัว ผู้ที่เป็นโรคเสพติดกับงานจะไม่มีความสุขในระยะยาว เพราะต้องอย่าลืมว่าชีวิตการทำงานของเรานั้นย่อมมีที่สิ้นสุด ไม่ว่าจะมาจากสังขารหรือกฎของสังคม และถ้าเราไม่ได้ทำชีวิตในอีกด้านที่ไม่ใช่งานไว้เตรียมรองรับ ชีวิตช่วงหลังจากการทำงานจะทำอย่างไร ที่สำคัญ เมื่อเราใกล้ตายนั้นผู้ที่จะอยู่ข้างๆ เตียงเราไม่ใช่เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้องนะครับ จะเป็นคนในครอบครัว ญาติ เพื่อนฝูง มากกว่า
 
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่มาสนับสนุนให้ท่านผู้อ่านอู้หรือไม่ทำงานนะครับ อยากเห็นคนไทยทุกคนเป็นคนที่ทำงานหนัก ที่รู้จักและสามารถที่จะแบ่งเวลาระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวได้เป็นอย่างดี การเป็นผู้ทำงานหนักนั้นจะต้องรู้จักเลือกและปล่อยวางบ้าง ไม่ใช่กระโจนลงไปทำทุกอย่างที่ขวางหน้า หรือไม่สามารถปล่อยวางหรือมอบหมายงานบางอย่างให้ผู้อื่นทำได้ ที่สำคัญ คือ การทำงานหนักนั้น หมายถึง จะต้องทั้งทำงานหนักแต่ต้องสามารถเลือกและกำหนดขอบเขตระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวให้ชัดเจน
 
ถ้าท่านผู้อ่านอยากทราบว่าตนเองเป็นโรคเสพติดกับงานหรือไม่ ก็ลองตอบคำถามง่ายๆ เหล่านี้ดูนะครับ เช่น สัดส่วนระหว่างเวลาที่ท่านให้กับงาน ครอบครัว สังคม และชีวิตส่วนตัวเป็นอย่างไร หรือตารางการทำงานของท่านส่งผลต่อชีวิตครอบครัวและสังคมของท่านหรือไม่ หรือท่านรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมการกำหนดตารางชีวิตของท่านเองได้ ต้องปล่อยให้งานเป็นผู้กำหนด หรือท่านเคยผิดสัญญากับตัวเอง ครอบครัว หรือเพื่อน เนื่องจากงานหรือไม่ หรือท่านมีปัญหากับการปล่อยวางหรือมอบหมายงานหรือไม่
 
สุดท้ายขอฝากหลักสูตรของอบรมของคณะ เรื่อง Strategy Bootcamp ไว้ด้วยนะครับ เป็นการอบรมในด้านกลยุทธ์อย่างเข้มข้นเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2218-5764 หรือ cbsedu.acc.chula.ac.th/executive นะครับ



ดร.พสุ เดชะรินทร์
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มองมุมใหม่"