ผู้เขียน หัวข้อ: คนกรุงนำยาความดัน-เบาหวาน แลกไข่ อื้อ  (อ่าน 1004 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
       “ไข่แลกยา กทม.” เฉพาะจุดแลกใน รพ.ได้ยาคืนกว่า 1 ล้านเม็ด พบยากลุ่มความดัน-เบาหวานเยอะสุด ยันทำลายทั้งหมดไม่นำกลับมาใช้ใหม่ แนะคนกรุงอย่าสต็อกยาและใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ ชี้ ทำเชื้อดื้อยา
       
       วันนี้ (30 ก.ค.) พญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงผลสรุปโครงการไข่ใหม่แลกยาเก่าในพื้นที่ กทม.ซึ่งเปิดให้ประชาชนนำยาแผนปัจจุบันที่ไม่ได้ใช้แล้วมาคืนที่ 33 จุดรับคืนในโรงพยาบาลและสถาบันสังกัด สธ.10 แห่ง รวมถึงชุมชน ห้างสรรพสินค้า สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เมื่อวันที่ 23-27 ก.ค. ว่า จุดรับแลกยาเก่าในโรงพยาบาลและสถาบันสังกัด สธ.10 แห่ง แบ่งเป็นสังกัดกรมการแพทย์ 8 แห่ง คือ รพ.เลิดสิน รพ.สงฆ์ รพ.ราชวิถี รพ.นพรัตนราชธานี รพ.สถาบันประสาทวิทยา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันโรคผิวหนัง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และกรมสุขภาพจิต 2 แห่ง คือ สถาบันสุขภาพจิตสมเด็จเจ้าพระยา และสถาบันราชานุ
       กูล มีประชาชนนำยาเก่ามาแลกไข่ใหม่ จำนวน 78,584 ราย รวมยา 1,187,534 เม็ด ในจำนวนนี้เป็นยาที่หมดอายุแล้ว 56% ยาที่น่าจะยังไม่หมดอายุ 44% เมื่อวิเคราะห์กลุ่มยาที่ได้รับคืนมากที่สุดเป็นยารักษาความดันโลหิตสูง ยาเบาหวาน วิตามิน และยาแก้ปวด ตามลำดับ
       
       “ยาที่ได้รับคืนทั้งหมด สธ.จะนำไปทำลาย ไม่มีการนำกลับมาเวียนใช้ใหม่แม้เป็นยาที่ยังไม่หมดอายุ เพราะฉลากระบุยังไม่หมดอายุ แต่ในการเก็บรักษายาของประชาชนอาจทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้ เช่น ตากแดด หรือเก็บในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม ส่วนการที่ประชาชนมียาเหลืออยู่ในบ้านอาจเนื่องมาจากหลายปัจจัย อาทิ ลืมกินยาในบางมื้อ ไม่ได้นำยาเก่ามาพบแพทย์เมื่อแพทย์นัด และขอเบิกยาใหม่ เพราะลืมไม่รู้เก็บยาไว้ที่ไหน และแพทย์สั่งเปลี่ยนยาจากการที่อาการผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้รับคืนยาเก่าที่ยังไม่หมดจากผู้ป่วย จึงทำให้ยาเก่าเหลือจนหมดอายุ ทั้งนี้ ยาเก่าที่เหลือติดบ้านของคนในพื้นที่ กทม.อาจจะไม่มากเท่าในพื้นที่ต่างจังหวัด เพราะหาซื้อยาและไปโรงพยาบาลได้สะดวก ไม่จำเป็นต้องสต๊อกยา” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
       
       พญ.วิลาวัณย์ กล่าวอีกว่า ข้อแนะนำในการใช้ยา คือ 1.หากเป็นยาสามัญประจำบ้านจะต้องมีเก็บติดบ้านไว้ แต่จำนวนต้องไม่มากเกินไป 2.การซื้อยามารับประทานเองจะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม และ 3.กลุ่มยาปฏิชีวนะควรใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากไม่เพียงแค่เสียยาเท่านั้น แต่ยังเสียคุณภาพยาในการรักษาโดยรวมจากการที่เชื้อดื้อยา จนต้องหายาใหม่มารักษาโรคเก่าด้วย เช่น วัณโรคที่มีการดื้อยามากขึ้น จากการที่ผู้ป่วยรับยาแล้วกินไม่หมด กลายเป็นภาวะเชื้อดื้อยารุนแรงอย่างปัจจุบัน