ผู้เขียน หัวข้อ: จักษุแพทย์ ชี้ แท็บเล็ต มือถือทำเด็กไทยเสี่ยงป่วย โรค “คอมพิวเตอร์ วิชัน ซินโดรม”  (อ่าน 1526 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด

       จักษุแพทย์ ชี้ เด็กไทยเสี่ยงเป็นโรค “คอมพิวเตอร์ วิชัน ซินโดรม” มากขึ้น เหตุใช้เพ่งจอคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บเล็ต บ่อย ส่งผลเด็กวัย 10-15 ปี มีปัญหาสายตาสั้นมากสุด แนะปรับความสว่างให้พอดี ไม่ใช้สีพื้นหน้าจอเข้มตัวหนังสือสีขาว และจอควรอยู่ห่างสายตา 1-2 ฟุต ส่วนเด็กที่มีปัญหาสายตา ไม่ควรเล่นเกินวันละ 1 ชั่วโมง
       
       นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี ให้สัมภาษณ์ว่า มีความเป็นห่วงสุขภาพเด็กไทยในโลกยุคดิจิตอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ใช้สื่ออินเทอร์เน็ต เพราะสามารถเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้จากทุกมุมโลก และมีพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ มือถือ หรือ แท็บเล็ต เป็นเวลานาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย คือ กล้ามเนื้อหลัง ไหล่ คอตึง ทำให้มีอาการปวดหลัง ปวดคอ และปวดศีรษะ นอกจากนี้ ยังส่งปัญหาด้านสังคม คือ พฤติกรรมของเด็กที่จะไม่มีใครสบตากับใคร เพราะต่างคนต่างอยู่ในโลกส่วนตัว จะหยิบโทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ตขึ้นมานั่งเล่นโดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ขาดการสื่อสารกับคนในครอบครัวและคนรอบข้าง รวมถึงความก้าวร้าว หุนหันพลันแล่น รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากการเล่นเกมเพราะต้องการเอาชนะให้ได้
       
       นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าวอีกว่า การใช้โลกส่วนตัวอยู่บนหน้าจอต่างๆ จะทำให้มีผลกระทบต่อสายตาโดยตรง เรียกว่า โรคคอมพิวเตอร์ วิชัน ซินโดรม (Computer Vision Syndrome) และมีผลต่อทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในวัยเด็กจะมีปัญหาสายตาสั้นเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากใช้ไม่ถูกวิธี เด็กมักจะก้มดูหน้าจอใกล้มากระยะห่างประมาณครึ่งฟุต โดยเฉพาะหากเป็นโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากจอมีขนาดเล็กมาก จึงต้องมองในระยะใกล้ๆ เพื่อให้เห็นตัวหนังสือหรือภาพชัดเจนขึ้น ต้องใช้กล้ามเนื้อรอบดวงตาและประสาทตาในลักษณะเพ่งจอตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการดวงตาตึงเครียด ตาล้า ตาช้ำ ตาแดง แสบตา มองภาพได้ไม่ชัดเจน และมักจะเกิดอาการปวดศีรษะตามมา ซึ่งเป็นปัญหาที่ได้รับการปรึกษาจากผู้ปกครองอยู่บ่อยๆ ข้อมูลล่าสุดนี้พบว่าเด็กอายุ 10-15 ปี เป็นกลุ่มที่มีปัญหาสายตาสั้นมากที่สุด


นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ

       “ในประเทศที่มีการใช้คอมพิวเตอร์มากๆ เด็กจะมีสายตาสั้นในอัตราที่เพิ่มขึ้น จากการใช้แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์มาก การปรับระดับ ระยะห่างของจอภาพไม่เหมาะสมกับสายตา หรือวางเมาส์ไม่ได้ระดับกับแขน ความสว่างของแสงไฟ การนั่งเล่นเป็นระยะเวลานาน และมีโอกาสสายตาสั้นเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 30 เกิดปัญหาในการเรียน มองไม่เห็นกระดานเรียนหน้าชั้นตามมา ส่งผลต่อการทำงานบางอาชีพที่ต้องใช้สายตาในอนาคต เช่นนักบิน ตำรวจ ทหาร” นพ.ฐานปนวงศ์ กล่าว
       
       นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าวต่อไปว่า การใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ตอย่างถูกวิธี มีข้อแนะนำ ดังนี้ กรณีที่เป็นผู้ที่มีปัญหาทางด้านสายตา หรือมีสายตาผิดปกติอยู่แล้ว ควรเล่นไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง ไม่ควรเล่นในห้องมืดๆ ควรปรับความสว่างให้มีความพอดีเท่ากับความสว่างของห้อง แสงไฟไม่ควรส่องจากด้านหลังเข้าหาจอ ปรับความคมชัดของจอคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับ 70-80 เฮิรตซ์ หรือสูงสุดเท่าที่ยังรู้สึกว่าสบายตา การเลือกตัวหนังสือควรใช้ตัวหนังสือสีดำบนพื้นสีขาวเพื่อให้เห็นชัดเจน ไม่แนะนำให้ใช้พื้นสีเข้ม ตัวหนังสือสีขาว หรือสีอ่อน เพราะจะทำให้ต้องใช้สายตาเพ่งตัวหนังสือมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว บางคนต้องหรี่ตา เพื่อลดแสงเข้าตา หากเป็นจอคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ควรใช้แผ่นกรองแสงและดูแลทำความสะอาดหน้าจอไม่ให้มีฝุ่นเกาะติด เพื่อให้มองเห็นชัดเจน และควรนั่งเล่นในท่าที่ถูกต้อง คือ เหมือนนั่งอ่านหนังสือ ให้ระยะห่างของสายตากับแท็บเล็ตหรือโทรศัพท์มือถือควรอยู่ห่างกันประมาณ 1-2 ฟุต
       
       ทั้งนี้ ผลการสำรวจการใช้โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ในครัวเรือน ของสำนักงานสถิติ แห่งชาติล่าสุดใน พ.ศ.2554 ในกลุ่ม ประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป ที่มีจำนวน 62.4 ล้านคน โดยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั้งหมด 41.1 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 66.4 ของประชากร รองลงมาคือใช้คอมพิวเตอร์ 19.9 ล้านคน และใช้อินเตอร์เน็ต 14.8 ล้านคน เฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปีมีสัดส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตสูงกว่ากลุ่มอื่นร้อยละ 51.9 รองลงมา คือ อายุ 6-14 ปี ใช้ร้อยละ 38.3 กลุ่มอายุ 25-34 ปี ใช้ร้อยละ 26.6 กลุ่มอายุ 35-49 ปี ใช้ร้อยละ 14.3 และกลุ่มอายุ 50 ปีใช้น้อยสุดร้อยละ 5.5