ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อจะเป็นรัฐสวัสดิการ-รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ  (อ่าน 2371 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด

  ...
อุปสรรคการเป็นรัฐสวัสดิการ

นายกรัฐมนตรีมีเจตนาอย่างแรงกล้า ที่จะทำให้ประเทศเป็นรัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี

แต่มีปัจจัยที่ทำให้ความคิดของนายกรัฐมนตรีเปรียบเสมือนเข็นครกขึ้นภูเขา

เจตนารมย์ดังกล่าวจะสัมฤทธิ์ผล ต่อเมื่อสามารถกำจัดอุปสรรคนานาประการที่จะทำให้ความฝันของนายกรัฐมนตรีเป็นความจริง การสร้างสังคมให้เป็นรัฐสวัสดิการนั้นจะต้องมีทรัพยากรเกื้อหนุนอย่างเพียงพอ

เพราะสังคมดังกล่าวดำเนินนโยบายที่ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่าเป็นนโยบาย
"เฉลี่ยสุข" คือ นโยบาย "คนรวยช่วยคนจน"

แต่การช่วยในที่นี้ มิได้หมายความว่า จะให้คนที่ร่ำรวยบริจาคทรัพย์ของตนให้แก่คนจน แต่เป็นเรื่องที่คนรวยมีหน้าที่ช่วย โดยผ่านระบบการเสียภาษีเงินได้ตามรายได้ที่รัฐกำหนด และการเสียภาษีเงินได้ จะต้องจัดเป็นระบบภาษีก้าวหน้า ดังเช่น ประเทศอังกฤษและประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย

แต่สำหรับประเทศไทยการเก็บภาษีก้าวหน้าอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะสร้างรัฐสวัสดิการได้ เพราะความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของสังคมไทยในเรื่องเศรษฐกิจ เกิดจากความไม่เป็นธรรมในสังคม ได้แก่ การฉ้อราษฎรบังหลวง ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากมายในปัจจุบัน

ทั้งนี้เพราะสาเหตุประการหนึ่งก็คือ การไม่สนใจของประชาชน ถือคติว่า "ธุระไม่ใช่"ก็ดี การบังคับใช้กฎหมายตามอำเภอใจของผู้รักษากฎหมาย ความเคยชินในการช่วยเหลือแบบให้เปล่า หรือประชานิยมซึ่งขัดกับแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ

เพราะหลักสวัสดิการสังคมนั้น คือ การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้ช่วยตัวเองได้ คือ การทำให้ผู้อ่อนแอยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองให้ได้

ประเทศที่ใช้นโยบายรัฐสวัสดิการ ผู้เสียภาษีทางตรงด้วยเป็นหน้าที่คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน จะต้องแบกภาระภาษีหนักที่สุด ส่วนพวกก่อนวัยทำงานและหลังวัยทำงานจะเป็นผู้ได้รับอานิสงค์

ครั้นกลับมาดูประเทศไทยจากสถิติปรากฎว่า ประชาชนเพียง 2.3 ล้านคนเท่านั้นที่เสียภาษีเงินได้เพื่อแบกภาระแทนประชาชน 64 ล้านคน ในขณะเดียวกันประชาชน จำนวน 9 ล้านคน ยังได้สิทธิขอภาษีคืนจากรัฐ รวมทั้งผู้มีรายได้น้อยกว่าเดือนละ 2 หมื่นบาท ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้อีก

จากสถิติดังกล่าวทำให้ประชาชนจำนวน 2.3 ล้านคนต้องแบกภาระแทนคนทั้งประเทศ และจากสถิติจะเห็นว่า คนจำนวนมากไม่เสียภาษีเงินได้

ซึ่งในจำนวนนี้อาจอนุมานได้ว่ามีผู้มีรายได้มาก ๆ กลุ่มหนึ่งไม่เคยเสียภาษีเงินได้เลย ทั้งๆ ที่มีรายได้ที่ไม่ปรากฎเป็นจำนวนมาก แต่รู้จักการหลบเลี่ยงการเสียภาษี

ฉะนั้นจากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า ความหวังที่จะให้ประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการนั้น ยังไกลเกินเอื้อม เว้นเต่ต้องปฏิวัติใหญ่ในระบบภาษีของไทย รวมทั้งกำจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวงของผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งปลุกประชาชนให้ร่วมต่อต้านผู้หลีกเลี่ยงภาษี และคนขี้โกง

เมื่อถึงวันนั้นความฝันของนายกรัฐมนตรีจะเป็นความจริง

รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ วันที่ 26/8/2010 (แนวหน้า)

.........................................................................................

เมื่อจะเป็นรัฐสวัสดิการ ต้องปราบการฉ้อราษฎร์บังหลวงก่อน

การดูแลตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย เป็นหลักการสำคัญของนโยบายรัฐสวัสดิการ แต่รัฐสวัสดิการไม่ใช่ "ประชานิยม"

 ยิ่งไปกว่านั้น แนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการนั้นต่อต้านหลักประชานิยม เพราะนโยบายของรัฐสวัสดิการ ได้แก่ การช่วยคนที่ด้อยโอกาสให้ช่วยตัวเองได้ หลักรัฐสวัสดิการจึงต่อต้านการให้ "ทาน" หรือการให้เปล่า แต่เป็นการให้เพื่อทำให้ผู้รับสามารถช่วยตัวเองได้

 การให้ในรูปของรัฐสวัสดิการ ที่ประชาชนทุกคนจะได้รับโดยไม่มีเงื่อนไข ได้แก่ เมื่อเกิดมารัฐจะให้เงินจำนวนหนึ่ง ยามเจ็บป่วยจะได้รับการดูแลรักษาจากรัฐ การศึกษาที่ทุกคนจะได้รับ (ยกเว้นการศึกษาระดับสูง) และยามชราเมื่อถึงวันที่รัฐกำหนดไว้ การว่างงานก็เช่นกันจะได้รับการอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนด นอกจากนี้ในบางกรณี เช่น พิการ หรือกรณีที่มีความจำเป็นจะได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษจากรัฐ เมื่อพิสูจน์ว่าอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด

 อย่างไรก็ดี การที่ประเทศใดสามารถจะมีนโยบายเป็นรัฐสวัสดิการได้นั้น จำเป็นต้องมีการจัดระเบียบวินัยของคนในชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในรัฐสวัสดิการมีมากมาย เพราะฉะนั้นวิธีการให้ได้มาซึ่งรายได้ จำเป็นต้องวางระบบที่ "คนรวยช่วยคนจน" หรือ คนที่อยู่ในวัยทำงานจะต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในสวัสดิการสังคม

 นั่นคือ บุคคลที่มีรายได้ จะต้องเสียภาษีมากขึ้นตามรายได้ แต่ในเวลาเดียวกันผู้ที่ไม่มีรายได้ เช่น เด็ก เยาวชน และคนชรา จะได้รับอานิสงฆ์โดยได้รับการดูแลจากรัฐ

ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลชุดนี้จะนำเอานโยบายรัฐสวัสดิการมาใช้กับประเทศไทย ถ้าทำได้จะก่อให้เกิดผลดี โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความยากจน แต่ในเวลาเดียวกันผู้ที่มีรายได้จะไม่พอใจเพราะจะต้องเสียภาษีสูงขึ้น และเป็นภาษีก้าวหน้า ซึ่งในประเทศที่ใช้นโยบายนี้ คนหนุ่มสาวที่อยู่ในวัยทำงานจะไม่ชอบ

 สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งสำหรับประเทศไทย คือ ความซื่อสัตย์ของประชาชนโดยเฉพาะในการเสียภาษี ต้องไม่มีการหลีกเลี่ยง แต่ในปัจจุบันยังมีการหนีภาษี โดยเฉพาะภาษีทางตรงที่มีการรั่วไหลอย่างมากมาย

 ฉะนั้น แม้ว่าความคิดเรื่องรัฐสวัสดิการจะเป็นสิ่งที่ดีและเหมาะสมอย่างยิ่งแก่สังคมไทย เพราะเป็นนโยบาย "เฉลี่ยสุข" ถ้าทำสำเร็จ สังคมไทยจะเป็นสังคมที่มีคนชั้นกลางทางเศรษฐกิจมาก คนรวยและคนจนจะมีน้อย

 แต่ในความเป็นจริงแล้วนโยบายนี้เปรียบเสมือน "เข็นครกขึ้นภูเขา" เพราะปัญหาการลูบหน้าปะจมูกของผู้มีอำนาจ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหา "ฉ้อราษฎรบังหลวง" ซึ่งจะเป็นตัวถ่วงสำคัญของ "นโยบายรัฐสวัสดิการ"

 ซึ่งการที่จะปราบการฉ้อราษฎร์บังหลวงให้สำเร็จได้ ต้องอาศัยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างสำคัญร่วมกับข้าราชการ (โดยเฉพาะหน่วยงานที่จัดเก็บรายได้กับหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบ) ที่ซื่อสัตย์จึงจะทำให้นโยบายนี้ประสบความสำเร็จ

รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ วันที่ 19/8/2010 (แนวหน้า)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 กันยายน 2010, 13:27:05 โดย pradit »