ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.ตั้งเป้าลดผู้ป่วยธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงรายใหม่ลงร้อยละ 50 เดลินิวส์  (อ่าน 1027 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
 วันนี้ (11 ก.ค.) ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาวิชาการธาลัสซีเมียแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ว่า โรคธาลัสซีเมียเป็นโรคโลหิตจางเรื้อรังทางพันธุกรรม พบได้ทั่วโลก แต่พบมากในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดจากความผิดปกติของยีน ที่ควบคุมการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าปกติ   ในไทยมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ป่วยเป็นโรคแล้ว คือมีปัญหาซีด เลือดจางเรื้อรังประมาณ 6 แสนราย หรือประมาณร้อยละ 1 ของประชากร ซึ่งต้องรักษาตลอดชีวิต และกลุ่มที่มียีนธาลัสซีเมียแอบแฝง เรียกว่าเป็นพาหะโรค คือไม่มีอาการป่วย ร่างกายปกติ สุขภาพแข็งแรง แต่สามารถถ่ายทอดความผิดปกติไปสู่ลูกได้ ซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้ที่เป็นพาหะโรคนี้มากถึงร้อยละ 40 ของประชากร หรือประมาณ 25 ล้านคน ถือว่าสูงมากและเป็นอันดับ 1 ของโลก หากไม่ควบคุมจำนวนผู้ป่วยก็จะเพิ่มมากขึ้น เด็กเกิดใหม่ที่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย เติบโตช้ากว่าปกติ ร่างกายอ่อนแอ ป่วยบ่อย ซึ่งในแต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่เป็นโรคธาลัสซีเมียเพิ่มขึ้น 12,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 2 คน รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลประมาณปีละ 5,000-6,000 ล้านบาท

นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า ในการป้องกันปัญหา กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทุกแห่งจัดระบบบริการป้องกัน ควบคุม และรักษาพยาบาลโรคธาลัสซีเมียที่ได้มาตรฐานให้บริการตรวจคัดกรองค้นหาคู่สมรสเสี่ยงมีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง โดยให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์และศูนย์อนามัยทุกแห่งทำหน้าที่เป็นศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมียของภูมิภาค ตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการได้ครบทุกขั้นตอนและมีมาตรฐาน และพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ                    

นอกจากนี้ได้รณรงค์เพื่อกระตุ้นให้หญิงตั้งครรภ์ควรตรวจเลือดเพื่อดูว่าเป็นพาหะโรคธาลัสซีเมียหรือไม่ หากพบว่าเป็นพาหะจะเรียกสามีมาตรวจ ถ้าพบว่าเป็นพาหะเช่นเดียวกัน อาจมีความเสี่ยงที่ลูกจะเกิดมาเป็นโรค ดังนั้นจำเป็นต้องตรวจทารกในครรภ์ว่าเป็นโรคนี้หรือไม่   ซึ่งหากคู่สมรสให้ความร่วมมือเชื่อว่าในแต่ละปีสามารถลดจำนวนเด็กเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงลงร้อยละ 50 หรือลดผู้ป่วยรายใหม่ได้ไม่น้อยกว่า 6,000 ราย ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ไม่น้อยกว่า 32,197 ล้านบาท

นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะที่มีภารกิจหลักในการวิเคราะห์ วิจัยทางห้องปฏิบัติการ  เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ ได้เริ่มมีบทบาทในการควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงของประเทศมาตั้งแต่ปี  2535 ครอบคลุมทั้งทางด้านการวิจัย การตรวจยืนยัน การพัฒนาระบบประกันคุณภาพทางห้องปฏิบัติการ การวิจัยและพัฒนาชุดทดสอบ DMSc alpha-thal 1 ซึ่งเป็นชุดทดสอบชุดแรกของโลกและเป็นต้นแบบชุดทดสอบของนักวิจัยทั้งภายในและต่างประเทศ การจัดทำคู่มือสื่อสิ่งพิมพ์เผยแพร่ความรู้ รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายการตรวจวินิจฉัยธาลัสซีเมีย ที่มีความน่าเชื่อถือ รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และครบวงจร

ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสัมมนาวิชาการธาลัสซีเมีย ครั้งที่ 18 ภายใต้หัวข้อ “คุณภาพ คุณธรรม คุณค่า”  ร่วมกับมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย นับเป็นโอกาสอันดีที่เครือข่ายห้องปฏิบัติการธาลัสซีเมียกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะได้รายงานผลการดำเนินงานตลอด 20 ปี รวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่ได้สนับสนุนการควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ.