ผู้เขียน หัวข้อ: แผนแม่บทการแก้ปัญหาและพัฒนาแรงงานสาธารณสุขชายแดน พ.ศ. 2555 — 2559  (อ่าน 1189 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
ข่าวเศรษฐกิจ มติคณะรัฐมนตรี -- พุธที่ 11 กรกฎาคม 2555 13:44:53 น.
คณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนแม่บทการแก้ปัญหาและพัฒนาแรงงานสาธารณสุขชายแดน พ.ศ. 2555 — 2559 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ


 
สาระสำคัญของแผนแม่บทการแก้ปัญหาและพัฒนาแรงงานสาธารณสุขชายแดน ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2555 — 2559) สรุปได้ดังนี้

1. กรอบแนวคิดในการจัดทำแผนแม่บทการแก้ปัญหาและพัฒนาแรงงานสาธารณสุขชายแดน ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2555 — 2559)

1.1 ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ข้อ 4 สุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

1.2 ความครอบคลุมของประชากรทุกกลุ่มที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนไทย ได้แก่ คนไทย คนไทยพลัดถิ่น ชนกลุ่มน้อย แรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย และผู้หนีภัยจากการสู้รบที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว

1.3 ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ข้อ 16 หลักประกันสุขภาพและความคุ้มครองให้เกิดสุขภาพจะต้องครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย โดยไม่มีการแบ่งแยกตามฐานะเศรษฐกิจ สังคม สภาพทางกาย ความพิการ เพศ อายุ ถิ่นที่อยู่ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ และอุดมการณ์ทางการเมือง

1.4 การกระจายอำนาจ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองท้องถิ่นในด้านสุขภาพ

1.5 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 มาตรา 52 วรรคสาม บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานแบบบูรณาการในจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดให้จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดยื่นคำขอจัดตั้งงบประมาณได้...” ดังนั้น จังหวัดสามารถนำยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทฯ ตั้งคำของบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานแก้ปัญหาและพัฒนางานสาธารณสุขชายแดนได้

1.6 การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เนื่องจากการดำเนินงานสาธารณสุขชายแดน โดย สธ. เพียงหน่วยงานเดียวไม่สามารถประสบความสำเร็จ เพราะปัญหาสาธารณสุขชายแดนมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐอื่น โดยเฉพาะปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพ นอกจากนี้พบว่า จังหวัดชายแดนมีองค์การระหว่างประเทศ และองค์กรเอกชนร่วมและ/หรือ สนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานสาธารณสุขในจังหวัดชายแดน

1.7 สถานการณ์และสภาพปัญหาสาธารณสุขชายแดนที่สำคัญ ได้แก่
- โรคติดต่อ เช่น โรคมาเลเรีย วัณโรค โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ ฯลฯ
- อนามัยวัยเจริญพันธุ์และอนามัยแม่และเด็ก รวมทั้งค่านิยมการมีบุตรมากของประชากรต่างด้าว ส่งผลต่ออัตราการเกิดของเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยสูงกว่าอัตราการเกิดของเด็กไทย

- ข้อจำกัดของระบบการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อการรักษาต่อระหว่างประเทศและพื้นที่พักพิงชั่วคราวในกรณีเกินศักยภาพของสถานบริการ

- การลักลอบนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยและผิดกฎหมาย
- ปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อระบบสุขภาพ เช่น ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดน ภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ และการเคลื่อนย้ายของแรงงานต่างด้าวที่ไม่เป็นระบบ

2. วิสัยทัศน์ ประชากรในพื้นที่ชายแดนมีสุขภาพดีถ้วนหน้า
3. พันธกิจ
3.1 พัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ
3.2 ส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน
3.3 เสริมสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคีและภาคส่วน
4. เป้าหมายพื้นที่ดำเนินการ
4.1 จังหวัดชายแดนไทย — พม่า จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และจังหวัดระนอง

4.2 จังหวัดชายแดนไทย — ลาว จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก หนองคาย บึงกาฬ เลย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี

4.3 จังหวัดชายแดนไทย — กัมพูชา จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี และจังหวัดตราด

4.4 จังหวัดชายแดนไทย — มาเลเซีย จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา นราธิวาส ยะลา และจังหวัดสตูล

5. ประเด็นยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาและพัฒนางานสาธารณสุขชายแดน ประกอบด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 กรกฎาคม 2555--จบ--