ผู้เขียน หัวข้อ: ระบบสาธารณสุขไทยชักจะเพี้ยนไปใหญ่แล้ว  (อ่าน 2267 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด


อยู่ๆเจ้ากระทรวงสาธารณสุขก็ประกาศเริ่มโครงการไข่แลกยาเก่าทั่วประเทศ (1) โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการนี้จังหวัดละ 100,000 บาท โดยนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้บอกว่ายาเก่าที่นำมาแลกนั้น ต้องเป็นยาแผนปัจจุบันทุกชนิด โดยที่โรงพยาบาลต่างๆของกระทรวงสาธารณสุขจะแจกไข่คืนให้แก่ครอบครัวที่นำยาไปแลก ครอบครัวละ 5 ฟองเป็นอย่างน้อย โดยกล่าวว่าข้อมูลล่าสุดคนไทยใช้ยาเฉลี่ยปีละ 100,000 ล้านบาท การให้ประชาชนนำยาเก่ามาแลกไข่ ก็เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้มีความตระหนักในการใช้ยา และใช้ยาให้เกิดประสิทธิภาพต่อการรักษาอาการเจ็บป่วย

และในเวลาไม่นาน ก็มีข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขว่า หลังจากเปิดโครงการรับแลกยาเก่ากับ “ไข่ใหม่” ในเวลาแค่ 4 วัน คือวันที่ 2-5 ก.ค.นั้น (2)พบว่ามีประชาชนเอายามาแลกไข่ถึง 18.2 ล้านเม็ด โดยกลุ่มใหญ่จะเป็นยากลุ่มยารักษาโรคเบาหวาน  ความดันโลหิตสูง และยาลดไขมัน มีถึง 40% นอกนั้นเป็นยากลุ่มแก้หวัด แก้ไอ  ซึ่งพบว่าจังหวัดในภาคอีสานมีการเอายามาคืนมากที่สุด ซึ่งยังไม่มีการแยกว่าเป็นยาที่หมดอายุหรือไม่  โดยรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.นิทัศน์ รายวา ได้กล่าวว่า ยาที่หมดอายุจะเอาไปทำลาย ส่วนยาที่ยังไม่หมดอายุ จะมีการหารือว่าจะเอายาเหล่านี้ไปใช้ใหม่หรือไม่ และจะมีการพิจารณาว่าจะขยายโครงการเพิ่มหรือไม่ หรือจะทำโครงการในเขตกทม.เพิ่มหรือไม่

 การที่ประชาชนเอายามาแลกไข่ถึง 18.2 ล้านเม็ดในเลาเพียง 4 วันนี้ น่าเสียดายที่กระทรวงสาธารณสุขไม่ทำแบบสอบถามว่า ทำไมประชาชนจึงมียาเหลือเยอะ ครอบครัวหนึ่งๆเอายามาคืนเฉลี่ยครอบครัวละกี่เม็ด ทำไมจึงมียาเหลือ? ไม่กินยาตามสั่ง หรือกินยาแล้วอาการไม่ดี ก็ย้ายหมอ/ย้ายโรงพยาบาลไปขอยาใหม่ แล้วยาที่เอามาคืนนี้ เก็บไว้อย่างถูกวิธีหรือไม่ เช่นต้องเก็บในที่เย็น (ไม่ร้อนจัด) เก็บไว้ในซองยากันแสง หรือเก็บไว้ในซองยาอื่น (ชื่อยาที่ซองกับเม็ดยาเป็นคนละอย่างกัน)
 เพราะเมื่อไม่สอบถามคนที่เอายามาคืนแล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะรู้ได้อย่างไรว่า ทำไมจึงมียาเหลือเยอะมากขนาดนี้ อยากจะให้กระทรวงถามด้วยว่า ยาจำนวน 18.2 ล้านเม็ดนี้ มาจากยาของประชาชนกี่คน? อย่างน้อยก็พอจะรู้ได้ว่า เฉลี่ยแล้วแต่ละคนเอายาไป”ทิ้งเฉยๆ” โดยไม่กินคนละกี่เม็ด จะได้รู้ว่าที่กล่าวว่าคนไทยกินยาปีละ100,000 ล้านบาทนั้น คนไทยเอายาไปทิ้งไว้จนหมดอายุปีละกี่ล้านบาท?

ที่สำคัญก็คือ ทำไมกระทรวงสาธารณสุขไม่สำรวจว่า เป็นยาอะไรบ้าง อย่างละกี่เม็ด เป็นราคาเม็ดละกี่บาท รวมแล้วเป็นมูลค่าของยาที่ประชาชนเอาไปทิ้ง(เก็บไว้เฉยๆโดยไม่ใช้ให้เกิดประโยชน์) นั้นมีมูลค่ากี่ร้อยกี่พันล้านบาท  ทั้งนี้ เพื่อจะได้รู้ว่างบประมาณค่ารักษาประชาชนที่ต้องจ่ายไปปีละเกือบสองแสนล้านบาทนั้น ได้”ทิ้งไป”โดยหาประโยชน์อันใดมิได้ เพราะการที่ประชาชนใช้ยาอย่างทิ้งๆขว้างๆ

แต่นี่ได้ข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขจะเอายาหมดอายุไปเผาทิ้ง (รีบทำลายหลักฐานการใช้ยาฟุ่มเฟือยเสียแล้ว) แล้วกระทรวงสาธารณสุข เสียงบประมาณค่าไข่ อีก 100.000คูณด้วย 77 จังหวัด เป็นเงิน อีก 7,700,000 บาทโดยไม่ได้ข้อมูลกลับมาเลยว่า ประชาชนคนไทยที่ยากจน ยอมเสียเวลาเอายาเก่าไปแลกไข่ใหม่(มาปรุงอาหารกิน) นั้น ได้ทิ้งยาไปมีมูลค่ามากมายมหาศาลแค่ไหน?

  และจาก ข้อมูลของเว็บ Thai Clinic.com (3) จากประสบการณ์จากหมอในรพ.แห่งหนึ่ง บอกว่า มีประชาชนประมาณ 200 คนเอายามาแลกไข่คืนประมาณ 3 ลัง และพบว่าในจำนวนยาที่หมดอายุนั้น ยังเป็นแผงยาที่เรียบร้อย ยังไม่มีการแกะเอายาไปกินเลย

มีความเห็นหนึ่ง (ความเห็นที่ 4)ใน (3) บอกว่า จะไปเปิดร้านอาหารบุฟเฟต์ ให้คนมากินฟรีไม่อั้น  แล้วก็ขอกลับไปกินต่อที่บ้านได้อีกไม่อั้น เนื่องจากพนักงานประจำห้องอาหารไม่กล้าขัดใจคนที่มากิน เพราะเดี๋ยวจะถูกคาดโทษ ส่วนอาหารที่เอาไปกินที่บ้านเหลือเท่าไร ไม่ว่าจะบูดเน่าอย่างไรก็สามารถเอามาแลกนมกล่องหรือข้าวสารที่ร้านได้อีก  เดี๋ยวจะเชิญสื่อต่างประเทศมาดูงาน บอกว่าเป็นร้านที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก

   ความเห็นนี้ช่างเหมือนความเห็นของเจ้ากระทรวงสาธารณสุขจริงๆ ตามข่าวใน(4)ที่มีข่าวว่านายวิทยา บูรณศิริ เสนอให้ระบบหลักประกันสุขภาพไทยเป็นแบบอย่างให้แก่ประเทศอาเซียน โดยในข่าวกล่าวว่าประเทศเวียตนาม ลาว ฟิลิปปินส์ เตรียมนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม

  คำว่า “ประยุกต์” นี่เป็นคำสำคัญที่สุดที่ประเทศอาเซียนจะต้อง “เข้าใจ” ว่าพวกเขาควรดูประเทศไทยเป็นแบบอย่างได้ แต่อย่าทำอย่างที่ประเทศไทยทำ เพราะจะประสบหายนะในไม่ช้า ได้แต่หวังว่าประเทศเขาจะมีผู้นำทางสาธารณสุขที่ “ฉลาดและวางแผนงานอย่างสมเหตุสมผล” คือไม่ทำอย่างประเทศไทย ที่เงินงบประมาณก็มีน้อย แต่โฆษณาว่าจะรักษาฟรีทุกโรค แจกยาฟรีไม่อั้น (แต่ยาจะดีมีมาตรฐานหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ยามีมากก็เก็บเอาไว้มาแลกไข่ไปกินได้อีก
 และในขณะเดียวกันรัฐมนตรีคนนี้เอง ก็มาบ่นว่าคนไทยกินยามากที่สุดในโลก จ่ายค่ายาแพงที่สุดในโลก แต่ยังไม่เห็นมีมาตรการอะไรที่จะทำให้คนไทยตระหนักถึง “คุณค่าและราคาของยารวมทั้งตระหนักถึงความรับผิดชอบในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันความเจ็บป่วย เพื่อจะได้ประหยัดงบประมาณในการรักษาได้”

 ความผิดเพี้ยนของระบบสาธารณสุขไทย ที่ประเทศอาเซียนไม่ควรทำตามก็คือ

1.ไม่ส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเท่าที่ควร ทำให้อัตราการเจ็บ(อุบัติเหตุ) และการป่วย(เป็นโรค) ต่างๆมีแต่เพิ่มขึ้น ตามสถิติของกระทรวงสาธารณสุข

2.เอาใจประชาชน 48 ล้านคนด้วยการบอกว่า รักษาฟรีทุกโรค  โดยไม่เป็นความจริง เนื่องจากมีอีกหลายโรคที่ถูกจำกัดรักษา

3.ประชาชนไปโรงพยาบาลมากขึ้นจนถึงปีละ 200 ล้านครั้ง เนื่องจากประชาชนส่วนมากที่ได้รับรู้สิทธิว่าจะได้ฟรีทุกอย่างเมื่อไปโรงพยาบาล จึงพากันไปโรงพยาบาลมากขึ้น เป็น และขอยาไปไว้ที่บ้านเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เอาไปกินเอง เอาไปแจกเพื่อนบ้าน และเอาไปเหน็บไว้ข้างฝา โดยไม่คิดว่า “ยานี้มีต้นทุนที่ต้องมีคนจ่ายค่ายา”
คำกล่าวในข้อนี้ไม่ไกลจากความจริง เนื่องจากว่าเมื่อมีโครงการเอายาเก่าไปแลกไข่ใหม่เพียง 4 วัน มีประชาชนเอายาไปแลกไข่ได้ถึง 18.2 ล้านเม็ด ถ้าเปิดให้แลกยาอีกจนครบ 1 เดือน อาจจะได้ยาเก่าอีกประมาณ100 ล้านเม็ด นับเป็นมูลค่าอีกกี่ร้อยล้านบาทก็ยังคำนวณไม่ได้

ถ้าประชาชนต้องจ่ายค่ายาเอง เช่นผู้ที่ไปโรงพยาบาลเอกชน มักจะบอกหมอว่า หมออย่าสั่งยาไปมากนัก เอาแค่พอจำเป็นในการรักษาอาการป่วยคราวนี้ก็พอ เนื่องจากเห็นว่า ถ้าขอให้หมอสั่งยามาก ตัวเองก็ต้องจ่ายเงินมาก
ฉะนั้น ระบบบัตรทอง 30 บาทและกระทรวงสาธารณสุขควรร่วมมือกัน ในการจัดทำโครงการป้องกันการที่จะจ่ายยาให้ประชาชนเอาไปทิ้งๆขว้างๆแบบที่ผ่านมาในรอบ 10ปี โดยการให้ประชาชนมีส่วนรับผิดชอบ “ค่ายาหรือค่าบริการสาธารณสุข”บ้าง เพื่อให้ประชาชนรู้ว่า “การบริการสาธารณสุขและยานั้นมีต้นทุนที่ต้องจ่าย” ถ้าประชาชนไม่ต้องจ่ายเอง ก็ต้องเอาเงินจากภาษีของประชาชนนั่นเองมาจ่าย

4.ไม่มีเงินซื้อยาราคาสูง ที่จำเป็นในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหรือรักษายุ่งยากรุนแรง/ซับซ้อน จากการที่ประชาชนได้รับยาไปมากเกินความจำเป็นที่จะต้องใช้ ทำให้ไม่มีงบประมาณพอที่จะซื้อยา “ราคาสูง”  ทำให้สปสช.เป็นผู้ “จำกัดรายการยาที่เหมาะสมที่สุดในการรักษาโรคเหล่านั้น” ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เป็นโรคร้ายที่คุกคามชีวิต ไม่ได้รับการรักษาหรือยาที่ดีตามมาตรฐานการแพทย์ในปัจจุบัน เช่นการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยไตวาย ฯลฯ และอีกหลายๆโรค ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ “สูญเสียโอกาสได้รับการรักษาที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือรอดชีวิต” เนื่องจากการออก “ระเบียบในการจำกัดวิธีการรักษาหรือการใช้ยาของผู้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”

  เท่านี้ยังไม่พอ ผู้บริหารและผู้มีส่วนร่วม “ออกแบบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ยังพยายามที่จะไป “ชักชวน” ผู้บริหารกองทุนอื่นคือ “ประกันสังคมและสวัสดิการการรักษาข้าราชการ” ให้กลับมาใช้วิธีการออกระเบียบการรักษาและกำหนดรายการยา ให้ “เลวลงเหมือนกับรายการของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”อีกด้วย
ทั้งนี้เห็นได้จากการที่สปสช.ประกาศให้ประชาชนทั้งใน 3 ระบบไปรับการรักษาฉุกเฉินได้เหมือนกันหมด แต่จ่ายเงินค่ารักษาเพียง 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เหมือนกับที่สปสช.เคยทำมากับโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็คอยดูก็แล้วกันว่าผู้บริหารโรงพยาบาลที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ยังจะทำเป็นทองไม่รู้ร้อนเหมือนผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขไปได้อีกกี่มากน้อย? เดี๋ยวคงจะมีการเอะอะโวยวายขึ้นมาในไม่ช้า เพราะทุกสิ่งมี “ต้นทุนค่าใช้จ่าย” ทั้งสิ้น

5. ความขาดแคลนทรัพยากรหรือปัจจัยในการบริหารจัดการด้านการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข ความผิดเพี้ยนของระบบสาธารณสุขไทยยังมีอีกมากมาย ขอยกตัวอย่างที่สำคัญอีกตัวอย่างหนึ่ง กล่าวคือ กระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงที่มีภารกิจหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการในการจัดให้มีสถานบริการสาธารณสุขที่ดี มีมาตรฐานให้เพียงพอแก่ความจำเป็นของประชาชน แต่กระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงเดียวที่ขาดปัจจัยทุกอย่างที่จำเป็นที่สุดในการดำเนินงานตามภารกิจหลักดังกล่าว ได้แก่
   5.1 ขาดเงินงบประมาณที่เพียงพอ เหมาะสม ในการบริหารจัดการ
   5.2 ขาดบุคลากรที่เหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพ
   5.3 ขาดอาคารสถานที่ วัสดุ ครุภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เทคโนโลยี ยาและเวชภัณฑ์ ที่เหมาะสม ในการจัดบริการให้ดี มีมาตรฐานและความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย

  ทั้งนี้การเขียนปัญหาสำคัญในข้อ5 นี้ ผู้อ่านบางคนอาจจะกล่าวหาว่าผู้เขียนมีอคติกล่าวหาลอยๆโดยไม่มีหลักฐาน(ตัวเลข)เชิงประจักษ์(Evidence-based) มาแสดง ผู้เขียนก็ขอชี้แจงว่า สิ่งที่ผู้เขียนกล่าวถึงนี้ เป็นความจริงที่ทุกคน “เห็นได้””ด้วยตนเอง เหมือนกับที่ทุกคนเห็นว่าดวงอาทิตย์ต้องขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะสิ่งที่ผู้เขียนกล่าวมาทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นข่าวสารที่มีการกล่าวถึงในทุกๆสื่อในสังคม และทุกๆคนที่มีความจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขต้องเห็น “ประจักษ์” ด้วยตนเองแล้วว่า มีผู้ป่วยไปรอรับการตรวจรักษาอย่าง “เบียดเสียดยัดเยียดจนล้นโรงพยาบาล” มีผู้ป่วยที่ ต้องนอนเตียงเสริม เตียงแทรก นอนบนเปลเข็นตามระเบียง หน้าบันได หน้าห้องส้วม หรือต้องปูเสื่อนอน หรือต้องตระเวนหาเตียงนอนรักษาหลายสิบแห่ง กว่าจะได้เตียงนอน หรืออาจต้องไปรอพบแพทย์ 5-6 ชั่วโมง เพื่อจะให้แพทย์ได้ตรวจสัก 2-3 นาที ฯลฯ

   สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้( และยังไม่ได้กล่าวอีกมากนั้น )ผู้เขียนต้องการชี้ให้ประชาชนที่จำเป็นต้องไปรับการตรวจรักษาสุขภาพในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขได้รับทราบ จะได้ไปเรียกร้องให้ผู้แทน(สส.)ของท่าน ไปเสนอให้รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้อยู่ในการกำกับของท่าน คือปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ร่วมมือกันแก้ไขและพัฒนาระบบการบริการสาธารณสุขและการประกันสุขภาพ โดยให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางกล่าวคือ ให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจรักษาตามมาตรฐานการแพทย์ที่ดี มีมาตรฐาน มีเตียงผู้ป่วยที่เหมาะสม ได้รับการรักษาอย่างเอาใจใส่ตามมาตรฐานทางการแพทย์และการพยาบาลจากบุคลากรทุกประเภท

ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับความเสียหายจากการไปตรวจรักษาในสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน  โดยการแก้ไขปัญหาในข้อ 5คือการขาดแคลนทั้งหมด และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพ ป้องกันโรค และช่วยกันรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพของตนเองบ้าง ยกเว้นผู้ยากจน/พิการ/ไร้ความสามารถ

  ถ้าเขียนแบบนี้ ก็อาจจะมีคนบางกลุ่มออกมา “อ้างว่า” ต้องการได้รับการรักษาฟรีเหมือนกันหมด ไม่ต้องการ “การให้ทานเฉพาะคนจน ต้องการความเสมอภาค/เท่าเทียม โดยการให้ทุกคนไม่ต้องจ่ายเหมือนกัน” นั้น  ผู้เขียนก็จะบอกตามเหตุผลที่กล่าวมาทั้ง 5 ข้อว่า การให้ฟรี 48 ล้านคน (ไม่ใช่ทุกคน) นั้น ก็ได้ก่อให้เกิดความผิดเพี้ยนและความเสียหายดังที่ทุกคนเห็นอยู่แล้ว และการที่คนจนและด้อยโอกาสในสังคม ต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษนั้น ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เหมือนกับการจ่ายภาษีรายได้ที่คนจนไม่ต้องจ่ายแต่คนมีรายได้มากก็ต้องจ่ายนั่นเอง
ความเสมอภาคและเป็นธรรมในสังคมนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมต้องช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสในสังคม เพื่อช่วยให้เขาอยู่ในสังคมได้ตามสบายพอควรแก่อัตภาพ ไม่ใช่ปล่อยให้เขาตกอยู่ในสภาพด้อยโอกาสต่อไป สังคมจึงจะเกิดความเป็นธรรมและสันติสุข
   
เอกสารอ้างอิง 1. http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9550000080451
สธ.พร้อมเริ่มโครงการ”ไข่แลกยาเก่า”ต้นเดือนก.ค.นี้
2. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000082813
อีสานแชมป์คืนยาแลกไข่ สธ.เตรียมเผายาหมดอายุ 13 ก.ค.นี้
3. http://www.thaiclinic.com/cgi-bin/wb_xp/YaBB.pl?board=doctorroom;action=display;num=1341585832
ขอไว้อาลัยกับนโยบายยาเก่าแลกไข่ไก่
4. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000082998
สธ.ชูระบบสุขภาพไทยเป็นแบบอย่างอาเซียน



พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
7 ก.ค. 55