ผู้เขียน หัวข้อ: สมาพันธ์แพทย์-รพ.เอกชน เสนอขยาย ม.41 หวังครอบคลุมคนไทย 63 ล.(ผู้จัดการ26สค)  (อ่าน 1550 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
สมาพันธ์แพทย์-รพ.เอกชน เสนอขยาย ม.41 หวังครอบคลุมคนไทย 63 ล.
สมาพันธ์แพทย์ เดินหน้าถกร่าง พ.ร.บ.ร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง สมาคม รพ.เอกชน ทำหนังสือให้ สปสช.เสนอ ต่อ “จุรินทร์” ชี้แจงข้อเสนอให้ขยายมาตรา 41 ให้ครอบคลุมคนไทย 63 ล้านคน “หมอวรงค์” แนะ สมาพันธ์กำหนดแนวทางเรื่อง คกก.กองทุน-ชี้ไม่พอใจร่างนี้ควรเสนอร่างใหม่
       
       วันนี้ (26 ส.ค.) เวลาประมาณ 10.00 น.สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ/รพท.)ได้จัดประชุมสัมมนาเรื่อง “ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับเสียหายจากการเข้ารับบริการสารธารณสุข พ.ศ....” โดยมี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในการเปิดการประชุม ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม ได้แก่ แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาการพยาบาล สภากายภาพบำบัด สภาเทคนิคการแพทย์ วิปรัฐบาล คณะแพทยศาตร์ รพ.รามาธิบดี กองกรรมาธิการสาธารณสุข กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม สำนักงานงบประมาณ วิทยาลัยการแพทยศาสตร์กรุงเทพฯ และวชิระพยาบาล สำนักอนามัย (ศูนย์บริการสาธารณสุข) แพทยสมาคม สมาคุม รพ.เอกชน กรมการแพทย์ทรหารบก สำนักงานสวัสดิการสุขภาพ กองทัพเรือ กรมแพทย์ทหารเรือ รพ.ตำรวจ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช และคณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดี
       
       นพ.ไพจิตร์  กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ อยากให้ทางเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรรม ได้เร่งหารือร่วมกันเพื่อเสนอความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้โดยเร็ว ซึ่งโดยส่วนตัวก็เชื่อว่าการที่ทางผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมล้วนแล้วแต่คาดหวังตรงกันว่า ต้องการให้เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.นั้น มีความครอบคลุมในการคุ้มครองทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม ทั้งฝ่ายผู้ป่วยและฝ่ายผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทั้งนี้ตนคาดหวังว่า จะได้ผลสรุปอย่างเป็นธรรม จากทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันเช่นเดิมว่า การหาทางออกร่วมกันเกี่ยวกับ พ.ร.บ.นั้นจะไม่ใช้เรื่องผลโหวต แต่จะพูดคุยกันด้วยเหตุผล จึงขอให้ทุกท้านได้หารือกันอย่างเต็มที่แล้วสรุปเป็นประเด็นเพื่อนำเสนอต่อไป
       
       นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคม รพ.เอกชน กล่าวว่า ได้ทำหนังสือในฐานะประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข เรื่อง ข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการ (คกก.)ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ลงวันที่ 25 ส.ค.2553 ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดนำมติที่ประชุม คกก.ควบคุมคุณภาพ ฯ เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2553 เสนอแนะให้มีการแก้ไขมาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่กำหนดให้คณะกรรมการกันเงินจำนวนไม่เกิน 1 % ของเงินที่จะจ่ายให้หน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล โดยเสนอให้แก้ 3 ข้อ คือ
1. แก้ไขให้ครอบคลุมผู้รับบริการทุกคน
2.แก้ไขให้ครอบคลุมสถานบริการซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ
3.ขยายจากเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงินชดเชยความเสียหาย
       
       “ขณะนี้หนังสืออยู่ในระหว่างการดำเนินงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวจะเป็นผู้นำเสนอแก่รัฐมนตรี ส่วนวันเวลาจะเป็นเมื่อใดนั้น ก็แล้วแต่หน่วยงานจะสะดวก” นพ.เอื้อชาติ กล่าว
       
       ด้าน นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส ตัวแทนจากแพทยสมาคม กล่าวว่า จากการที่ได้ติดตามอ่านรายละเอียดของ พ.ร.บ.แล้วยังมองไม่เห็นประโยชน์ที่ผู้ให้บริการทางสารธารณสุขจะได้รับ นอกเสียจากการมุ่งคุ้มครองเพียงผู้เข้ารับบริการด้านเดียว ดังนั้น อยากให้มีการถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้วดำเนินการแก้ไขขยายมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ให้ครอบคลุมคนไทยทั้ง 63 ล้านคนจะดีกว่า โดยหากผู้ป่วยท่านใดที่เข้ารับบริการจนเกิดความเสียหายและต้องการเงินชดเชยหรือเงินช่วยเหลือเพื่อเยียวยาจริงๆ ก็สามารถช่วยได้ครอบคลุมคนทั้งประเทศ
       
       ขณะที่ นพ.วิสุทธิ์ ลัจฉเสวี ที่ปรึกษา กมธ.สธ.สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการที่เครือข่ายภาคประชาชนเสนอให้มีโครงสร้างของคณะกรรมการที่ดูแลกองทุนเงินชดเชยในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต้องเป็นอิสระ เพราะเห็นว่าถ้าหากเป็นอิสระนั้นภาครัฐจะไม่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นจึงควรคุยกันในเรื่องของการตั้งคณะกรรมการให้ชัดเจนด้วย
       
       นพ.วรงค์ เดชวิกรม รองประธานกรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะนำตัวแทนจากวิปรัฐบาล กล่าวว่า อยากให้ทุกท่านที่ร่วมประชุมในวันนี้ เร่งหาทางออกร่วมกันในเรื่องของการแก้ไข พ.ร.บ.ที่ยังเห็นว่าไม่ชัดเจนโดยเร็ว เนื่องจากขณะนี้ความเป็นไปได้ในการถอนร่างนั้นคงยาก เพราะถึงแม้ร่างของรัฐบาลจะถูกถอนออกมาตามคำเสนอแนะของแพทย์ แต่ตราบใดที่ร่างของ เครือข่ายภาคประชาชนยังอยู่ก็จะดำเนินไปตามขั้นตอนของสภา ดังนั้น หากมีข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะใด ควรที่จะเร่งดำเนินการ เช่น ในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องของคณะกรรมการก็ควรเสนอแนวทางใหม่ เพื่อหาทางออก ส่วนกรณีที่หลายๆ มาตรานั้นมีความไม่เหมาะสม หรือโดยส่วนใหญ่ของ พ.ร.บ.นั้นไม่เหมาะสม ก็ควรที่จะหาหนทางในการล่ารายชื่อเพื่อเสนอเป็นร่างฉบับใหม่ เสนอเข้าประกบในสถาจะดีกว่า
       
       อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมเสร็จสิ้น ที่ประชุมก็ได้ข้อสรุปเป็นมติ 3 ข้อ เป็นข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับเสียหายจากการเข้ารับบริการสารธารณสุข พ.ศ...." โดย พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ รองประธานสมาพันธ์รพศ./รพท. กล่าวว่า ผลจากการประชุมนั้น ได้มีการสรุปเป็นมติร่วม 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ยืนยันจะต้องมีการคุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยเท่าเทียมทั้งผู้ให้และผู้รับบริการสาธารณสุข 2.ระหว่างที่ร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ....ยังไม่มีผลบังคับใช้ ควรที่จะมีการขยายมาตรา 41 ของพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้ครอบคลุมประชาชนคนไทยทุกระดับ และครอบคลุมสถานพยาบาลทุกแห่ง ซึ่งขณะนี้นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช .)ได้ทำหนังสือถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เรียบร้อยแล้ว