ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.พร้อมเริ่มโครงการ “ไข่แลกยาเก่า” ต้นเดือน ก.ค.นี้  (อ่าน 1065 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
“วิทยา” ลั่น พร้อมเริ่มโครงการไข่แลกยาเก่า ทั่วประเทศวันที่ 2-5 ก.ค.ที่โรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับกว่า 1 หมื่นแห่ง
       
       นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยความคืบหน้าของโครงการไข่แลกยาเก่าว่า ขณะนี้มีความคืบหน้า โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดประชุมเจ้าหน้าที่ และได้จัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในโครงการนี้จังหวัดละ 100,000 บาท โดยได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ออกสำรวจตามบ้านต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ และจะเริ่มเปิดรับแลกยาในวันที่ 2-5 กรกฎาคม 2555 พร้อมกันที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และ โรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศ รวมกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ
       
       นายวิทยา กล่าวต่อว่า ยาเก่าที่จะแลกไข่ครั้งนี้ ประชาชนสามารถนำยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ทั้งชนิดที่ซื้อเอง หรือได้รับจากสถานพยาบาลต่างๆ ทั้งรัฐหรือเอกชน ไม่รวมยาสมุนไพร โดยจะแจกไข่คืนแก่บ้านที่นำยาเก่าไปแลก ให้ครอบครัวละ 5 ฟองเป็นอย่างน้อย ทำอาหารได้ 1-2 มื้อ ไข่ที่แลกขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของพื้นที่ บางแห่งอาจเป็นไข่ไก่ ไข่เป็ด หรือไข่เค็ม หากไม่มีไข่ อาจจะเป็นมะนาวก็ได้ วัตถุประสงค์หลักของโครงการไข่แลกยาเก่านี้ เพื่อรณรงค์ประชาชนให้มีความตระหนักในการใช้ยา และใช้ยาให้เกิดประสิทธิภาพต่อการรักษาอาการเจ็บป่วย ข้อมูลล่าสุดคนไทยใช้ยาเฉลี่ยปีละ 100,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้จะทำให้ทราบถึงขนาดปัญหาการใช้ยาของคนไทย ว่า มียาเหลือใช้ตกค้างตามบ้านเรือนจำนวนเท่าใด และวิธีการเก็บรักษา โดยมอบหมายให้นายแพทย์นิทัศน์ รายยวา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบบริหารจัดการ และจะประเมินผลกลางเดือนกรกฎาคม 2555
       
       ทางด้าน นายแพทย์ นิทัศน์ รายยวา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ยาเก่าที่รับคืนทั้งหมด จะให้เภสัชกรของโรงพยาบาลต่างๆ เป็นผู้วิเคราะห์ คัดแยก โดยยาเก่าที่หมดอายุแล้วจะรวบรวมส่งไปที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อทำลาย และขั้นต่อไปในปีหน้ากระทรวงสาธารณสุขจะปรับระบบบริหารจัดการยาให้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยรณรงค์ให้ประชาชนใช้ยาดี และมีคุณภาพตามนโยบายรัฐบาล โดยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้ความรู้เรื่องยาและปรับแก้พฤติกรรมการกินยาของประชาชน มีระบบการปรึกษาปัญหาการใช้ยาทั้งยาแผนปัจจุบันและเพิ่มการให้ความรู้ยาสมุนไพร ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งเป็นหมอประจำครอบครัว ดูแลคนละ 300 ครัวเรือน ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม.ติดตามดูแลเรื่องการใช้ยาเหล่านี้ด้วยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เพิ่มความคุ้มค่าการใช้ยายิ่งขึ้น
       
       นายแพทย์ นิทัศน์ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่มียาเก่าเหลือตกค้างตามบ้านเรือน มาจากหลายสาเหตุ ได้แก่
1.การซื้อยากินเอง กินแล้วอาการไม่หาย
2.นำยาของคนอื่นที่ที่มีอาการป่วยคล้ายกันมาใช้แทน
3.เก็บยาไม่ถูกต้อง ทำให้ยาเสื่อมสภาพ
4.ประชาชนไม่ดูวันหมดอายุยา
5.ลืมกินยา
6.รักษาหลายโรงพยาบาลทำให้รับยาหลายขนานซ้ำซ้อน และ
7.ประชาชนพึ่งยามากกว่าพึ่งตนเอง เพราะเชื่อว่าหากป่วยแล้วมียารักษา

ASTVผู้จัดการออนไลน์    1 กรกฎาคม 2555