ผู้เขียน หัวข้อ: “รถพยาบาล” วิ่ง สู้ ฟัด !  (อ่าน 1064 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
“รถพยาบาล” วิ่ง สู้ ฟัด !
« เมื่อ: 30 มิถุนายน 2012, 23:35:49 »
ช่วงนี้เราจะได้ยินข่าว “แท็กซี่วิ่งสู้ฟัด” กันอยู่บ่อยๆ ผมเลยนำคดี “รถพยาบาลวิ่งสู้ฟัด” มาฝากกันบ้าง... ระยะหลังนี้ดวงผมสมพงษ์กับรถฉุกเฉิน ไปไหนมาไหนมักจะได้ยินเสียงไซเรนของรถพยาบาลบ้าง รถดับเพลิงบ้าง บอกตามตรงคนหนุ่มอย่างผมก็ยังใจคอไม่ดี รีบหลบเข้าซ้ายให้เขาแซงไปก่อนเลย แถมตายังไปชำเลืองคันอื่น เห็นบางคันก็รีบหลบให้ บางคันก็เก้ๆ กังๆ ไม่รู้จะหลบไปทางไหนดี ปล่อยให้รถฉุกเฉินหาทางซิกแซกแซงไปเองแบบมืออาชีพ แต่บางคันก็ไม่สนใจเพราะต่างคนต่างรีบ ยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วน เรียกได้ว่าตัวใครตัวมัน เห็นอย่างนี้แล้วก็ให้สะท้อนในใจ...บ้านเมืองเรานี้ยังขาดระเบียบวินัยบนท้องถนนกันอยู่มาก
       
       อันที่จริง...กฎหมายจราจรทางบกได้มีบทบัญญัติกำหนดหน้าที่ให้ผู้ขับขี่รถฉุกเฉินต้องปฏิบัติในขณะปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งได้กำหนดหน้าที่สำหรับผู้ขับขี่รถบนท้องถนนต้องปฏิบัติในกรณีพบเจอรถฉุกเฉินไว้ด้วย ซึ่งเรื่องเล่าดีดีจากคดีปกครองที่นำมาฝากในวันนี้ จะช่วยให้ความกระจ่างเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายได้เป็นอย่างดี โดยคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้ความเป็นธรรมกับพนักงานขับรถพยาบาลซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ให้ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตามคำสั่งของหน่วยงานต้นสังกัด เรื่องราวของคดีจะเข้มข้นและน่าสนใจเพียงไร...มาติดตามกันเลยครับ
       
       ผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานขับรถของโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง สังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ค่ำวันเกิดเหตุ ผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งให้ขับรถพยาบาลส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง โดยขณะปฏิบัติหน้าที่
       
       ผู้ฟ้องคดีได้ใช้สัญญาณไฟวับวาบและเปิดเสียงไซเรนตลอดทาง จนมาถึงบริเวณแยกที่เกิดเหตุ ผู้ฟ้องคดีได้เร่งความเร็วเพื่อจะขับแซงรถสามล้อรับจ้างที่วิ่งอยู่ด้านหน้าโดยหักพวงมาลัยออกมาทางด้านขวา ขณะเดียวกันรถสามล้อรับจ้างก็ได้เลี้ยวเข้าทางแยกด้านขวาเพื่อเข้าหมู่บ้านโดยไม่ให้สัญญาณไฟ ผู้ฟ้องคดีจึงเบรกและหักหลบแต่ไม่พ้นเนื่องจากถนนลื่นเพราะฝนตก รถพยาบาลจึงพุ่งชนท้ายรถสามล้อ เคราะห์ดีที่ไม่มีใครเสียชีวิต...
       
       จังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดี) จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจาก พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (มาตรา 10 ประกอบมาตรา 8) ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานได้เฉพาะกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น โดยกรณีนี้คณะกรรมการฯ ได้รายงานผลการตรวจสอบว่า อุบัติเหตุดังกล่าวเกิดจากรถสามล้อรับจ้างเลี้ยวตัดหน้าอย่างกะทันหันโดยไม่ให้สัญญาณไฟ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมิได้เกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ฟ้องคดี จึงไม่มีผู้ใดต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย
       
       ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นพ้องด้วยจึงรายงานผลการตรวจสอบต่อกระทรวงการคลัง แต่กระทรวงการคลังเห็นว่า อุบัติเหตุเกิดจากการที่ผู้ฟ้องคดีขับรถด้วยความเร็วสูงเพื่อที่จะแซงสามล้อรับจ้างบริเวณใกล้ทางแยกซึ่งเป็นเขตห้ามแซง ผู้ฟ้องคดีควรชะลอความเร็วลง ประกอบกับฝนตกถนนลื่นจึงควรต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำการด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 60 ของค่าเสียหายทั้งหมด ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยจึงยื่นอุทธรณ์ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาแล้วยืนตามคำสั่งเดิม
       
       ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงนำเรื่องมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว
       
       
       คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยวางหลักไว้ว่า ขณะเกิดเหตุผู้ฟ้องคดีขับรถพยาบาลซึ่งเป็นรถฉุกเฉินไปปฏิบัติหน้าที่ ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยมีสิทธิขับรถเกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้ ขับรถผ่านสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรใดๆ ที่ให้รถหยุด แต่ต้องลดความเร็วของรถให้ช้าลงตามสมควร ไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือข้อบังคับการจราจรเกี่ยวกับช่องเดินรถ ทิศทางของการขับรถหรือการเลี้ยวรถที่กำหนดไว้
       
       เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ขับรถมาด้วยความเร็วประมาณ 100 กม./ชม. โดยเปิดสัญญาณไฟวับวาบและเปิดเสียงสัญญาณไซเรนตลอดทาง ผู้ขับขี่รถคันอื่นจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ซึ่งกำหนดให้ผู้ขับขี่ที่เห็นรถฉุกเฉินในขณะปฏิบัติหน้าที่ ต้องให้รถฉุกเฉินผ่านไปก่อนโดยต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดขอบทางด้านซ้ายโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ และต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี ซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีขับรถมาถึงที่เกิดเหตุ ผู้ขับขี่รถสามล้อเครื่องได้เลี้ยวขวาเข้าหมู่บ้านโดยไม่ให้สัญญาณไฟ อันแสดงว่าผู้ขับขี่รถสามล้อเครื่องไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 76 ดังกล่าว ทั้งยังเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายที่ผู้ขับขี่ซึ่งจะเลี้ยวรถต้องให้สัญญาณด้วยมือและแขนหรือไฟสัญญาณอีกด้วย
       
       กรณีนี้จึงถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่ในการขับรถพยาบาลโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่ผู้ขับขี่รถสามล้อเครื่องเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี (อ.152/2554)
       
       ชัดเจนแล้วนะครับ ! สำหรับบทบาทและหน้าที่ระหว่างผู้ขับขี่รถฉุกเฉินกับผู้ขับขี่รถทั่วไปที่พบเจอรถฉุกเฉิน ผมว่าอาชีพขับรถพยาบาลนี้น่าเห็นใจ... เพราะต้องทำงานอยู่บนความเป็นความตายของผู้คน ผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างเราๆ จึงควรช่วยกันอำนวยความสะดวกด้วยการให้ทาง เพราะนอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายอันแสดงให้เห็นถึงระเบียบวินัยในการใช้รถใช้ถนนของคนไทยแล้ว เรายังได้บุญจากการมีน้ำใจช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนอีกด้วย เพราะไม่แน่ว่าวันหนึ่งเราอาจเป็นผู้ที่ต้องอยู่ในรถพยาบาลก็เป็นได้...
       
       งานนี้...แท็กซี่วิ่งสู้ฟัด ยังต้องหลีกทางให้ รถพยาบาลวิ่งสู้ฟัด เลยนะคร้าบ...
                                                                                           ครองธรรม ธรรมรัฐ

ทีมข่าวอาชญากรรม    29 มิถุนายน 2555
manager.co.th