ผู้เขียน หัวข้อ: ชำแหละพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย ใครได้ ใครเสีย  (อ่าน 2982 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
ชำแหละร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯฉบับของรัฐบาล
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
 Federation of Healthcare Workforce, Thailand(FHWT).
   ถ้าเราสนใจอ่านหรือติดตามข่าวในสื่อมวลชนเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... อยู่ในปัจจุบันนี้ ก็คงจะมีกลุ่มแพทย์NGO ที่ทำงานร่วมกันกับกลุ่ม NGO สาธารณสุขที่เป็นผู้เขียนและผลักดันร่างพ.ร.บ.นี้อยู่ในขณะนี้ เป็นฝ่ายสนับสนุนร่างพ.ร.บ.นี้  ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเสนอร่างพ.ร.บ.นี้ ก็จะมีกลุ่มแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้ปฏิบัติงานรักษาผู้ป่วยอยู่ในปัจจุบัน ที่รวมตัวกันคัดค้านว่า ยังไม่ควรนำพ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพราะเห็นว่ามีความไม่เหมาะสมอยู่มาก ควรจะถอนออกมาจากวาระการประชุมของสภาผู้แทนเสียก่อน เพื่อมาทำประชาพิจารณ์และ/หรือแก้ไขให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่เป็นผู้ป่วยหรือประชาชนที่เป็นผู้ให้การดูแลรักษาผู้ป่วย
  ก่อนที่จะชำแหละร่างพ.ร.บ คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ฉบับของรัฐบาลที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ขอทบทวนกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ก่อนว่า ปัจจุบันนี้ที่ยังไม่มีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการฯนี้ ประชาชนที่ได้รับ “ความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” นี้ได้รับความคุ้มครองหรือไม่
  ตามปกติแล้วประชาชนที่ไปพบแพทย์นั้น ก็เพราะต้องการไปรับการรักษาให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ก็ย่อมจะพยายามใช้ความรู้ความสามารถในการรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผู้ป่วยหายเจ็บป่วยและมีสุขภาพคืนดีดังเดิม โดยบุคลากรทางการแพทย์นั้นต้องมีความรู้ในทางวิชาการ สามารถทำงานได้ตามมาตรฐาน รวมทั้งต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมวิชาชีพกำกับการปฏิบัติงาน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาแล้ว อาจเกิดผลเสียหายมีความพิการ ตาย หรือเป็นโรคอื่นแทรกซ้อน ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพไม่ดีดังเดิมเหมือนปกติ ผู้ป่วยและญาติย่อมเกิดความไม่พึงพอใจหรือคิดว่าได้รับความเสียหายจากความผิดพลาดหรือประมาทเลินเล่อของแพทย์ แต่ความเสียหายทีเกิดจากการรักษานั้น อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุใหญ่ๆดังนี้
1.   เกิดความผิดพลาดจากแพทย์/บุคลากรทางการแพทย์ เช่น ผ่าตัดผิดข้างหรือจ่ายยาผิดคน  หรือเกิดจากแพทย์ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะในสาขานั้นๆ หรือเกิดจากความเหนื่อยล้าของแพทย์อาจทำให้ตัดสินใจรักษาผิดพลาด
2.   เกิดความผิดพลาดจากระบบบริการสาธารณสุข เช่น  มีบุคลากรน้อยในขณะที่ผู้ป่วยมากเกินไป หรือขาดเครื่องมือ ขาดยา ขาดเลือดหรือเกิดจากแพทย์ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะในสาขานั้นๆ หรือเกิดจากความเหนื่อยล้าของแพทย์อาจทำให้ตัดสินใจรักษาผิดพลาด
3.    เกิดจากเหตุสุดวิสัย เช่น ผู้ป่วยแพ้ยา หรือเกิดโรคแทรกซ้อนที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่นการผ่าตัดมดลูกแต่ไปทำให้ท่อปัสสาวะรั่ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นในบางกรณีที่อวัยวะภายในพังผืดติดกันจนแยกแยะจากกันได้ยาก
4.   เกิดจากองคาพยพของผู้ป่วยเอง ที่มีโรคแทรกซ้อนหลายอวัยวะ หรือเป็นระยะสุดท้ายของโรค ที่แพทย์ไม่สามารถต่อสู้กับมัจจุราชได้.
ซึ่งความเสียหาย ในข้อ 1และข้อ 2  นั้นนับว่าเป็นความเสียหายที่สามารถป้องกันได้และควรจะต้องมีการสอบสวนและลงโทษผู้รับผิดชอบในการกระทำผิดนั้นๆ เช่น ลงโทษบุคลากรที่ปฏิบัติงานหรือลงโทษผู้บริหารระดับสูงผู้รับผิดชอบบริหารระบบบริการสาธารณสุข ที่ไม่สามารถจัดสรรคน เงิน และ สิ่งของเครื่องมือและเวชภัณฑ์ให้เพียงพอแก่การทำงาน ซึ่งความเสียหายจากเหตุในข้อ 1 และ 2 นี้ พ.ร.บ.คุ้มครอง ได้ใช้การช่วยเหลือและชดเชย
 ส่วนความเสียหายในข้อ 3 และ 4  นั้น ตามมาตรา 6 ของร่างพ.ร.บ.คุ้มครองฯฉบับนี้ ประชาชนจะไม่ได้รับการช่วยเหลือและชดเชย  แต่ถ้ารัฐบาลอยากจะจ่ายสงเคราะห์ประชาชน ก็คงไม่มีใครขัดข้อง
     แต่ในปัจจุบันนี้ ความเสียหายในข้อ 1,2.หรือ 3 นั้น มีกฎหมายคุ้มครองประชาชนอยู่แล้ว หลายฉบับได้แก่
1.พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ.2539 ซึ่งประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากโรงพยาบาล สามารถไปร้องขอความช่วยเหลือได้ โดยร้องขอจากหน่วยงานที่ทำให้เกิดความเสียหายนั้น โดยผู้บังคับบัญชาสูงสุดคือปลัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถรับพิจารณาจ่ายค่าเสียหายให้แก่ประชาชนได้ และถ้าพบว่าเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดนั้น มีความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เมื่อหน่วยงานจ่ายเงินไปแล้ว ก็สามารถไปไล่เบี้ย(เอาคืน)จากเจ้าหน้าที่ได้
แต่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข มิได้ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนตามพ.ร.บ.นี้ กลับปล่อยปละละเลย ให้ประชาชนต้องไปฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเอง
2.พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตรา 41 ที่กำหนดให้ประชาชนที่คิดว่าได้รับความเสียหายจากการไปโรงพยาบาล สามารถไปร้องขอเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ แต่สปสช.เองจ่ายสำหรับการเสียชีวิตและการพิการถาวรเพียงรายละ 200,000 บาท ซึ่งนางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนาอ้างว่าไม่ทำให้ผู้พิการไม่สามารถครองชีพอยู่ได้เพราะจำนวนเงินน้อยไป จึงต้องการร่างพ.ร.บ.คุ้มครองฯ เพื่อจะขอเงินชดเชยเพิ่มขึ้น และอ้างว่า ประชาชนที่ไม่มีสิทธิ์บัตรทอง ไม่สามารถใช้สิทธิ์จากม. 41 นี้ได้ แต่จาการบันทึกของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ / 2552 ได้ระบุไว้ว่า สามารถขยายม.41 นี้ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มได้
ซึ่งเงินช่วยเหลือตามมาตรา 41นี้ สามารถเพิ่มวงเงินได้ เพราะมีเงินเหลืออยู่หลายพันล้านบาท และสามารถขยายขอบเขตไปช่วยเหลือประชาชนให้ครบ 63 ล้านคนได้ โดยพบว่าในปัจจุบัน สปสช.ได้เลือกปฏิบัติแก่ประชาชนอย่างไม่เสมอภาคและไม่เทาเทียมกัน คือให้สิทธิเฉพาะกลุ่มคน 47 ล้านคนเท่านั้น
3. ประชาชนสามารถนำคดีไปฟ้องศาลแพ่ง เพื่อขอเงินชดเชยหรือ ฟ้องศาลอาญาเพื่อจะขยายเวลาคุ้มครองสิทธิในการฟ้องศาลแพ่ง หรือลงโทษอาญาแพทย์ด้วย
การเขียนร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฉบับของกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้นำเสนอค.ร.ม. และนำเข้าบรรจุในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร มีข้อดี/ข้อเสียอย่างไร?
1.หลักการและเหตุผล อ้างว่าจะช่วยให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและเป็นธรรมโดยการจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยความเสียหาย ส่งเสริมให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้รับและผู้ให้บริการสาธารณสุข จัดให้มีการพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายจากบริการสาธารณสุข ทั้งให้ศาลอาจใช้ดุลพินิจในการลงโทษหรือไม่ลงโทษผู้ให้บริการสาธารณสุขในกรณีที่ถูกฟ้องคดีอาญาข้อหากระทำการโดยประมาทด้วย
ชำแหละ(วิจารณ์)  การ จะช่วยประชาชนให้รวดเร็ว ก็ดี
              จัดตั้งกองทุนก็ดี แต่ที่มาของเงินควรจะมาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศคือจากมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และควรมีการกำกับตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของคณะกรรมการ และควรมีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของผู้ที่จะมาเป็นกรรมการด้วย เพื่อให้การใช้เงินกองทุนเกิดประโยชน์สูงสุด
   แต่ถ้าไปดูพ.ร.บ.สินค้าไม่ปลอดภัยหรือพ.ร.บ.วัตถุอันตราย ที่จะต้องมีการชดใช้ค่าเสียหายและค่าปรับ ไม่มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ดำเนินการหรือผู้รับผิดชอบในการครอบครองวัตถุอันตรายหรือสินค้าไม่ปลอดภัยแต่อย่างใด
     ส่งเสริมการไกล่เกลี่ยก็ดี  แต่อาจแสดงว่า กรรมการไม่อยากจ่ายเงินเป็นค่าช่วยเหลือหรือชดเชย แต่จะให้โรงพยาบาลหรือบุคลากรจ่ายเอง และยังกำหนดให้จ่ายค่าตอบแทนผู้ไกล่เกลี่ยอีก
  การพัฒนาระบบความปลอดภัยก็ดี แต่มีคำถามสำคัญคือกระทรวงสาธารณสุขทำไมไม่จัดการพัฒนาระบบการบริการสาธารณสุขให้ปลอดภัยโดยไม่ต้องมีพ.ร.บ.นี้  โดยการจัดทรัพยากรบุคคล เงิน สิ่งของเครื่องมือ เวชภัณฑ์ให้เหมาะสม เพียงพอ มีมาตรฐานและมีประวิทธิภาพ เพื่อปกป้องให้ประชาชนปลอดภัยก่อน  แต่กลับปล่อยปละละเลยให้ประชาชนเสี่ยงความเสียหาย/พิการ/ตาย โดยไม่สมควรตาย ก่อนแล้วจึงมาช่วยเหลือและพัฒนาระบบ

การส่งเสริมให้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้การรักษาก็ดี แต่คำถามสำคัญคือบุคลากรทำงานหนักเหนื่อย เครียด เพราะผู้ป่วยล้นหลาม จึงไม่มีเวลา “สานสัมพันธ์ที่ดี” ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขได้เอาใจใส่ในการแก้ไขให้ผู้รักษาได้ทำงานอย่างเหมาะสม ไม่เหนื่อยไม่เครียด จนอาจเสี่ยงต่อความผิดพลาดเสียหายหรือยัง?
การกำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้ศาลสั่งลงโทษหรือไม่ลงโทษนั้น เป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่? หรือละเมิดอำนาจ(บังอาจสั่งสอนศาล?)
2. มาตรา 3. กำหนดว่า สถานพยาบาลทั้งหมด ไม่ว่าจะสังกัดเอกชน กาชาด กระทรวงศึกษาธิการ มหาดไทย กลาโหม และยังมีอื่นๆที่คณะกรรมการจะประกาศกำหนดได้อีก รวมทั้งยังครอบคลุมบริการทุกประเภทตั้งแต่แพทย์ พยาบาล ผดุงครรภ์ไปจนถึงการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆตามแต่คณะกรรมการจะประกาศกำหนด
ชำแหละ อำนาจกรรมการขยายขอบเขตได้กกว้างขวาง ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ได้บอกกล่าวหน่วยงานหรือองค์กรนั้นๆหรือยัง ว่าจะถูกเรียกเก็บภาษีพิเศษเฉพาะเพิ่มอีกอย่างหนึ่ง?
3. มาตรา 5 ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับเงินโดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด แต่ไปขัดแย้งกับมาตรา 6 (1) (2) และ(3)ที่จะต้องพิสูจน์ว่าถ้าเข้าเกณฑ์ทั้ง 3 วงเล็บนั้น จะไม่จ่ายเงนช่วยเหลือและชดเชย และคณะกรรมการยังสามารถประกาศกำหนดได้อีกว่าจะมีกฎเกณฑ์อย่างไรได้อีก
ชำแหละ การอ้างว่าไม่เพ่งโทษบุคคล และไม่พิสูจน์ถูกผิด จึงไม่เป็นความจริง
4.มาตรา 7 คณะกรรมการมาจากบุคคลที่ไม่มีความรู้ในวิชาชีพเฉพาะเป็นส่วนใหญ่
ชำแหละ กรรมการที่จะมาตัดสินว่าความเสียหายนั้นเกิดจากมาตรา 6 วงเล็บ 1,2,3 หรือไม่ ไม่ใช่ผู้มีความรู้เฉพาะในแต้ละกรณี ถือว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
5.   มาตรา10(1) กำหนดให้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้เสียหาย พัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหาย
ชำแหละ ในปัจจุบันนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ยังไม่สามารถทำตามมาตรา 10(1)ได้เลย ถ้าคณะกรรมการจะมีความสามารถทำได้จริง ก็ควรแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงและอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสาธารณสุขแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข คนปัจจุบัน และให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขด้วย ประชาชนจะได้ปลอดภัย
6.มาตรา 11การประชุมคณะกรรมการใช้การลงคะแนนแบบเสียงข้างมาก
ชำแหละ การตัดสินว่าการรักษาถูกผิดหรือไท่ (ตามมาตรา 6 ) ใช้ลงคะแนนโดยไม่ต้องรู้มาตรฐาน อาศัยความคิดเห็นและความรู้สึกของคณะกรรมการ ไม่ได้อาศัยหลักวิชาการและเหตุผลเชิงประจักษ์ (evidence-based) จึงอาจจะไม่เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ปฏิบัติงานรักษาผู้ป่วย
7. มาตรา 18 ให้คณะกรรมการ คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และคณะอนุกรรมการ  มีอำนาจสั่งให้สถานพยาบาล ผู้เกี่ยวข้อง ส่งหนังสือเอกสาร ข้อมูล ทำหนังสือชี้แจง หรือมาให้ถ้อยคำ
และมาตรา 46 กำหนดโทษว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ชำแหละ พ.ร.บ.นี้น่ากลัวมาก มีอำนาจสั่งและลงโทษสูงกว่าพ.ร.บ.วัตถุอันตรายเสียอีก(ที่กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน)  แสดงว่า บุคลากรทางการแพทย์น่ากลัวกว่า วัตถุอันตรายเช่นโคบอลท์ 60 ที่เป็นสารกัมมันตภาพรังสีเสียอีก
8. มาตรา 20 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นเรียกว่า “กองทุนสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข โดยมีวัตถุประสงค์
  เพื่อไว้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชย ชำระค่าสินไหมตามคำพิพากษาของศาล ใช้จ่ายสนับสนุนหรือส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายตามที่คณะกรรมการอนุมัติ และเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยและการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบสาธารณสุข และยังใช้ข่ายตามมาตรา 16  (จ่ายเป็นค่าเบี้ยประชุมและค่าเดินทาง ค่าที่พักของกรรมการและอนุกรรมการ)และ18 (จ่ายค่าเดินทางและค่าที่พักของผู้มาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการ) และบริหารกองทุนอีกไม่เกิน 10%
ชำแหละ พ.ร.บ.นี้ จะทำให้ผู้มาเป็นกรรมการสามารถใช้เงินกองทุนได้ถึง 10 % เป็นเงินปีละเป็นพันล้านบาท ผู้ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดคือคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.นี้ทุกคณะ
9.มาตรา 21 สถานพยาบาลต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามหลักเกณฑ์และวิธีการและอัตราที่กรรมการประกาศกำหนด ฯ ซึ่งสวรส.(สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) เคยคิดไว้ว่า ผู้ป่วยในรายละ 85 บาท ผู้ป่วยนอกรายละ 5 บาท
ถ้าสถานพยาบาลใดไม่ส่งเงินสมทบจะถูกปรับเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือนหรือเท่ากับดอกเบี้ยร้อยละ 24 ต่อปี
และถ้าสถานพยาบาลใดไม่ส่งเงินและไม่จ่ายค่าปรับ ให้เลขาธิการคณะกรรมการไปฟ้องศาลปกครองเพื่อบังคับให้ชำระเงินดังกล่าว และให้ศาลปกครองมีอำนาจพิพากษาและบังคับคดีให้มีการยึดและอาญัติทรัพย์สินมาชำระเงิน
ชำแหละ รพ.ของรัฐบาลขาดเงินทุนดำเนินงานและเงินทุนหมุนเวียนอยู่แล้ว คงจะไม่มีเงินดำเนินการรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้ดีมีมาตรฐานได้อีก ประชาชนจะได้รับกรรมแน่นอน ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็คงไปเก็บเงินเอาจากประชาชนนั่นเอง
  แต่มีผู้รู้กฎหมายบอกว่า กองทุนนี้จะไปเรียกเก็บเงินจากหน่วยงานของรัฐบาลไม่ได้ เหมือนกับรัฐบาลไปเรียกเก็บภาษีจากหน่วยงานของตนเอง
 อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อก่อนรัฐจ่ายเงินมา 1% ของงบประมาณรายหัวของหลักประกันสุขภาพ ปีละประมาณ 800 ล้านบาท- 1200 ล้านบาทในปัจจุบัน และกองทุนหลักประกันจ่ายเงินช่วยเหลือตามม.41 ไม่ถึง 1.000 ล้านบาท แล้วเงินที่เหลืออีกประมาณ 5,000 ล้านบาทนั้นหายไปไหนหมด ทำไมต้องมาเรียกเก็บจากโรงพยาบาล?
และค่าปรับแพงกว่าดอกเบี้ยธนาคาร อาจเท่ากับดอกเบี้ยนอกระบบที่รัฐบาลกำลังจะปราบอยู่ ทั้งๆที่โรงพยาบาลหรือบุคลากรยังไม่ได้ทำความผิดอะไรเลย
10.มาตรา 25 ให้ขยายอายุความเรียกร้องค่าเสียหายเป็น 3 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายและรู้ตัวผู้ทำให้เกิดความเสียหาย แต่ไม่เกิน 10 ปีนับจากวันที่รู้ถึงความเสียหาย
ชำแหละ  การขยายอายุความมากกว่าพ.ร.บ.วัตถุอันตรายหรือพ.ร.บ.สินค้าไม่ปลอดภัยเสียอีก และกล่าวถึงว่า “เมื่อรู้ตัวผู้ทำให้เกิดความเสียหาย” จึงเท่ากับว่าที่ไม่ต้องรับผิดนั้นไม่อาจเป็นจริง เพราะมีการกล่าวชื่อแล้ว อย่างน้อยก็ถูกสังคม “พิพากษาลงโทษ” ไปก่อนแล้ว จึงต้อง “รับผิด” ตั้งแต่ต้น
11.มาตรา 31ถ้าผู้ยื่นคำขอไม่พอใจกับจำนวนเงินที่คณะกรรมการได้วินิจฉัย มีสิทธิอุทธรณ์ได้
ชำแหละ คณะกรรมการเป็นทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ในองค์คณะเดียว  ไม่เป็นไปตามระบบศาลยุติธรรม
12.มาตรา 33 ถ้าผู้เสียหายพอใจรับเงินชดเชยแล้ว ให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามระเบียบของคณะกรรมการ
ชำแหละ การทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว น่าจะต้องเป็นการสิ้นสุดการเรียกร้อง แต่เปล่าเลย ขอให้อ่านต่อไปว่าประชาชนจะฉีกสัญญาทิ้งและร้องขอเงินอีกก็ได้
13. มาตรา 34 ถ้าผู้เสียหายหรือทายาทไม่ยอมรับเงินชดเชย และไปฟ้องศาล ให้ยุติการดำเนินการพิจารณา และผู้เสียหายหรือทายาทไม่มีสิทธิในการยื่นคำขอตามพ.ร.บ.นี้อีก
แต่ถ้าศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้สถานพยาบาลจ่ายค่าเสียหาย คณะกรรมการจะจ่ายเงินจากกองทุนนี้หรือไม่ก็ได้
ถ้าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดยกฟ้อง คณะกรรมการอาจพิจารณาจ่ายค่าเสียหายให้หรือไม่ก็ได้
ชำแหละ วรรคที่1 และวรรคที่ 3 ของมาตรา 34 ขัดแย้งกันเอง คือวรรคแรกบอกว่าถ้าไปฟ้องศาลให้ยุติการดำเนินการตามพ.ร.บ.นี้ แต่วรรค 3 บอกว่า กรรมการจะจ่ายเงินอีกก็ได้
14.มาตรา 37หลังจากการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 33 แล้ว แต่ถ้าผู้เสียหายเกิดรู้ว่ามีความเสียหายอีก ก็ให้ยื่นขอรับเงินชดเชยได้อีกภายใน 3 ปีนับจากวันที่รู้ถึงความเสียหาย และรู้ตัวผู้ให้บริการสาธารณสุข แต่ไม่เกิน 10ปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลัง
ชำแหละ นี่ขนาดทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ยังร้องเรียนขอรับความเสียหายได้อีกตลอดชีวิต เพราะจะอ้างว่ารู้ความเสียหายเมื่อไรก็ไดการร้องเรียนและฟ้องร้องจะทำได้อย่างกว้างขวางและยาวนานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตรงกันข้ามกับหลักการและเหตุผลในการเขียนพ.ร.บ.นี้
15.มาตรา 38 ให้มีการไกล่เกลี่ย และการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้ และค่าตอบแทนผู้ไกล่เกลี่ยให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
ชำแหละ มาตรานี้หมายความว่า กองทุนจะไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยหรือช่วยเหลือ แต่จะตั้งคนมาไกล่เกลี่ย ให้โรงพยาบาลจ่ายเงินชดเชยเอง และยังต้องจ่ายเงินตอบแทนผู้ไกล่เกลี่ยด้วย
 แล้วเก็บเงินจากโรงพยาบาลเข้ากองทุนไปแล้ว  แต่ไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายใช่ไหม? แถมจะต้องให้โรงพยาบาลจ่ายค่าตอบแทนผู้ไกล่เกลี่ยที่เป็นคนของคณะกรรมการด้วยใช่ไหม?
16.มาตรา 42 ให้คณะกรรมการประเมินเงินชดเชย วิเคราะห์สาเหตุแห่งความเสียหาย เพื่อแจ้งให้โรงพยาบาลทราบจะได้พัฒนาระบบความปลอดภัย และป้องกันความเสียหาย
ชำแหละ  คณะกรรมการประเมินเงินชดเชย มีแต่คนนอกวงการแพทย์ จะรู้สาเหตุแห่งความเสียหายที่แท้จริงได้อย่างไร?น่าสงสัยนัก
17.มาตรา 44 สถานพยาบาลที่ได้พัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายตามที่คณะกรรมการกำหนด คณะกรรมการอาจสั่งให้ลดอัตราการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนก็ได้
ชำแหละ ถ้าสถานพยาบาลใดไม่มีการฟ้องร้องเลย น่าจะไม่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนจึงจะถูกต้องเหมาะสมและเป็นธรรม
18.มาตรา 45 ถ้าผู้ให้บริการสาธารณสุขถูกฟ้องเป็นคดีอาญา ศาลอาจพิจารณาจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือจะไม่ลงทษเลยก็ได้
ชำแหละ พ.ร.บ.นี้มีอำนาจสั่งการทำงานของศาลได้ด้วยหรือ?
19.มาตรา 46 ผู้ไม่ทำตามคำสั่งคณะกรรมการ อนุกรรมการตามมาตรา 18 ถูกสั่งจำคุกได้ สั่งปรับได้
ชำแหละ คณะกรรมการนี้มีอำนาจเหมือนศาล โดยไม่ต้องเรียนกฎหมาย ไม่ต้องสอบเป็นผู้พิพากษา ถ้าไม่เรียกว่าตั้งศาลเตี้ยแล้ว จะให้เรียกว่าอะไร? เปรียบเทียบกับพ.ร.บ.วัตถุอันตราย คณะกรรมการสั่งจำคุกได้ไม่เกิน 1 เดือนเท่านั้น อสดงว่าพวกบุคลากรสาธารณสุขนี้ เป็นอันตรายต่อประชาชนมากกว่าโคบอลท์ 60 ในพ.รงบ.วัตถุอันตราย เสียอีก
20.มาตรา 49 ถ้าเคยได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว ก็ยังมีสิทธิมาร้องขอเงินชดเชยได้อีก ถ้ายังไม่ขาดอายุความ 10ปีตามมาตรา 25
ชำแหละ การร้องเรียนและฟ้องร้องจะไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีประมาณกำหนดได้ จะขยายมากมายเป็น 10ปีตามมาตรา 25 แลละอีกหลาย 10ปี ตามมาตรา37
21. มาตรา 50 ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการตามพ.ร.บ.นี้ โดยให้มีกรรมการNGO ด้านบริการสุขภาพ 6 คน ใน 11 คน อีก 5 คนก็อาจจะเป็นพวกสนับสนุนการเขียนพ.ร.บ.นี้
ชำแหละ กรรมการอีก 5 คนก็อาจจะเป็นพวกสนับสนุนการเขียนพ.ร.บ.นี้นั่นเอง
กรรมการในบทเฉพาะกาลนี่แหละกำหนดตัวกรรมการถาวรชุดแรกได้เลย และก็จกำหนดตัวกรรมการสืบทอดถาวรได้ตลอดกาล(ไม่ใช่เฉพาะกาล) กรรมการเหล่านี้ก็คงมาเขียนข้อบังคับ ระเบียบการบริหารงาน และระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนกรรกมา และมาใช้เงินกองทุน 10 %ไปดูงานเมืองนอก และอำนวยประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง ไปตลอดการ เรียกว่า ชงเอง กินเอง และส่งต่อไปให้พรรคพวกลูกหลานยกินต่อไป
ประชาชนที่จะได้ประโยชน์จากพ.ร.บ.นี้ก็คือกลุ่มที่เขียนพ.ร.บ.และจะมาเป็นกรรมการกองทุนนี้เท่านั้น
ส่วนประชาชนนั้นจะเสียประโยชน์อะไรบ้างจากพ.ร.บ.นี้
1.   ในรพ.รัฐบาล ประชาชนจะได้รับการบริการที่เลวลง ไม่มีมาตรฐาน เพราะขาดงบประมาณซื้อยา เนื่องจากสำนักงบประมาณบอกว่า ไม่มีเงินจ่ายเพิ่มให้โรงพยาบาลอีกแล้ว(จากบันทึกการประชุมคณะกรรมการกฤษฎ๊กาเรื่องที่740-741/2552) ปัจจุบันโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขก็ขาดแคลนงบประมาณอยู่แล้ว ถ้าต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนตามรายหัวผู้ป่วย สปสช.ก็คงจะตัดเงินค่าหัวให้น้อยลงไปอีก.ในขณะที่ปัจจุบันก็ได้มาแค่หัวละ600 บาทต่อปี ไม่เท่ากับที่สปสช.ไปขอมาจากรัฐบาล
2.     ประชาชนจะถูกส่งไปรักษายังโรงพยาบาลใหญ่ๆมากขึ้น อาจจะไม่ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลอำเภอและโรงพยาบาลจังหวัด เนื่องจากแพทย์ขาดความมั่นใจในการรักษา เพราะผู้ป่วยที่เสียหายจากการรักษาไม่ว่าจะเป็นเพราะสาเหตุอะไร ถ้ากรรมการตัดสินใจจ่ายเงินชดเชย ก็จะแสดงว่าแพทย์ทำผิด (ตามมาตรา 6) โดยผู้ตัดสินไม่มีความรู้ทางวิชาชีพเฉพาะ ฉะนั้นแพทย์ก็คงเลือกส่งผู้ป่วยไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลที่มีมาตรฐานดีที่สุดคือในคณะแพทยศาสตร์ต่างๆ ผู้ป่วยอาจเสียเวลาเดินทางไปพบแพทย์มากขึ้น และอาจสูญเสียเวลานาทีทองที่จะรอดชีวิต
3.   จำนวนบุคลากรแพทย์ของโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขจะยิ่งลดลงจากที่ขาดแคลนอยู่แล้วก็คงจะขาดแคลนยิ่งขึ้น เนื่องจากแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขอาจจะลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น เนื่องจากการทำงานในกระทรวงสาธารณสุขนั้นเสี่ยงต่อการทำผิดมาตรฐานทางการแพทย์ เพราะผู้ป่วยมาก บุคลากรน้อย เตียงไม่พอนอน ผู้ป่วยหนักที่ควรจะต้องอยู่ ICU ก็ไม่มีเตียง ICU.   ให้นอน เสี่ยงต่อการทำให้ผู้ป่วยตายโดยไม่สมควรตาย ฉะนั้นแพทย์ขอลาไปอยู่เอกชน จะได้มีเตียงพอรับผู้ป่วยได้ตามมาตรฐาน มีบุคลากรทางการแพทย์เพียงพอที่จะรักษาผู้ป่วยได้ตามมาตรฐาน ลดความเสี่ยงของประชาชนได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
4.   ส่วนผู้ป่วยที่ต้องไปโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข คงต้องส่งไปรักษากับปลัดกระทรวงและผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุขแทน เพราะ คงมีเวลาและความรู้ความเชี่ยวชาญในการรักษาผู้ป่วยได้ดีมีมาตรฐาน ไม่ต้องเสี่ยงกับความเสียหายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ แล้วท่านทั้งหลายที่กล่าวมานี้ จะยินดีให้ออกพ.ร.บ.ที่มีความขัดแย้งกันเองในแต่ละมาตรา และเลือกปฏิบัติอย่างนี้หรือไม่
5.   ผู้ป่วยที่ไปโรงพยาบาลเอกชนต้องจ่ายเงินมากขึ้น เพราะแพทย์คงต้องส่งตรวจทุกอย่างเท่าที่จะมีเทคโนโลยีทำได้ เพื่อเอาไว้เป็นพยานเอกสาร ถ้าจะต้องเขียนรายงานส่งคณะกรรมการ