ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อเรียกร้องจากมติ สมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท.ฯ และองค์กรแพทย์ทั่วประเทศ  (อ่าน 2038 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
             
เรื่อง   ข้อเรียกร้องจากมติ สมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท.ฯ  และองค์กรแพทย์ทั่วประเทศ 
ฉบับที่ ๑
กราบเรียน    ฯพณฯ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฎ์
           ผ่าน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  นายแพทย์ไพจิตร์   วราชิต
ฉบับที่ ๒
กราบเรียน    ฯพณฯ  นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ   

   จากมติการประชุมสมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท.ฯ และองค์กรแพทย์ทั่วประเทศ  ผู้ให้บริการประชาชนในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขได้โปรดพิจารณาและดำเนินการดังต่อไปนี้
 
                  ๑.   ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งวางมาตรการช่วยเหลือประชาชนแบบรูปธรรมโดยตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบที่เกิดจากการรับบริการ เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์ตลอดจนติดตามช่วยเหลือทั้งผู้รับบริการและผู้ให้การรักษาในสังกัด สธ.แบบครบวงจร (One Stop Service :Call Center) โดยสมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท.ฯ และองค์กรแพทย์ทุกแห่งจะให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อ วางระบบช่วยเหลือ,ติดตามดูแลผู้เสียหาย รวบรวมข้อมูล,วิเคราะห์แก้ไขจุดอ่อนของระบบปัจจุบันโดยเอาผู้เสียหายเป็นที่ตั้ง ให้เป็นไปตาม พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ แสดงให้สังคมเห็นความตั้งใจ และจริงใจของกระทรวงสาธารณสุขในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแบบเป็นรูปธรรม

                 ๒.   ขอให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้นำในการแถลงข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบว่า  การแพทย์ที่ของ สธ.ออกมาเคลื่อนไหวนั้น เกิดจากการมีความทุกข์จากผลกระทบต่อระบบที่จะเกิดจากการออก ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ....ที่เนื้อหาไม่สมบูรณ์ โดยแพทย์ทุกคนต่างตั้งใจทุ่มเทดูแลผู้เจ็บป่วยเป็นภารกิจหลักอยู่แล้ว มิได้คัดค้านการช่วยเหลือผู้เสียหายใดๆ ทั้งนี้กลไกรายมาตราในร่างพ.ร.บ.ฯ จะสร้างปัญหาต่อการให้ผู้ป่วยอย่างมาก เพราะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสถานพยาบาลตั้งแต่ระดับรพ.ชุมชนจนถึงรพ.ศูนย์ และรพ.ทั่วไปแทบทุกแห่ง เพราะสาเหตุจากระบบของ สธ.เอง ยังมีข้อจำกัด,ความขาดแคลน และมาตรฐานที่แตกต่างกันมากในแต่ละแห่ง ทั้งยังไม่มีการเตรียมการปรับปรุงแก้ไขระบบเพื่อรองรับผลกระทบจาก พ.ร.บ.กองทุนฯ ฉบับนี้แบบเป็นรูปธรรมในช่วงที่ผ่านมาเลย  กลุ่มแพทย์ผู้ปฏิบัติจริงมองเห็นผลกระทบเหล่านี้ทุกวันต่างมีความเป็นห่วงกังวลต่อคนไข้  จึงร้องขอให้ทบทวนร่าง พ.ร.บ.กองทุนฯฉบับนี้ในส่วนที่ไม่สอดคล้องกับระบบ ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงและก่อปัญหากระทบต่อผู้ป่วยให้ได้รับแก้ไขเสียก่อนไม่ให้เกิดวิกฤติเช่นในต่างประเทศ รวมทั้งป้องกันปัญหาอัมพาตระบบบริการในระยะยาว           
   ที่ประชุมจึงขอให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้บริหารสูงสุดฝ่ายข้าราชการฝ่ายข้าราชการประจำ ผู้นำขององค์กรและบุคลากรทางสาธารณสุขซึ่งปฏิบัติงานตรวจรักษาผู้ป่วยอยู่ทั่วทั้งแผ่นดินไทย ทำความเข้าใจต่อสื่อมวลชน,ประชาชนและรัฐบาล ให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า แพทย์และเจ้าหน้าที่ในสธ.ทุกคนยังคงยึดมั่นต่อประโยชน์ของผู้ป่วย ตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชบิดาฯเสมอมา ไม่สมควรให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดโดยการให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนด้านเดียวจากคนบางกลุ่มที่มุ่งหวังผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มตน โดยไม่พิจารณาปัญหา,ข้อเท็จจริงและเหตุผล ทำให้ภาพลักษณ์ของแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขยุคนี้ตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบ ๖๘ ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งกระทรวงฯใน พ.ศ.๒๔๘๕ และจัดตั้งทีมประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงต่อเนื่องต่อสาธารณชน

                 ๓. ขอให้มีการตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบจากพ.ร.บ.กองทุนฯต่อระบบบริการทุกระดับ  ที่จะต้องแก้ไขระบบคุณภาพรองรับข้อกฎหมายตามกลไกใน พ.ร.บ.นี้ ท่ามกลางความขาดแคลน ให้ทราบว่าจะเกิดปัญหาใดบ้างในที่ใด ทั้งการสูญเสียบุคลากรจากระบบที่ไม่พร้อม ผลจากการร้องเรียนขอค่าเสียหายมากขึ้น ผลต่อโรงพยาบาลนับร้อยแห่งที่ถูกตัดงบประมาณจากรัฐบาลต่อเนื่องมาหลายปี จนงบขาดดุลบัญชีอย่างหนักติดค้างทั้งค่ายาและค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ ขั้นวิกฤติว่าที่ใดที่อาจต้องลดระบบบริการหรือถึงปิดโรงพยาบาลที่ไม่สามารถสร้างมาตรฐานตามเจตนารมณ์กฎหมายนี้ เพื่อศึกษาปัญหาล่วงหน้าและนำมาวางแผนแก้ไขแบบเป็นรูปธรรมให้สังคมรับทราบ ตลอดจนทำโครงการคู่ขนานแก้ปัญหาไปพร้อมๆกันทั้ง ปัญหาคุณภาพการบริการ มาตรฐานเวลาและภาระการทำงานที่เหมาะสม,การขาดแคลนแพทย์-พยาบาลและอัตราบรรจุ ของ กพ. สวัสดิการบุคลากร และปัญหาระบบการส่งต่อเป็นต้น ตลอดจนพัฒนาความรู้ด้านกฎหมายในบุคลากรไปพร้อมกัน

   ๔. ระยะเร่งด่วนขอให้ดำเนินการขยายความคุ้มครองในส่วนเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ตามมาตรา๔๑ ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯจากที่ครอบคลุม ๔๖ ล้านคนให้เป็น ๖๓ล้านคน คือรวม ข้าราชการ,ประกันสังคมและรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่สามารถทำได้โดยมติคณะรัฐมนตรี ให้ทุกคนอุ่นใจภายใต้มาตรฐานเดียวกันหลังจากที่อยู่ในสองมาตรฐานมานานกว่า ๗ ปี ตามคำแนะนำของ กรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา และประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพ สปสช. ที่นำเรียนฯพณฯนายกรัฐมนตรีไปแล้วว่าสามารถทำได้ภายใน ๑ เดือน  ทั้งนี้หากจำนวนเงินช่วยเหลือสูงสุด (๒๐๐,๐๐๐บาท) น้อยไป กฎหมายให้อำนาจการขยายเพดานวงเงินช่วยเหลือเบื้องต้นทำได้โดย รมว.สธ. โดยใช้วงเงินเหลือในงบประมาณ เช่นในปี ๒๕๕๒ มีวงเงินที่กันได้(๑%) จำนวน ๑,๐๐๐ล้านบาทนั้นถูกใช้เพียง ๗๓ ล้านบาท สามารถนำมาเยียวยาประชาชนเพิ่มได้ทั้งขยายวง และเพิ่มเพดานโดย ไม่ต้องตั้งงบประมาณใหม่แต่ประการใด เพื่อเป็นการแสดงความห่วงใยประชาชนของรัฐบาลที่จะคุ้มครองคนไทยทุกคนที่ได้รับความเสียหายเบื้องต้นจากการรับบริการสาธารณสุขเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งสามารถกระทำได้ทันทีที่มีมติคณะรัฐมนตรี
   จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดทราบและพิจารณาดำเนินการต่อไป เพื่อนำความร่มเย็นเป็นสุขของสังคมและประชาชนชาวไทยทั้งประเทศกลับคืนมา ลดข้อขัดแย้งด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล สร้างความรอบคอบรอบด้านในการออกกฎหมายให้มีเวลาทบทวนผลกระทบ โดยผู้เสียหายต้องได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว ขณะที่สร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายในสังคม บนระบบสาธารณสุขไทยที่ยังขาดแคลนให้ยังคงเดินต่อและพัฒนาได้ เพื่อประชาชนทั้งมวลอย่างแท้จริงมิใช่เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
   หากผลการพิจารณาเป็นประการใด  กรุณาแจ้งกลับมายังตัวแทนแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยของกระทรวงสาธารณสุข ในนามสมาพันธ์แพทย์ รพศ/รพท.ฯ และองค์กรแพทย์ทั่วประเทศ เพื่อทราบด้วย และขอขอบพระคุณแทนประชาชนไทยมา  ณ  โอกาสนี้
                                                     ขอแสดงความเคารพอย่างยิ่ง