ผู้เขียน หัวข้อ: คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกรมบัญชีกลาง เรื่อง ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ(เมื่อปี 2550)  (อ่าน 7777 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด


บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

เรื่อง การเบิกค่ารักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับ
การรักษาพยาบาล กรณีการกำหนดอัตราค่าบริการสาธารณสุขและการกำหนดขั้นตอนในการควบคุมการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ

                                
กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค ๐๔๑๗/๐๗๗๑๗ ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๐ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความว่า สืบเนื่องจากปัจจุบันการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ผู้รับเบี้ยหวัด/บำนาญ รวมถึงบุคคลในครอบครัว ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. ๒๕๒๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติมในระบบการเบิกจ่ายเงินตามบริการที่สถานพยาบาลเรียกเก็บ (Fee for service) มีอัตราสูงขึ้นทุกปี  ดังนั้น เพื่อให้การใช้จ่ายเงินของแผ่นดินในการดำเนินการด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลเป็นไปโดยถูกต้อง มีวินัย คุ้มค่า โปร่งใส และสามารถตรวจสอบ ควบคุมได้ กรมบัญชีกลางโดยได้รับมอบอำนาจจากกระทรวงการคลัง จึงได้มีการดำเนินการดังนี้

๑. จัดทำอัตราการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยกำหนดอัตราค่าบริการสาธารณสุขเพื่อใช้สำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ และประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๙

๒. ควบคุมการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ โดย

๒.๑ ได้พัฒนาระบบและแนวทางการตรวจสอบ ในการอนุมัติการใช้ยารักษาโรคมะเร็งที่มีราคาสูงก่อนการเบิกจ่าย (Pre authorization) ให้ครอบคลุมทั้งการบริการ รักษาพยาบาลผู้ป่วยภายนอกและผู้ป่วยภายใน ในผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด มะเร็ง เม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งลำไส้ชนิด Gastrointestinal stromal tumor และ/หรือ มะเร็งเต้านม

๒.๒ กำหนดแนวทางการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งจะประกาศบัญชีรายการยาที่ให้เบิกจ่ายได้พร้อมกำหนดเงื่อนไขการเบิกจ่ายไว้ และยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติประเภทใดที่กระทรวงการคลังมิได้ประกาศ หรือมีการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ห้ามนำมาเบิกจ่ายในสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อดำเนินการแล้ว

กรมบัญชีกลางเห็นว่า การดำเนินการในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ และการพัฒนาระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่อง แม้ว่าวัตถุประสงค์หนึ่งในหลายประการ คือ การควบคุมค่าใช้จ่าย แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักการว่า ต้องไม่เป็นการลิดรอนสิทธิที่ได้รับอยู่เดิม นอกจากนี้ต้องอยู่ในขอบเขตของพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. ๒๕๒๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่สามารถดำเนินการได้ด้วย  ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมาย จึงขอหารือดังนี้

๑. การดำเนินการจัดทำอัตราค่าบริการสาธารณสุขเพื่อใช้สำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวข้างต้นตามข้อ ๑ ได้อาศัยกรอบอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๑ (๑) ซึ่งบัญญัติว่า การจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอย่างอื่นซึ่งมิใช่เป็นการตรวจสุขภาพประจำปีให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และอัตรา ดังนี้

(๑) ผู้ที่เข้ารับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลของทางราชการทั้งประเภทผู้ป่วยภายนอกหรือผู้ป่วยภายในให้เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง  ทั้งนี้ กระทรวงการคลังอาจกำหนดอัตราให้เบิกได้ต่ำกว่าจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงก็ได้ ซึ่งพิจารณาประกอบกับนิยามตามมาตรา ๔ ที่บัญญัติว่า ค่ารักษาพยาบาล หมายความว่า เงินที่สถานพยาบาลเรียกเก็บในการรักษาพยาบาล ดังนี้

(๑) ค่ายา ค่าเลือดและส่วนประกอบของเลือดหรือสารทดแทน ค่าน้ำยา หรืออาหารทางเส้นเลือด ค่าออกซิเจน และอื่นๆ ทำนองเดียวกันที่ใช้ในการบำบัดรักษาโรค

(๒) ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค รวมทั้งค่าซ่อมแซม

(๓) ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าตรวจ ค่าวิเคราะห์โรค แต่ไม่รวมถึงค่าจ้างผู้พยาบาลพิเศษ ค่าธรรมเนียมพิเศษ และค่าบริการอื่นทำนองเดียวกันที่มีลักษณะเป็นเงินตอบแทนพิเศษ

(๔) ค่าห้องและค่าอาหารตลอดเวลาที่เข้ารับการรักษาพยาบาล

(๕) ค่าตรวจสุขภาพประจำปี

กรณีการดำเนินการดังกล่าวอยู่ในขอบเขตของพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่สามารถดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร

๒. พระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. ๒๕๒๓ และ ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๔ บัญญัติว่า ค่ารักษาพยาบาล หมายความว่า เงินที่สถานพยาบาลเรียกเก็บในการรักษาพยาบาลดังนี้

(๑) ค่ายา ค่าเลือดและส่วนประกอบของเลือดหรือสารทดแทน ค่าน้ำยา หรืออาหารทางเส้นเลือด ค่าออกซิเจน และอื่นๆ ทำนองเดียวกันที่ใช้ในการบำบัดรักษาโรค

                                  ฯลฯ                                         ฯลฯ

กรณีการพัฒนาระบบและแนวทางการตรวจสอบในการอนุมัติการใช้ยารักษาโรคมะเร็งที่มีราคาสูงก่อนการเบิกจ่าย รวมทั้งการกำหนดแนวทางการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติดังกล่าวข้างต้นตามข้อ ๒ ซึ่งเป็นการกำหนดขั้นตอนในการควบคุมการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ จะสอดคล้องกับนิยามของคำว่า ค่ารักษาพยาบาล หรือไม่ อย่างไร
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 มิถุนายน 2012, 01:23:17 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
เรื่องเสร็จที่ 333/2550

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๒) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมบัญชีกลาง โดยได้รับฟังคำชี้แจงของผู้แทนกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) และผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานปลัดกระทรวงและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ) แล้ว มีความเห็นดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ที่ว่า กรมบัญชีกลางจะกำหนดอัตราค่าบริการสาธารณสุขเพื่อใช้สำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๑ (๑) แห่งพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. ๒๕๒๓ สามารถกระทำได้หรือไม่ นั้น  เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา ๑๑ (๑) [๑] แห่งพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. ๒๕๒๓ ที่บัญญัติว่า ผู้ที่เข้ารับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลของทางราชการทั้งประเภทผู้ป่วยภายนอกหรือผู้ป่วยภายในให้เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง  ทั้งนี้ กระทรวงการคลังอาจกำหนดอัตราให้เบิกได้ต่ำกว่าจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงก็ได้แล้ว เห็นว่า หลักการของบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์ให้ผู้ที่เข้ารับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลของทางราชการทั้งประเภทผู้ป่วยภายนอกหรือผู้ป่วยภายในเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง โดยกำหนดข้อยกเว้นไว้ว่ากระทรวงการคลังอาจกำหนดอัตราให้เบิกค่ารักษาพยาบาลต่ำกว่าจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงก็ได้  ดังนั้น การที่กรมบัญชีกลางจะกำหนดอัตราค่าบริการสาธารณสุขเพื่อใช้สำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ โดยกำหนดไว้ในข้อ ๔[๒]  ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราค่าบริการสาธารณสุขเพื่อใช้สำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ ว่า ค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการให้เบิกได้ตามหลักเกณฑ์และอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินวงเงินตามรายการอัตราค่าบริการสาธารณสุขที่กำหนด จึงสามารถกระทำได้

อย่างไรก็ดี แม้จะเห็นว่า กรมบัญชีกลางสามารถกำหนดอัตราค่าบริการสาธารณสุขเพื่อใช้สำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการได้ก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๒) มีข้อสังเกตว่า หลักการของพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลมีเจตนารมณ์ที่จะให้สวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลแก่ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวของผู้มีสิทธิ  ทั้งนี้ เพื่อเป็นการจูงใจและตอบแทนผู้ปฏิบัติงานภาครัฐ ซึ่งโดยสภาพความเป็นจริงได้รับค่าตอบแทนค่อนข้างต่ำกว่าภาคอื่นๆ และไม่สามารถปรับตามสภาวะเศรษฐกิจได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้หากทางราชการเห็นว่าเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลเรียกเก็บมีอัตราสูงขึ้นทุกปีและต้องการควบคุมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว โดยการกำหนดอัตราค่าบริการสาธารณสุขเพื่อใช้สำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ ซึ่งปัญหาในเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะสถานพยาบาลของทางราชการมีการเรียกเก็บค่าบริการสาธารณสุขแตกต่างกัน การแก้ปัญหาจึงสมควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข และสถานพยาบาลแต่ละแห่งจะได้ร่วมกันพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ในอันที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาให้มีมาตรฐานตรงกันและสอดคล้องกับสิทธิการได้รับค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ  โดยมิใช่เป็นการลดสิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการซึ่งจะกระทบต่อค่าตอบแทนของข้าราชการที่ได้รับในอัตราต่ำอยู่แล้ว

ประเด็นที่สอง ที่ว่า กรมบัญชีกลางจะอาศัยอำนาจตามนิยามคำว่า ค่ารักษาพยาบาล ในมาตรา ๔[๓] แห่งพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลฯ เพื่อกำหนดขั้นตอนในการควบคุมการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติได้หรือไม่นั้น เห็นว่า สิทธิของข้าราชการในการที่จะได้รับการรักษาพยาบาลเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. ๒๕๒๓ การใดที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือการตัดสิทธิแล้ว ต้องกำหนดให้อำนาจกระทำได้ไว้อย่างชัดเจน ดังนั้น การที่กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางอาศัยเพียงนิยามของคำว่า ค่ารักษาพยาบาล ในส่วนของ (๑) ค่ายา เพื่อใช้ในการกำหนดขั้นตอนในการควบคุมการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจะกำหนดให้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติประเภทใดที่กระทรวงการคลังมิได้ประกาศ หรือมีการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ห้ามนำมาเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ นอกจากนี้ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่แพทย์ผู้ทำการรักษาด้วยยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่มีค่าใช้จ่ายสูง ๖ ชนิดในผู้ป่วย ๗ กลุ่ม ซึ่งกำหนดเงื่อนไขให้โรงพยาบาลต้องดำเนินการจัดทำแผนการรักษา ต้องแจ้งชื่อแพทย์ผู้รักษา ต้องมีการลงทะเบียนผู้ป่วยและต้องแจ้งข้อมูลไปยังกรมบัญชีกลาง รวมทั้งให้โรงพยาบาลต้องขออนุมัติการใช้ยาเพื่อรักษาผู้ป่วยก่อน ถ้าไม่ได้รับอนุมัติให้ใช้ยาในการรักษาแพทย์ก็จะไม่สามารถใช้ยาได้ หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้างต้น โรงพยาบาลจะไม่สามารถเบิกค่ารักษาตรงจากกรมบัญชีกลางได้ และไม่สามารถออกใบเสร็จให้ผู้มีสิทธิมาเบิกค่ารักษาจากต้นสังกัดได้เช่นกัน ซึ่งแตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมที่กรมบัญชีกลางได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการเบิกจ่ายค่ายาในสถานพยาบาลของทางราชการไว้สำหรับกรณีการเบิกค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติให้เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการแพทย์ของแต่ละสถานพยาบาลในการกำหนดผู้มีอำนาจลงนามในหนังสือรับรอง การกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนเงื่อนไขตามประเด็นที่หารือมา เป็นการกำหนดขั้นตอนเงื่อนไขที่เป็นการตัดสิทธิของผู้มีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลได้เต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงตามมาตรา ๑๑[๔] (๑) แห่งพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลฯ ถือเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ในฐานะหน่วยเบิกจ่ายเงินสวัสดิการ อีกทั้งยังไม่มีฐานอำนาจตามกฎหมายอันจะกล่าวอ้างได้  ดังนั้น จึงเห็นว่า การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนการควบคุมการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติตามที่กรมบัญชีกลางหารือมาเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้จึงไม่สามารถกำหนดได้


(ลงชื่อ)   พรทิพย์  จาละ
(คุณพรทิพย์  จาละ)
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
............................................................
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
พฤษภาคม ๒๕๕๐

  ส่งพร้อมหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๙๐๑/๐๖๙๒ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

[๑]มาตรา ๑๑  การจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอย่างอื่นซึ่งมิใช่เป็นการตรวจสุขภาพประจำปีให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และอัตรา ดังนี้

 (๑) ผู้ที่เข้ารับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลของทางราชการทั้งประเภทผู้ป่วยภายนอกหรือผู้ป่วยภายในให้เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง  ทั้งนี้ กระทรวงการคลังอาจกำหนดอัตราให้เบิกได้ต่ำกว่าจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงก็ได้

ฯลฯ                                          ฯลฯ

[๒]ข้อ ๔ ค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการให้เบิกได้ตามหลักเกณฑ์และอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินวงเงินตามรายการอัตราค่าบริการสาธารณสุขที่แนบท้ายนี้

[๓]มาตรา ๔  ในพระราชกฤษฎีกานี้

ค่ารักษาพยาบาล หมายความว่า เงินที่สถานพยาบาลเรียกเก็บในการรักษาพยาบาล ดังนี้

(๑) ค่ายา ค่าเลือดและส่วนประกอบของเลือดหรือสารทดแทน ค่าน้ำยา หรืออาหารทางเส้นเลือด ค่าออกซิเจน และอื่นๆ ทำนองเดียวกันที่ใช้ในการบำบัดรักษาโรค

(๒) ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค รวมทั้งค่าซ่อมแซม

(๓) ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าตรวจ ค่าวิเคราะห์โรค แต่ไม่รวมถึงค่าจ้างผู้พยาบาลพิเศษ ค่าธรรมเนียมพิเศษ และค่าบริการอื่นทำนองเดียวกันที่มีลักษณะเป็นเงินตอบแทนพิเศษ

ฯลฯ                                          ฯลฯ

[๔] โปรดดูเชิงอรรถที่ ๑ , ข้างต้น

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
มติ ครม ใหญ่กว่ากฤษฎีกา?

วันที่ 19 มิถุนายน 2555       
                                                                                                                                         
​วันนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. ณ โรงแรมรอยัล คลิฟ โฮเต็ล กรุ๊ป พัทยา จ.ชลบุรีนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ 

​จากนั้น นางสาวศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด  นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา  และนายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
...............

5.  เรื่อง  มาตรการเกี่ยวกับระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์

​คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการเกี่ยวกับระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ รวมทั้งหน่วยงานรับผิดชอบตามที่คณะกรรมการกำหนดระบบบริหาร เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์เสนอ เพื่อให้จัดทำแผนการดำเนินงานงบประมาณ รวมถึงเป้าหมายการลดค่าใช้จ่ายที่เป็นรูปธรรมในการดำเนินงานตามระยะเวลาที่กำหนด และมอบหมายให้คณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา  เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ติดตามกำกับการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเป็นระยะ

​สาระสำคัญของเรื่อง

​รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2555 ได้มีมติเห็นชอบในการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ รวมทั้งมอบหมายหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบมาตรการที่ได้กำหนดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้

​1. การควบคุมกำกับการใช้ยาให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและคุ้มค่าในระบบประกันสุขภาพ

​ ​1.1 การมีกลไกกลางในการเจรจาต่อรองราคายาที่มีราคาแพง โดยเฉพาะรายการยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่มีราคาแพงและมีผู้จำหน่ายรายเดียว มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

​1.2 มาตรการควบคุมการกำกับการเบิกจ่ายค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติและยาต้นแบบในระบบประกันสุขภาพ ได้แก่ การกำหนดเป้าหมายการลดค่าใช้จ่าย การกำหนดอัตราอ้างอิง การเบิกจ่ายยากลุ่มเป้าหมาย การปรับโครงสร้างชดเชยค่ายาและค่าบริการ ระบบสารสนเทศข้อมูลการเบิกจ่ายและการสั่งจ่ายยา มอบหมายให้กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

​1.3 นโยบายส่งเสริมการใช้ยาในบัญชียาหลักและยาชื่อสามัญ ได้แก่ การกำหนดเป้าหมายการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ/ยาชื่อสามัญ การมีระบบประกันสุขภาพยา ชื่อสามัญที่มีจำหน่ายในท้องตลาด การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งกรมในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

​1.4 การกำหนดแนวเวชปฏิบัติและข้อบ่งชี้การใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติในยากลุ่มเป้าหมายที่มีมูลค่าการใช้จ่ายสูง รวมถึงข้อบ่งชี้การตรวจวินิจฉัยโรคและการรักษาด้วยเทคโนโลยีราคาแพง มอบหมายให้กรมการแพทย์ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ และราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายสุขภาพ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

​    1.5 การกำหนดกลไกกลางในการตรวจสอบการเบิกจ่ายและการจ่ายยา มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักร่วมกับสำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง

​2. การพัฒนาบัญชียาและรหัสยามาตรฐานเพื่อสนับสนุนการบริหารเวชภัณฑ์ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักร่วมกับศูนย์พัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (ศมส.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง รวมทั้งสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน

​3. การปรับอัตราการจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมให้เป็นเอกภาพระหว่างกองทุน มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง นักวิชาการ/ราชวิทยาลัย รวมทั้งสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน

​4. การวิจัยและพัฒนารูปแบบการจ่ายแบบตกลงราคาล่วงหน้าบริการผู้ป่วยนอก ทั้งในลักษณะต่อครั้งต่อคนที่สอดคล้องกับต้นทุนและยกระดับคุณภาพการดูแลโรคเรื้อรัง เพื่อเป็นมาตรฐานและใช้ร่วมกันระหว่างกองทุนประกันสุขภาพต่าง ๆ อันจะนำมาซึ่งความยั่งยืนในการควบคุมค่าใช้จ่ายระยะยาว มอบหมายให้ศูนย์พัฒนาโรคร่วมไทย เครือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
999/38 วิภาวดีรังสิต 60 หลักสี่ กทม. 10210

22 มิถุนายน 2555

เรื่อง  ขอให้ดำเนินการแก้ไขการลิดรอนสิทธิ์ในสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการโดยด่วน

เรียน  นายกและคณะกรรมการสมาคมข้าราชการพลเรือนอาวุโส

 จากข่าวไทยรัฐออนไลน์(1)นั้น ครม.ได้มีการตั้งคณะกรรมการบริหารยาแห่งชาติ  มีนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ซึ่งนายวิทยา บุรณศิริได้ให้สัมภาษณ์ตามข่าวไทยรัฐออนไลน์วันที่ 17 มิถุนายน 2555 ว่า ครม.ได้แต่งตั้งให้ตนเองเป็นประธานคณะกรรมการบริหารยา เพื่อกำหนดการใช้ยาอย่างเหมาะสม โดยจะเน้นให้ใช้ยาเฉพาะใน"บัญชียาหลักแห่งชาติ"เท่านั้น โดยอ้างว่า "เพื่อประหยัดงบประมาณ"

 การทำเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราการ  จนไปก้าวก่ายการ "ประกอบวิชาชีพอิสระของแพทย์

  ในปัจจุบันนี้ มีความพยายามที่จะทำให้ "กองทุนสุขภาพ 3กองทุน" คือกองทุนข้าราชการ กองทุนประกันสังคมและกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำให้แพทย์ต้อง"ขออนุญาตกรรมการที่ไม่ใช่แพทย์" ในการสั่งจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยที่แพทย์ดูแลรักษา และเป็นการ “ลิดรอน สิทธิ์ข้าราชการ” โดยที่สำนักงานกฤษฎีกาก็ได้วินิจฉัยแล้วว่ากรมบัญชีกลางใช้อำนาจเกินขอบอำนาจที่กฎหมายกำหนดไว้ (อ้างถึงบันทึกคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะที่2) เรื่องเสร็จที่ 330/2550

 การที่ครม.มีมติให้ตั้งคณะกรรมการบริหารยา เพื่อกำหนดการใช้ยาอย่างเหมาะสม โดยเน้นการควบคุมการใช้ยานอกบัญชียาหลัก ตามที่นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะกรรมการบริหารยาให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่าแนวโน้มการใช้ยาในบัญชียาหลักมากขึ้นถึง 65% และกลัวว่าจะเพิ่มมากกว่า 65% โดยนายวิทยาอ้างว่าค่ายาของคนไทยเพิ่มมากขึ้นจาก 31%ในปี2542 เป็น 46%ในปีพ.ส. 2551  และพบว่ากลุ่มที่ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการเป็นกลุ่มที่ใช้ยานอกบัญชียาหลักถึง 65% แทนที่จะคิดว่า ทำไมแพทย์จึงใช้ยานอกบัญชียาหลักถึง 65% เป็นเพราะว่ายาในบัญชียาหลักอาจมีไม่ครอบคลุมการรักษาที่มีมาตรฐานและทันสมัยในปัจจุบัน นายวิทยาฯในฐานะประธานกรรมการยากลับมี “ความเห็นตรงกันข้าม” คือจะ “ควบคุมการใช้ยานอกบัญชียาหลัก ทั้งๆที่นายวิทยาฯเองก็ไม่มีความรู้ทางการแพทย์ และจะเห็นว่าจากรายชื่อของคณะกรรมการส่วนใหญ่นั้นเป็นนักเศรษฐศาสตร์ หรือเป็นผู้บริหารกองทุน (ที่บางคนอาจจะเป็นแพทย์ แต่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมมานานแล้ว จึงไม่น่าจะเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคระดับสูง ) มิใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการด้านการแพทย์เฉพาะทาง ที่มีความรู้ความเข้าใจที่เหมาะสมและทันสมัยกับวิทยาการแพทย์และการรักษาโรคสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลแต่อย่างใด

 จึงเห็นได้ว่าคณะกรรมการชุดนี้ คงจะใช้ความ "จำกัดของเม็ดเงินงบประมาณ" เป็นหลักการสำคัญในการกำหนดการ "ใช้ดุลพินิจของแพทย์" ในการ "สั่งการรักษาแก่ผู้ป่วยเฉพาะราย"

 การกระทำเช่นนี้ ย่อมเกิดผลกระทบที่เลวร้ายของ "คุณภาพการรักษาหรือคุณภาพทางการแพทย์"ของประเทศไทยอย่างแน่นอน แสดงว่ารัฐบาลไทยกำลังเห็นคุณภาพชีวิตของประชาชน "ด้อยค่ากว่าเม็ดเงิน" แทนที่ผู้ป่วยจะหายจากอาการเจ็บป่วย แต่เมื่อได้รับการรักษาที่ด้อยมาตรฐาน ก็จะทำให้เชื้อดื้อยา กลายเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง คุณภาพชีวิตเลวลง และประชาชนที่มีโรคย่อมไม่สามารถ"ผลิตรายได้หรือทำงานเพื่อพึ่งพาตนเองได้ แต่ต้องตกเป็นภาระของครอบครัว" ฉะนั้นการที่ผู้บริหารหรือรัฐบาลไทย จะเป็นผู้กำหนดการใช้ยาแทนผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เสียเอง ย่อมเป็นผลเสียหายแก่สุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยอย่างแน่นอน

  ประชาชนที่พอจะมีเงินอยู่บ้าง ก็คงจะหันไปใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชน ที่คงจะเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับผู้มีฐานะดี และชาวต่างชาติ  แต่ประชาชนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่มีเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการที่ยอมทำงานเงินเดือนน้อยเพราะหวังที่จะได้รับการดูแลรักษาเมื่อเจ็บป่วยหรือแก่ชรา ก็คงจะได้รับการดูแลรักษาสุขภาพแบบ "ด้อยมาตรฐาน" เพราะไม่สามารถได้รับยาที่เหมาะสมที่สุดในการรักษาความเจ็บป่วยของตน

   นอกจากนั้นนายวิทยา บุรณศิริยังกล่าวว่าเขามีแผนการระยะยาวที่จะให้ 3 กองทุนสุขภาพพัฒนารูปแบบการจ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบตกลงราคาล่วงหน้าเป็นแบบเหมาจ่ายรายหัวแบบประกันสังคมและแบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่าในระบบเหล่านั้น มีการ "จำกัดการใช้ยา จำกัดการรักษาเป็นเพียงบางอย่าง" และการให้งบประมาณที่ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น มีผลให้โรงพยาบาลที่ต้องรับภาระการรักษาผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพประสบกับการขาดทุน ไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐาน การแพทย์ที่ดี  เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ และผู้ที่ได้รับผลเสียหายจากการที่โรงพยาบาลไม่มีเงินมาจัดหายาที่เหมะสมในการรักษาก็คือประชาชนที่ใช้สิทธิ์ในการรักษาพยาบาลจากกองทุนเหล่านี้นั่นเอง

ในส่วนของการจะกำหนดแนวทางเวชปฏิบัติโดยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ กรมการแพทย์และราชวิทยาลัยต่างๆ ก็เป็นแนวทางที่สมควรจะทำมานานแล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ เป็นผู้กำหนดแนวทางการใช้ยาที่เหมาะสม มีประสิทธิผลสูงสุด และควรจะมีการทบทวนแนวทางเวชปฏิบัติทุกๆ 2 ปี เพื่อให้แนวทางการรักษาทางการแพทย์ มีประสิทธิผลสูงสุดทันยุค ของการแพทย์แผนปัจจุบัน

 ที่สำคัญก็คือ รัฐบาลควรจะกำหนดว่า "ยาที่จะให้ในแต่ละกองทุน" มียาอะไรบ้าง ส่วนยาที่นอกเหนือจากนี้ ก็ควรให้ผู้ใช้สิทธิในแต่ละกองทุนรับรู้ว่า จะต้อง"จ่ายเงินค่ายา" เพิ่มเติม ไม่ใช่ "ห้าม" แพทย์จ่ายยาที่เหมาะสม แต่ในขณะเดียวกันกองทุนหลักประกันสุขภาพฯกลับไปโฆษณา "ว่ารักษาได้ทุกโรค"ทั้งๆที่ไม่เป็นความจริง ทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังสูงกว่าความเป็นจริง และทำให้ประชาชนกล่าวโทษผู้รักษาและร้องขอค่าช่วยเหลือหลังการรักษามากขึ้น(และจำนวนเม็ดเงินชดเชยก็มากขึ้นด้วย)เหมือนปัจจุบัน

  ฉะนั้นแทนที่รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินค่าช่วยเหลือผู้ป่วยหลังจากการรักษาที่ไม่ได้ผลดี รัฐบาลควรจะจัดงบประมาณให้มีการรักษาที่มีคุณภาพดี หรือให้ประชาชนร่วมจ่ายเพื่อให้ได้รับการรักษาที่ดี เพื่อจะไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยโดยไม่จำเป็น
ผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อน และถูกลิดรอนสิทธิ์จากโครงการของนายวิทยา บุรณศิริ ประธานกรรมการบริหารยาและคณะกรรมการ ที่คงจะเร่งรีบดำเนินการให้เกิดผลโดยเร่งด่วนในการที่จะลดรายการยาของผู้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการก็คือกลุ่มข้าราชการบำนาญ ที่ยังชีพอยู่ด้วยเงินบำนาญเพียงเล็กน้อย ก็จะถูกทอดทิ้งไม่ให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม และก็คงไม่มีรายได้พอจะไปซื้อยาที่ดีๆมารักษาอาการป่วยเหมือนเดิม

  จึงเห็นว่าสมาคมข้าราชการพลเรือน/ทหาร/ตำรวจ อาวุโส ต้องดำเนินการฟ้องศาลปกครองโดยด่วน เพื่อไม่ให้คณะกรรมการบริหารยาและกรมบัญชีกลางได้ทำการละเมิดและลิดรอนสิทธิ์ข้าราชการเกินอำนาจที่กฎหมายกำหนดอีกต่อไป ทั้งนี้เพื่อไม่ให้สุขภาพและคุณภาพชีวิตของข้าราชการต้องได้รับความเดือดร้อนเสียหายมากยิ่งขึ้น

ขอแสดงความนับถือ


พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
สมาชิกสมาคมข้าราชการพลเรือนอาวุโส

เอกสารอ้างอิง
1.ข่าวไทยรัฐออนไลน์ 17 มิ.ย. 55
นายกฯ มอบ รมว.สธ.เป็นประธานกรรมการบริหารยา กำหนดมาตรการการใช้ยาอย่างเหมาะสม คุ้มค่า บูรณาการร่วม 3 กองทุน‏ เน้นควบคุมการเบิกจ่ายยานอกบัญชีหลัก ห่วงแนวโน้มเพิ่ม 65%

thailand

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 25
    • ดูรายละเอียด
กรมบัญชีกลางจะตัดสิทธิ์ จนพวกเราคนธรรมดาจะไม่มีสิทธิ์แล้ว ยังมาเข้มงวดในการใช้ยา ในการรักษาของแพทย์อีก

ถ้าเราไม่ช่วยเหลือกัน แล้วใครเล่าจะช่วยเหลือเรา

แพทย์ ข้าราชการ ประชาชน  เราต้องรวมตัวกันซะที เพื่อแสดงจุดยืนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ที่.....


https://www.facebook.com/pages/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87-%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%99/252362108219014