ผู้เขียน หัวข้อ: ชมรมแพทย์ชนบท ยื่นองค์กรอิสระตรวจสอบพฤติกรรมไม่โปร่งใส 2 บิ๊กก.สาธารณสุข  (อ่าน 1087 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด

ผู้สื่อข่าว รายงานว่า วันนี้ ( 19 มิถุนายน 2555 ) ชมรมแพทย์ชนบท   ได้ยื่นหนังสือต่อ ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา  ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมมาธิการสาธารณสุข  และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)  เรื่องขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข/  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  อันอาจส่อเจตนา  เอื้อให้เกิดการทุจริต และ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
 
   

หนังสือร้องเรียนระบุว่า  ชมรมแพทย์ชนบทได้รับเรื่องร้องเรียนจากเพื่อนสมาชิกและหน่วยงานหลายแห่ง ถึงพฤติกรรมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข/ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อันอาจส่อเจตนาเอื้อให้เกิดการทุจริต และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้บริหารหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ดังกรณีต่อไปนี้
 

1. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้บริหารหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขและส่อเจตนาเอื้อให้เกิดการทุจริต กรณีโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan : DPL) ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555
 
 
 
 
 
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 อนุมัติให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan : DPL)ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555  จำนวน 3,426,349,100 บาท และได้มีมติเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ขอให้ส่วนราชการทบทวนความจำเป็น เหมาะสมคุ้มค่าของการดำเนินการโครงการดังกล่าว เพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง และเมื่อวันที่ 7  กุมภาพันธ์  2555 คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนความจำเป็นเหมาะสมและแจ้งยืนยันไปที่กระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป

 
 
 
 
แต่ผู้บริหารทั้ง 2 คนกลับไม่ใส่ใจ ในมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว คราวการประชุมคณะรัฐมนรตรีเมื่อวันที่  12 มิถุนายน  2555  กระทรวงการคลังจึงขอให้คณะรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขยืนยันการใช้งบประมาณภายในวันที่  15  มิถุนายน  2555  และหากไม่แจ้งยืนยันภายในกำหนด กระทรวงการคลังจะได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ให้โครงการอื่นที่มีความจำเป็นต่อไป
 
   

 
 
อนึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการเงินกู้ที่รัฐบาลได้กู้เงินจากต่างประเทศตั้งแต่ก่อนปีงบประมาณ 2554    ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยให้ต่างประเทศนับตั้งแต่วันที่กู้เงินมา ดังนั้นรัฐบาลควรที่จะได้ลงทุนในงบประมาณที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ของประชาชนคนไทยทุกคนที่ร่วมกันจ่ายภาษีให้กับรัฐบาล
 
   

 
 
กระทรวงสาธารณสุขมีหน่วยงาน/สถานบริการโรงพยาบาลกว่า 900 แห่ง ที่ขาดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาโรคต่อประชาชนคนไทยมากว่า 10 ปี ทำให้ขาดแคลนครุภัณฑ์การแพทย์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่อยู่ในชนบท กระทรวงสาธารณสุขซึ่งได้บทเรียนมาจากโครงการ  ไทยเข้มแข็งรอบแรก จึงได้ดำเนินการพิจารณาขอรับการสนับสนุนงบประมาณครั้งนี้อย่างเป็นระบบ นับตั้งแต่การจัดทำดัชนีเครื่องมือแพทย์ และปรับลดราคาเครื่องมือแพทย์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และเปิดให้มีการประกวดราคาอย่างโปร่งใสเป็นธรรม ตามระเบียบพัสดุฯ โดยเคร่งครัด จนแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 โดยไม่เกิดปัญหาร้องเรียนใด ๆ
 


 
 
จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 และเมื่อวันที่  7  กุมภาพันธ์  2555 ขอให้ส่วนราชการทบทวนความจำเป็น เหมาะสมคุ้มค่าของการดำเนินการโครงการดังกล่าว เพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง จนบัดนี้ระยะเวลาผ่านไปกว่า    6 เดือน กระทรวงสาธารณสุขกลับไม่ดำเนินการใด ๆ จนทำให้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2555 สำนักบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังได้ขีดเส้นตายให้กระทรวงสาธารณสุขยืนยันถึงความจำเป็นอีกครั้ง แต่กระทรวงสาธารณสุขกลับไม่ดำเนินการใด ๆ อันอาจส่งผลให้งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขที่จะนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านจัดหาครุภัณฑ์การแพทย์ที่จะมาใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพมาตรฐานตกไป ทำให้โรงพยาบาลขาดแคลนครุภัณฑ์การแพทย์ ขาดมาตรฐาน กลายเป็นโรงพยาบาลอนาถา ขาดความน่าเชื่อถือการยอมรับจากประชาชน นำมาซึ่งการล้มเหลวของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในท้ายที่สุด



 
 
จากเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าโครงการ DPL มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เนื่องจาก กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ตั้งงบประมาณในการจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ในปีงบประมาณ  2555 แต่อย่างใด  และในขณะนี้เวลาได้ผ่านมาจนกระทั่งจะหมดเวลาการใช้จ่ายเงินแล้ว (30 กันยายน 2555) หากแต่ รมต. สาธารณสุข ยังไม่ยอมนำเรื่องเข้า ครม. จึงชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รมต. และปลัดกระทรวงสาธารณสุขทั้ง  2  คนนี้ ไม่คำนึงถึงความจำเป็นในการใช้เครื่องมือแพทย์เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วย ขาดคุณธรรม จริยธรรม และมนุษยธรรม ไม่เห็นความสำคัญของการมีชีวิตรอดของประชาชน ซึ่งขาดคุณสมบัติของการเป็น รมต.สาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่สามารถนำความปลอดภัยในชีวิตให้ประชาชนผู้เสียภาษีให้รัฐได้ อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาให้หน่วยงานมีคุณภาพมาตรฐาน เนื่องจากงบประมาณก้อนนี้เป็นงบประมาณก้อนเดียวที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาหน่วยบริการสาธารณสุขในปีงบประมาณ 2555 เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีใด ๆ ดังกล่าว
 
 
 
 
 
 ในขณะที่กระทรวงศึกษาธิการซึ่งได้งบประมาณมากกว่า กระทรวงสาธารณสุขกว่า 2 เท่าตัว และได้ยืนยันกับคณะรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม 2554 บัดนี้ได้ลงนามเซ็นสัญญา และติดตั้งครุภัณฑ์ไปเกือบทั้งหมดแล้ว   โดยในส่วนนี้โรงพยาบาลรักษาสัตว์ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กลับได้รับเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยเหมือนกับที่ใช้ในคน เช่นเครื่อง CT Scan, MRI เครื่องมือรักษามะเร็งฯลฯ กว่า 400 ล้านบาท เพื่อไปรักษาสัตว์ แต่กระทรวงสาธารณสุขกลับไม่ยอมยืนยันถึงความจำเป็นและขออนุมัติงบประมาณนี้กับคณะรัฐมนตรี ทำให้งบประมาณอาจตกไป หรือบริษัทอาจไม่ยืนราคา ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต พิการ ทุพลภาพ จากการขาดโอกาสใช้เครื่องมือแพทย์ที่มีความจำเป็นดังกล่าว
 


 
 
การล่าช้าครั้งนี้ชมรมแพทย์ชนบทได้รับเรื่องร้องเรียนว่า ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขมีการกระทำบางประการที่ขัดกับระเบียบพัสดุฯ  ไม่กระทำการในลักษณะของการบริหารจัดการภาครัฐที่ดี โดยกระทำการในลักษณะใช้อำนาจในการอนุมัติเพื่อเรียกร้องสิ่งที่ไม่พึงได้ อันอาจเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตได้

 
 
 
 
จากการกระทำดังกล่าวชมรมแพทย์ชนบทเห็นถึงความทุกข์ยากลำบากของประชาชน จึงไม่อาจปล่อยให้ประชาชนต้องเจ็บป่วยล้มตายจากการขาดเครื่องมือแพทย์ดังกล่าว จึงได้เป็นตัวแทนในการไปบากหน้าร้องขอให้รายการเรื่องเล่าเช้านี้และเรื่องเล่าเสาร์ อาทิตย์ ต้องระดมเงินรับบริจาคจากประชาชน เพื่อนำไปจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ

 
 
2. ส่อเจตนาเอื้อให้เกิดการทุจริตงบค่าเสื่อมระดับประเทศตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปีงบประมาณ 2555
 
 
 
 
 
 ตามที่ทราบเป็นอย่างดีถึงการเกิดวิกฤติการณ์น้ำท่วม ทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูเยียวยาหน่วยงานและประชาชนที่ถูกน้ำท่วม แต่กระทรวงสาธารณสุขภายใต้การบริหารงบประมาณงบลงทุน (ค่าเสื่อมระดับประเทศ) ของปลัดกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กลับใช้งบประมาณดังกล่าวอย่างไม่เป็นไปโดยประหยัดและมีประสิทธิภาพ อันอาจมีเจตนาเอื้อให้เกิดการทุจริต ซ้ำรอยกรณีโครงการงบไทยเข้มแข็งฉาวภาคแรก กล่าวคือได้มีการตั้งงบประมาณเครื่องมือแพทย์ไม่ซ้ำกับรายการงบ DPL (เพราะโครงการนี้ตั้งงบประมาณค่าครุภัณฑ์ไว้ค่อนข้างต่ำ ) และไม่เกรงกลัวการตรวจสอบ เช่นตั้งงบประมาณจัดซื้อเครื่องซักผ้าระบบอุโมงค์จำนวน 39.3 ล้านบาท ทั้งที่เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2555 DSI เพิ่งเข้าไปตรวจสอบวชิรพยาบาล ในสังกัดกรุงเทพมหานคร และรับไว้เป็นคดีพิเศษ ซึ่งอาจส่อเจตนาทุจริตในราคา 34 ล้านบาท ตลอดจนกรณีการอนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อเครื่อง Real time PCR (เครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม)กว่า 5 เครื่อง ในราคาเครื่องละ 8.5 ล้านบาท ทั้งที่หลายหน่วยงานเพิ่งดำเนินการลงนามในสัญญาเพียงราคาเครื่องละ 3.5-4.3 ล้านบาทเท่านั้น เป็นต้น
 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้บริหารทั้ง 2 คน โดยเร่งด่วน ก่อนที่งบประมาณภาษีของรัฐจะถูกนำไปใช้อย่างไม่สมประโยชน์ ได้ผลประการใดหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาแจ้งให้ชมรมแพทย์ชนบททราบด้วย จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง


 ทั้งนี้ หนังสือร้องเรียน ดังกล่าว ลงชื่อ นายเกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ  ประธานชมรมแพทย์ชนบท


มติชน