ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.คุมเข้มเครื่องสำอาง หวั่นปนเปื้อนจุลินทรีย์  (อ่าน 1071 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คุมเข้มเครื่องสำอางทั่วประเทศทั้งนำเข้าและผลิตในประเทศ หวั่นปนเปื้อนจุลินทรีย์ ทำให้ผิวหนังอักเสบเกิดการติดเชื้อ แนะซื้อที่มีฉลากบอกรายละเอียดชัดเจนตามร้านที่มีหลักแหล่ง...

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2555 นางจุรีภรณ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายกันอย่างกว้างขวางทุกภูมิภาคของประเทศ มีทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ จากรายงานการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ทางห้องปฏิบัติการสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ตั้งแต่เดือนต.ค. 2553 - ก.ย. 2554 รวม 452 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ 34 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 7.5 และตั้งแต่เดือนต.ค. 2554 - มี.ค. 2555 รวม 198 ตัวอย่าง พบปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 4.0

ทั้งนี้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดในเรื่องปริมาณแบคทีเรีย ยีสต์ รา และต้องไม่พบจุลินทรีย์ก่อโรค ชนิด ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา(Pseudomonas aeruginosa) สตาฟิโลค็อคคัส ออเรียส (Staphylococus aureus) แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) และคลอสตริเดียม (Clostridium spp.)ในเครื่องสำอาง จึงได้มอบหมายให้สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย จัดอบรมเรื่อง การควบคุมและตรวจสอบคุณภาพเครื่องสำอางด้านจุลชีววิทยา ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่ง เพื่อให้การควบคุมและตรวจสอบคุณภาพเครื่องสำอางมีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

ด้านนางหรรษา ไชยวานิช ผู้อำนวยการสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กล่าวว่า หากใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่ได้คุณภาพในบริเวณที่มีบาดแผล หรือเข้าตา อาจทำให้มีอาการคัน ระคายเคืองผิวหนัง เกิดการติดเชื้อ และอักเสบได้ โดยความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับ บริเวณบาดแผลที่ติดเชื้อ การล้างทำความสะอาดบริเวณติดเชื้อ รวมถึงผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีฉลาก ระบุชื่อและประเภทสารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิตหรือผู้นําเข้าครั้งที่ผลิตเดือนปีที่ผลิต และต้องซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุซึ่งสังเกตได้จากผลิตภัณฑ์มีลักษณะเหลวผิดปกติ มีการแยกชั้น หรือจับเป็นก้อน ตกตะกอน สีเปลี่ยน มีกลิ่นเหม็น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบริเวณที่มีผิวหนังอักเสบ หรือมีสิว บาดแผล และบริเวณรอบดวงตา

นอกจากนี้ภายหลังการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแต่ละครั้งควรสังเกตอาการผิด ปกติ เช่น มีอาการแพ้ เป็นผื่นแดงบวมและคันหรือไม่ หากมีอาการผิดปกติควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

ไทยรัฐ