ผู้เขียน หัวข้อ: อย.เตือนอย่าหลงเชื่อน้ำบาดาลรักษาโรค-ช่วยชายปึ๋งปั๋ง  (อ่าน 1005 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
อย.เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ กรณีที่มีข่าวว่าน้ำบาดาลสามารถรักษาโรคเบาหวานและช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศชาย...

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2555 นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยกรณีมีข่าวทางหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ ว่าพบแหล่งน้ำบาดาลมีแร่ธาตุ ได้แก่ วานาเดียม (Vanadium) และซีลีเนียม (Selenium) โดยอ้างผลการวิจัยว่าแร่ธาตุดังกล่าวสามารถใช้รักษาและบรรเทาอาการโรคเบาหวาน ตลอดจนเพิ่มสมรรถภาพทางเพศให้แก่เพศชาย ว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบว่า แร่ธาตุที่พบในแหล่งน้ำบาดาลดังกล่าวคือ วานาเดียม มีประโยชน์ช่วยให้ร่างกายดูดซึมกลูโคสได้มากขึ้น และช่วยในการทำงานของอินซูลิน ส่วนซีลีเนียม เป็นแร่ธาตุที่ทำงานร่วมกับวิตามินอี และเสริมฤทธิ์ในการทำงานของวิตามินอี รักษาเนื้อเยื่อต่างๆ ส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกายให้เป็นไปตามปกติ แม้ว่าแร่ธาตุทั้ง 2 ชนิด จะเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ แต่จะพบอยู่ในอาหารที่บริโภคอยู่แล้ว ซึ่งหากบริโภคน้ำแร่ที่มีแร่ธาตุซีลีเนียมเกิน 0.4 มิลลิตร/วัน อาจทำให้เกิดอาการผมร่วง ผิวหนาขึ้น ระบบลำไส้ทำงานผิดปกติ และฟันผุ

นอกจากนี้ การบริโภคน้ำแร่จากน้ำบาดาลที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจมีการปนเปื้อนของสารหนู แคดเมียม โครเมียม ตะกั่ว ปรอท และจุลินทรีย์ก่อโรค เป็นต้น ซึ่งหากบริโภคสะสมเข้าไปในปริมาณมาก และในระยะเวลานาน อาจทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ แร่ธาตุซีลีเนียม ยังมีอยู่ในอาหารประเภทต่างๆ เช่น เครื่องในสัตว์ ปลา หอย ข้าวต่างๆ ที่ยังไม่ได้สี กระเทียม เห็ด บร็อกโคลี่ หัวหอม มะเขือเทศ เป็นต้น สำหรับแร่ธาตุวานาเดียม มีอยู่ในอาหารประเภทเนื้อปลา และพริกไทยดำ เป็นต้น

เลขาธิการ อย. กล่าวอีกว่า อย.สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำบาดาล เนื่องจากทรัพยากรน้ำมีจำกัด สำหรับการบริโภคน้ำจากแหล่งน้ำบาดาล โดยทั่วไปนั้นสามารถบริโภคได้ แต่ควรเป็นน้ำแร่ที่ได้ตรวจสอบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้ว และไม่ควรคาดหวังว่าการบริโภคน้ำที่มีแร่ธาตุดังกล่าวจะสามารถช่วยรักษาโรคต่างๆ ทั้งนี้ หากมีปัญหาสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ เพื่อจะได้ไม่เสียโอกาสในการรักษาโรคให้หาย หากผู้บริโภคพบเห็น การจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย หรือพบเห็นโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่หลอกลวงผู้บริโภค โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ขอให้แจ้งร้องเรียนมายังสายด่วน อย.1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ.
 
ไทยรัฐ