ผู้เขียน หัวข้อ: ภาคประชาชนยื่นจม.ถึงยิ่งลักษณ์ค้านเก็บ 30 บ. เจรจารพ.เอกชนหยุดเก็บเพิ่มจากผู้ป่วยเรื่องฉุกเฉิน  (อ่าน 1021 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยื่นหนังสือถึงยิ่งลักษณ์เรียกร้องทบทวนเก็บเงิน 30 บ. ชี้ทำให้ประชาชนรู้สึกด้อยค่าเหตุต้องชี้แจงไม่พร้อมจ่ายเพราะยากจน เผยปัญหาฉุกเฉิน 3 กองทุน ยังไม่รวมผู้ประสบภัยจากรถ แนะดึงเข้าร่วมให้เป็นมาตรฐานเดียว ส่วนรพ.เอกชนที่มีปัญหาเรียกเก็บเงินเพิ่มให้รัฐบาลเร่งเจรจาชดเชยให้เหมาะสม
 
 
นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า วันนี้(11 มิ.ย.) กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนการร่วมจ่าย 30 บ. และพัฒนาระบบเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน ทั้งนี้ขอชื่นชมรัฐบาลที่ได้ประกาศนโยบายที่ก้าวหน้าในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ ซึ่งหากทำได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพประชาชนก็จะได้รับประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันทราบว่าในการประชุมบอร์ดสปสช.ในวันที่ 13 มิ.ย.ที่รมว.สธ.เป็นประธานนั้น จะมีการพิจารณาเรื่องการร่วมจ่าย 30 บาท
 
 ทางกลุ่มฯเห็นว่า การเร่งรัดนำนโยบายเก็บเงินค่าธรรมเนียม ร่วมจ่าย ที่หน่วยบริการทุกครั้งที่ไปรับบริการ ครั้งละ 30 บาท นั้นถือว่าขัดแย้งกับนโยบาย “ลดความเหลื่อมล้ำ” เพราะการเก็บเงินจะส่งผลกระทบต่อคนจน ถึงคนจนที่สุด มากกว่าคนทีมีรายได้ประจำและคนรวย  ถึงแม้จะมีการยกเว้นประชาชนบางกลุ่ม ประชาชนที่ยากจน จุดนี้คือข้ออ่อนที่สุดคือทำให้ประชาชนไปรับบริการด้วยศักดิ์ศรีที่ด้อยค่า เพราะต้องชี้แจงทุกครั้งว่าไม่พร้อมจ่ายเพราะยากจน  รัฐบาลไม่ควรทำให้มีสองมาตรฐานในนโยบายเดียวกัน
 
 
 ส่วนการดำเนินนโยบาย”ฉุกเฉิน” ยังมีปัญหาสำคัญ 2 ประการ คือ 1.การบูรณาการ 3 กองทุนยังไม่รวมกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ ทำให้มีการเรียกเก็บเงิน แล้วให้ประชาชนไปติดต่อเบิกคืนเอง ซึ่งยุ่งยาก และเป็นอุปสรรคต่อการรักษาอย่างทันท่วงที  2.ยังมีรพ.เอกชนบางส่วน ไม่ยอมรับการจ่ายเงินที่ DRGs ละ 10,500 บาท ทำให้มีการเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ป่วย หรือรับรักษาเพียงเพื่อให้พ้นภาวะฉุกเฉิน และรีบส่งกลับ โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมของผู้ป่วยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้
 
1.ทบทวนการเก็บเงิน 30 บาท อย่างรอบคอบ เปิดโอกาสให้ประชาชนให้ความเห็นต่อบอร์ดสปสช.อย่าฟังความเห็นจากกลุ่มหมอให้บริการเพียงกลุ่มเดียว
 
2.ให้รัฐบาลดำเนินการให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) สนองนโยบายนี้อย่างเร่งด่วน โดยดึงกองทุนผู้ประสบภัยเข้าร่วมนโยบายฉุกเฉิน 3 กองทุน
 
3.ให้รัฐบาลเร่งเจรจาและหาแนวทางการจัดการร่วมกันกับ รพ.เอกชนเพื่อให้สนองนโยบายนี้ โดยให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทุกกองทุน ต้องรักษาผู้ป่วยจนสิ้นสุดการรักษา โดยผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่าย พร้อมทั้งต้องให้ความมั่นใจกับหน่วยบริการว่ารักษาแล้วจะได้รับการชดเชยที่เหมาะสม

มติชน