ผู้เขียน หัวข้อ: สวนสวรรค์ของฉลาม-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 3250 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าฉลามมีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ ทั้งแววตาแบบฆาตกรต่อเนื่อง ยิ้มแสยะอวดฟันเกเต็มปาก และความบ้าคลั่งดุร้ายยามขย้ำเหยื่อ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราไม่เคยรู้สึกว่าฉลามเป็นสัตว์ที่น่ารักเลย และนักเขียนก็ไม่ช่วยแก้ภาพลักษณ์ให้เท่าไรนัก เฮอร์แมน เมลวิลล์ นักเขียนชื่อดังแห่งศตวรรษที่สิบเก้าผู้นิยมเล่าเรื่องท้องทะเล บรรยายว่าฉลามเป็น "จอมตะกละตัวซีดที่ชอบกินเนื้อเหวอะหวะ" มี "ปากเต็มไปด้วยฟันคมดุจใบเลื่อย" "ลำตัวเขย่าขวัญ" และ "ส่วนหัวอัปลักษณ์"

     เมลวิลล์เห็นฝูงฉลามรุมขย้ำซากวาฬ "เนื้อเหวอะหวะ" อย่างตะกละตะกลามหลายครั้งตลอดหลายปีที่รอนแรมบนเรือล่าวาฬ ซึ่งอธิบายว่าทำไมเขาจึงมีมุมมองที่อคติต่อสัตว์ชนิดนี้ แต่หมู่เกาะบาฮามาสอาจเปลี่ยนใจเขา

     ในช่วงกลางทศวรรษ 1930 เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ซึ่งขนเครื่องพิมพ์ดีดและคันเบ็ดมาปลีกวิเวกที่หมู่เกาะแห่งนี้ ได้แรงบันดาลใจให้เขียนเรื่องเกี่ยวกับปลา การตกปลา และการเล่นเรือใบ เขาเคยโดนฉลามแย่งกินปลาที่สาวเบ็ดขึ้นมาไม่ทัน (เฮมิงเวย์ยิงฉลามระบายแค้นและเผาซากบนชายหาดไปหลายตัว) แม้จะคอยประณามหยามเหยียดฉลามอยู่เสมอ แต่เฮมิงเวย์ก็เขียนถึงมันอย่างชื่นชมอยู่บ้าง

     นวนิยายเรื่อง เฒ่าผจญทะเล (The Old Man and the Sea) ซานติอาโกพูดถึงฉลามปากหมาที่โผล่ขึ้นมาหายใจว่า "รูปร่างของมันช่างสวยงาม ถ้าไม่นับปาก...มันไม่ใช่สัตว์กินซากหรือสัตว์ที่หาอาหารยามหิวเท่านั้น... แต่สวยและสง่า ทั้งยังไม่รู้จักหวาดกลัวอะไรเลย" หมู่เกาะบาฮามาสยังคงสภาพเหมือนเมื่อครั้งที่เฮมิงเวย์เคยสัมผัส ผืนน้ำสีคราม ใสสะอาด และอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ส่วนใหญ่ของกลุ่มเกาะซึ่งประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่และเกาะปริ่มน้ำ (cays) ราว 700 เกาะกระจัดกระจายอยู่ห่างจากรัฐฟลอริดาไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 800 กิโลเมตร ที่นี่ยังไม่มีการพัฒนาทางอุตสาหกรรม ชนพื้นเมืองยังดำรงชีพด้วยขายกุ้งมังกรบาฮามาส ปลากะพง และหอยสังข์ นักตกปลายังตกปลากระบอกยนจากพื้นทราย และได้ปลากระโทงและปลากระโทงร่มจากลิ้นแห่งมหาสมุทร หรือหุบเหวเย็นยะเยือกใต้ทะเลลึก 1,829 เมตร ฉลามก็ยังอยู่ที่นี่เช่นกัน

     เฉพาะจุดดำน้ำไทเกอร์บีชก็มีฉลามเสือร่วมสิบตัวว่ายวนอยู่ในลักษณาการที่ไม่เหมือนแร้ง แต่เหมือนปลาตะเพียนเหนือเปลของทารกมากกว่า ดวงตาสีเข้มที่ระแวดระวังมีขนาดเท่ากำปั้น ลายจุดจางๆและวงกลมบนผิวหนังดูละม้ายลายผ้าบาติก ว่ากันว่าฉลามเสือดุร้ายรองจากฉลามขาว มันกินทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฉลามชนิดอื่น ป้ายทะเบียนรถ หรือยางรถยนต์ ฉลามเสือเพศเมียขนาดใหญ่ตัวหนึ่งผละออกจากฝูงและว่ายเข้ามาใกล้ฉันจนเห็นรูขุมขนตรงปลายจมูก ที่ช่วยให้มันรับพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าจากสิ่งมีชีวิตอื่น

     เมื่อร่างมหึมานั้นเคลื่อนผ่านมาถึงเงียบๆ ฉันก็ยื่นมือไปลูบลำตัวซึ่งเหมือนกระดาษทรายเนื้อละเอียด มันว่ายวนกลับไปรวมกับฝูงอย่างสงบและมั่นใจ สำหรับปลาที่มีภาพลักษณ์ดุร้าย ฉลามตัวนี้กลับทำให้ฉันประทับใจแต่แรกพบ สีสันของหมู่เกาะบาฮามาสไม่ได้มีเพียงฉลามเสือขนาดใหญ่เหล่านี้เท่านั้น แต่ยังมีฉลามอีกกว่า 40 ชนิด อาทิ ฉลามเลมอน ฉลามหัวค้อนยักษ์ ฉลามวัว ฉลามครีบดำ ฉลามปากหมา ฉลามซิลกี และฉลามทราย นอกจากฉลามสีน้ำเงินและฉลามวาฬขนาดมหึมาที่อพยพผ่านมา ฉลามอื่นๆอาศัยอยู่ที่นี่ตลอดปี และแพร่พันธุ์ในทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่งอันเงียบสงบที่มันเกิด

     ชาวประมงยังคงด่าทอฉลามหัวขโมยที่ชอบขโมยปลาไปกิน เหลือแต่ปากและเหงือกคาสายเบ็ดให้ดูต่างหน้า คำว่าบาฮามาสมาจาก "บาคามาร์" ซึ่งเป็นภาษาสเปนแปลว่า "ทะเลตื้น" กลุ่มเกาะบาฮามาสตั้งอยู่บนลานหินปูนสองแผ่น คือ แนวเนินตื้นใต้ทะเลบาฮามาใหญ่และเนินตื้นใต้ทะเลบาฮามาเล็ก ที่มีร่องน้ำลึกถึง 3,962 เมตรคั่น กลุ่มเกาะนี้มีการผสมผสานของห้วงน้ำลึกและตื้น สันหินขรุขระใต้น้ำ หาดทราย แนวปะการัง หญ้าใต้ทะเล ป่าชายเลน และทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่งอันสงบเงียบ ซึ่งช่วยฟูมฟักสรรพชีวิตหลากชนิดหลายขนาด

     น้ำใสสะอาดจากมหาสมุทรแอตแลนติกไหลรวมกับกระแสน้ำอุ่นจากอ่าวเม็กซิโก เกิดเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำซึ่งดึงดูดฉลามจากใกล้ไกลให้เข้ามา และปัจจุบันท้องน้ำสีครามใสสะอาดแห่งนี้ก็คือสวนสวรรค์อันสโมสรของพวกมัน ในท้องน้ำที่มีป่าชายเลนล้อมรอบ มีลูกฉลามเลมอนว่ายอยู่ในน้ำตื้นและโผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำใสราวกระจก "ที่นี่วิเศษมากครับ" ซามูเอล "ด็อก" กรูเบอร์ นักชีววิทยาซึ่งมีศูนย์วิจัยฉลามงอยู่ใกล้ๆ พูดขึ้น

     ทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่งเล็กๆของหมู่เกาะบาฮามาสที่ชื่อบิมินีแห่งนี้ เป็นแหล่งอนุบาลลูกฉลามตามธรรมชาติ ที่ซึ่งลูกฉลามเลมอนถือกำเนิดและเติบโตโดยไม่ถูกพวกเดียวกันกิน ซามูเอลแกะรอยฉลามเพศเมียตัวเต็มวัยที่ติดเครื่องติดตามตัวมาถึงที่นี่เมื่อสองสามปีก่อน เมื่อเราเดินลุยน้ำในแอ่งน้ำธรรมชาติอันใสแจ๋ว ปลาตัวเล็กๆก็ว่ายหลบเข้าไปตามรากพืชชายเลนที่แผ่ไปทั่ว พวกปูวิ่งหาที่ซ่อน ป่าชายเลนรกทึบและเขียวครึ้มเป็นที่อาศัยของนกนานาชนิดที่ส่งเสียงร้องทำลายความเงียบเป็นระยะๆ บางตัวกระแอมเหมือนรถบรรทุกสตาร์ตไม่ติด แต่ส่วนใหญ่จะมีก็แต่เสียงลมแผ่วผ่าน ลูกฉลามตัวเท่าๆขวดไวน์ว่ายเฉียดข้อเท้าชวนให้เสียวสันหลังวาบ

     กรูเบอร์ผู้มีเคราครึ้ม สวมแว่นกันแดด เอาผ้าสีแดงพันรอบใบหน้าเพื่อกันแดดและยุง ดูเหมือนสิงห์นักบิดมากกว่านักชีววิทยาทางทะเล เขาคุกเข่าลงบนพื้นทรายในน้ำตื้นๆ พยายามเคาะเหยื่อล่อลูกฉลามให้เข้ามาใกล้ๆพลางฮัมเพลงรักเบาๆ และสบถเสียงดังเมื่อไม่มีตัวไหนสนใจ แต่พอจับได้ เขาก็ทำเสียงกะหนุงกะหนิงเหมือนแม่คุยกับลูกน้อย

     กรูเบอร์แสดงให้ดูว่า เมื่อถูกพลิกให้หงายท้อง ลูกฉลามจะมีสภาพเหมือนนอนหลับ หรือที่เรียกว่า ภาวะไม่ตอบสนองตามธรรมชาติ (tonic immobility) สถิติของกระทรวงสาธารณสุขในนิวยอร์กระบุว่า ในแต่ละปี มีคนถูกฉลามทำร้ายน้อยกว่าถูกคนด้วยกันทำร้าย และเรามีโอกาสเสียชีวิตจากการจมน้ำในอ่างอาบน้ำ หรือถูกคู่สมรสสังหารมากกว่าคมเขี้ยวฉลาม แต่การสร้างสำนึกในหมู่ประชาชนและการขอเงินสนับสนุนการวิจัยและอนุรักษ์ฉลามก็ยังเป็นเรื่องยาก ห้องปฏิบัติการของกรูเบอร์บนเกาะบิมินีใต้เป็นห้องทำงานราคาถูก มีแหดักปลาขาดๆพาดอยู่ด้านนอก รถบรรทุกที่ได้รับบริจาคพ่นควันเสียคลุ้งทันทีที่ออกวิ่ง (ผู้โดยสารต้องเปิดประตูแง้มไว้เพื่อหายใจ)

     อาสาสมัครส่วนใหญ่พักรวมกันในบ้านพักสำเร็จรูปชั้นเดียวสีฉูดฉาด กินอาหารธรรมดาอย่างขนมปังขาว และนอนบนฟูกที่เรียงเป็นแพ พวกเขาอายุราวยี่สิบกว่าๆ ดูอดนอนและอดโซ แต่ก็ยังกระตือรือร้นที่จะทำงานวิจัยอย่างจริงจังในดงฉลาม

 มีนาคม 2550