ผู้เขียน หัวข้อ: โทรอนโต-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2078 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

"พระเยซูกับลาอยู่ไหน" ชายสวมแจ็กเก็ตหนังสีดำร้องถามพลางเร่งฝีเท้าไปตามทางเดินที่ชั้นใต้ดินของโบสถ์เซนต์ฟรานซิสออฟแอสซีซี "เพิ่งเห็นอยู่แว้บๆนะ" หญิงคนหนึ่งตอบ "นั่นไง" ตอนนี้เป็นเวลาบ่ายสามโมง ขบวนแห่วันกู๊ดฟรายเดย์ (วันที่พระเยซูถูกตรึงกางเขนก่อนคืนชีพในวันอาทิตย์ที่เรียกว่าอีสเตอร์ซันเดย์) ที่ใหญ่ที่สุดขบวนหนึ่งในอเมริกาเหนือ กำลังจะเริ่มต้น ทุกอย่างจึงโกลาหลไปหมด "ส่งพระเยซูกับลาขึ้นมา เดี๋ยวนี้ เลย" เสียงสั่งของผู้ชายดังมาจากวิทยุสื่อสาร ผู้คนข้างบนออกไปรอนอกโบสถ์เรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่เป็นหญิงสูงวัยคลุมผ้าคลุมไหล่ซึ่งกำลังร้องเพลงสวดภาษาอิตาเลียน แต่ตรงกลางยังมีชายหนุ่มผิวดำซึ่งฮัมเพลงคลอไปด้วยและสองแม่ลูกชาวจีน ชายที่แต่งตัวเป็นพระเยซูรีบเข้ามาสมทบโดยมีชายที่สวมแจ็กเก็ตตามไปติดๆ "เพลงสวดที่ร้องอยู่นี่เพลงอะไรหรือครับ" ผมถาม "ไม่รู้ สิครับ ผมเป็นคนโปรตุเกส" ชายที่สวมแจ็กเก็ตตอบ ก่อนจะเดินลงบันไดไปตามหาจูดาสผู้ถือถุงใส่เหรียญเงินอีกครั้ง ดวงอาทิตย์ทอแสงผ่านกิ่งก้านที่ไร้ใบลงอาบรูปปั้นพระแม่มารีบนไหล่ชายกลุ่มหนึ่ง

     วงดนตรีที่มีเสียงแตรทูบาทิ้งทำนองเศร้าสร้อยคลอเสียงแคลริเน็ตกำลังบรรเลงเพลง "Tutti Dobbiam Morrie" ซึ่งแปลว่า ทุกคนต้องตาย กลุ่มฝูงชนที่ยืนเรียงแถวอยู่บนทางเท้ามีทั้งหญิงชราที่สวดภาวนาพลางนับลูกปัดบนสร้อยกางเขน และเด็กหญิงที่กอดตุ๊กตากระต่ายอีสเตอร์สีชมพูไว้แน่น นี่คือโทรอนโต เมืองที่มองเผินๆ จะนึกถึงเมืองของชนชั้นกลางผิวขาวที่คนส่วนใหญ่มีเชื้อสายแองโกลแซกซัน นับถือคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ที่จริงคนโทรอนโตเองก็คิดเช่นนั้นมาตลอดจนเมื่อเร็วๆนี้ ที่พวกเขาเริ่มรู้สึกพิศวงระคนยินดีเมื่อได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเชื้อชาติในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา "ผมโตมาในสมัยที่เราหยอดเงินในตู้บริจาค ให้มิชชันนารีใช้เป็นทุนในการเผยแผ่ศาสนาให้คนนอกรีต หรือพวกที่ไม่ได้นับถือคริสต์" ชายสูงวัยชาวโทรอนโตบอก นั่นคือยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เขาพูดต่อด้วยน้ำเสียงที่ไม่บอกความรู้สึกตามแบบฉบับแคนาดาว่า "เดี๋ยวนี้คนนอกรีตกับพวกที่ไม่ได้นับถือคริสต์ย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่ พวกเขาก็เป็นคนดีนะ ว่าไหม"

     ทุกวันนี้ โทรอนโตเป็นเมืองที่มีความหลากหลายของชนชาติมากที่สุดในโลก มีหนังสือพิมพ์ภาษาจีนถึง 6 ฉบับ ชุมชนชาวแคริบเบียนมีการเฉลิมฉลองในงานเทศกาลที่คล้ายงานมาร์ดิกราส์นาน 2 สัปดาห์ (แต่จัดขึ้นเป็นประจำในฤดูร้อนตามสภาพอากาศ) มีสถานีวิทยุชิน (CHIN) ซึ่งออกอากาศเป็นภาษาต่างๆ 32 ภาษา เมื่อผมถามจอห์นนี ลอมบาร์ดี เจ้าของสถานี ว่าตอนนี้เป็นรายการภาษาอะไร เขาดูนาฬิกาข้อมือก่อนตอบว่า "11.45 น. เป็น...อ๋อ ภาษาโครเอเชียครับ"

     ในแต่ละปี มีผู้อพยพมายังแคนาดา 230,000 คน หนึ่งในสามของจำนวนนี้ได้ลงหลักปักฐานที่โทรอนโต ผู้ลี้ภัยซึ่งหนีวิกฤติการณ์มาจากประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวทมิฬในศรีลังกา ชาวฮูตูจากรวันดา หรือชาวเชเชนจากอดีตสหภาพโซเวียต ไม่เพียงเป็นคนน่าคบเท่านั้น แต่ยังทำให้โทรอนโตน่าอยู่มากขึ้น ปาฏิหาริย์แบบนี้เป็นสิ่งที่น่าค้นหาสาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเมืองต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งการทำตัวดีอาจถูกมองว่าเป็นข้อเสีย และการใช้ความรุนแรงมักนำหน้าการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างชนชาติต่างๆ แต่โทรอนโตก็มีปัญหาเช่นกัน สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยทำให้สังคมต้องแบกรับภาระหนักอึ้ง งบประมาณสำหรับโครงการชุมชนเหลือเพียงน้อยนิด (ซึ่งชาวโทรอนโตบางส่วนคิดว่าเป็นเพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้อพยพ) มีความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชานเมืองเรื่องการแบ่งสรรภาษีอย่างเป็นธรรม ทว่าถนนหนทางในโทรอนโตก็ยังสะอาดสะอ้าน รถไฟใต้ดินยังคงตรงเวลา และอาชญากรรมรุนแรงยังคงเกิดขึ้นในอัตราน้อยเช่นเดิม (ในปี 1995 โทรอนโตมีฆาตกรรรม 2 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่วอชิงตัน ดี.ซี. มีสถิติ 65 ราย) ผู้คนต่างเชื้อชาติยังคงอยู่ด้วยกันอย่างสันติในสังคมที่มีรากเหง้าแบบแองโกลสก็อตติชโบราณ ซึ่งเชื่อในระเบียบวินัยและการปฏิบัติตัวเหมาะสม กระทั่งขอทาน นักเต้นระบำเปลื้องผ้า หรือแม้แต่เด็กขายดอกกุหลาบตามสถานบันเทิง ก็ยังสุภาพเรียบร้อย

     โทรอนโตพยายามอย่างยิ่งที่จะเป็นเมืองแห่งชนชั้นกลางที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และประสบความสำเร็จเป็นส่วนใหญ่ หน่วยงานการท่องเที่ยวโทรอนโตแจกคู่มือท่องเที่ยวที่ประกอบด้วยบทสัมภาษณ์ว่า เมืองนี้เคยน่าเบื่อแค่ไหน ซึ่งเมื่อปี 1906 นักท่องเที่ยวคนหนึ่งเห็นว่า "โทรอนโตทำให้วันอาทิตย์ในหมู่บ้านในสกอตแลนด์เป็นสวรรค์ไปเลย" ชาวเมืองซึ่งไม่ชอบใจนักที่โทรอนโตถูกมองว่าน่าเบื่อ มักจะแก้ตัวว่า พวกเขาก็แค่เงียบ จุกจิก และเจ้าระเบียบเกินไปหน่อยเท่านั้น

กุมภาพันธ์ 2550