ผู้เขียน หัวข้อ: รมว.สธ.ประชุมทางไกลพื้นที่ประสบภัย-พื้นที่เสี่ยง 16 จว.พร้อมรับมืออุทกภัย  (อ่าน 1105 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น.พ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศุนย์ โรงพยาบาลทั่วไปใน  16  จังหวัดที่ประสบภัยและเสี่ยงน้ำท่วม ได้แก่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา สตูล แม่ฮ่องสอน เลย กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ และภูเก็ต  เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งนายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วง และได้กำชับให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลสุขภาพประชาชนที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง

 
นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานมีน้ำท่วมใน 2 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง โดยที่ จ.ชุมพร ท่วมใน 5 อำเภอ 20 ตำบล  ได้เตรียมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พร้อมออกให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมกับ อสม. ออกสำรวจ 5 กลุ่มเสี่ยง เพื่อเตรียมแผนดูแลหากประสบภัยเสี่ยงอันตรายและแจกยาชุดน้ำท่วมไปแล้ว 2,000 ชุด

ส่วน จ.ระนอง จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 2 หน่วยออกให้บริการ พบผู้เจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ เช่นไข้หวัด ปวดเมื่อย พบผู้บาดเจ็บ  8 ราย ถูกหนูกัด ตะปูตำ ลื่นล้มศีรษะแตก  ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล แจกยาชุดน้ำท่วม 500 ชุด และขอยาเพิ่มอีก 3000 ชุด มีสถานบริการประสบภัย  น้ำท่วม 1 แห่ง คือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดอนพลา อ.กระบุรี  น้ำขัง 20 เซนติเมตร ขณะนี้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว สามารถให้บริการได้  จากการติดตามส่วนใหญ่ได้เตรียมความพร้อมรับมือเรียบร้อยแล้ว

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในการรองรับปัญหาอุทกภัย ได้สั่งการให้สถานพยาบาลทุกแห่งที่เสี่ยงประสบอุทกภัย จัดทำแผน 4 ด้าน คือ 1.แผนป้องกันสถานบริการไม่ให้เสียหาย  โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญ  2.แผนการสำรองทรัพยากรที่จำเป็นในการให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาล เช่น ออกซิเจน เวชภัณฑ์ยา อาหารผู้ป่วย ให้ใช้ได้อย่างน้อย 10 วัน

3.แผนการส่งต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยหนัก รวมทั้งผู้ป่วยในชุมชน ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข สำรวจกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่ม ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็กเล็ก และผู้ป่วยเรื้อรังที่นอนอยู่ที่บ้าน ไม่ให้ขาดยา เพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที  โดยให้โรงพยาบาลจัดส่งยาไปให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด และ 4.แผนการปรับระบบบริการประชาชนหากน้ำท่วมจนไม่สามารถให้บริการได้ โดยให้รายงานสถานการณ์ในพื้นที่ให้ส่วนกลางทุกวัน  หากเกิดภาวะวิกฤติรุนแรงขึ้น จะได้เตรียมการช่วยเหลือขั้นสูงต่อไป

ทั้งนี้ได้สั่งการให้องค์การเภสัชกรรม สำรองยาชุดน้ำท่วมเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 800,000 ชุด เช้าวันนี้ได้ส่งไปให้จังหวัดชุมพรแล้ว 10,000 ชุด  พร้อมได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชนฟรีอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนเจ็บป่วยกะทันหัน สามารถโทรขอแจ้งขอความช่วยเหลือหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน ทางสายด่วน 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง


www.ryt9.com