ผู้เขียน หัวข้อ: ต้นไทร 24 ชั่วโมง-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2589 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

เมื่อป่าตื่น.. ฮูว.. ฮูว.. ฮูว.. ก๊ก.. ก๊ก.. ก้ากก้ากก้าก กวอ... กวอ... ใต้ผืนป่าฝนเขตร้อนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา เสียงชะนีมือดำ นกหว้า และนกชนหิน กู่ร้องก้องหุบเขาที่มีม่านหมอกขาวละมุนลอยเข้าโลมไล้ จังหวะทำนองเช่นนี้ปลุกเราจากหลับใหลได้ทุกเช้า แต่ลึกลงไปภายใต้เรือนยอดไม้ของผืนป่า เนื้อที่ราว 270,725 ไร่ ในเขตจังหวัดนราธิวาสและยะลา ซึ่งมีอาณาเขตเชื่อมต่อกับผืนป่าเบลุมของประเทศมาเลเซีย ท่วงทำนองเดียวที่สร้างความระทึกคึกคักราวเสียงจังหวะบรรเลงของลิเกพื้นบ้านฮูลูของภาคใต้นั้น คงหนีไม่พ้นลำนำวิถีแห่งไทร ผู้สังเกตการณ์ต้นไทร "ศูนย์รวมสรรพสัตว์" อย่างพวกเราต้องทำทุกวิถีทาง ทั้งแอบซุ่มเงียบบนพื้นดินเปียกๆที่เต็มไปด้วยรอยตีนหมูป่า เก้ง ทาก และหน่วยผลไทรสุกงอม และปีนป่ายขึ้นไปนั่งประจำการบนห้างสูงบนต้นลำพูป่าก่อนหน้าเพียงไม่กี่วัน ข้างหน้าเราคือ ไทรพัน F.dubia Wall. ex King ต้นใหญ่ซึ่งอาจออกผลได้สองครั้งต่อปี ภานุมาศ จันทร์สุวรรณ เจ้าหน้าที่ศึกษาวิจัยความหลากหลายของชนิดไม้สกุลไทรในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และศิริพร ทองอารีย์ เจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชของไทย ระบุว่าไทรชนิดนี้เป็น หนึ่งใน เจ็ดชนิดที่ค้นพบใหม่ของไทย จากทั้งหมดที่พบอยู่เดิม 80 ชนิด ไทรพันพุ่มหนาเกี่ยวกระหวัดรัดเอาต้นยวนเปลือกขาวความสูงมากกว่า 50 เมตร เป็นฐานที่มั่น ก่อนหย่อนรากดิ่งลงไปดูดซับเอาธาตุอาหารที่พื้นดินเบื้องล่าง พร้อมกับออกหน่วยผลสุกสีแดงและม่วงดำ สีสันอันฉูดฉาด เป็นที่รู้กันในหมู่สัตว์ป่านักกินผลไม้ว่า ร้านอาหารกลางป่าพร้อมเปิดต้อนรับลูกค้าผู้มาเยือนจากทั่วสารทิศ ซึ่งพอถึงตอนนี้ เราก็เฝ้าสังเกตการณ์อยู่อย่างลับๆ ด้วยใจจดจ่อ ที่หน้าร้านเป็นที่เรียบร้อย และแล้วร้านก็เปิด.. ทันทีที่ม่านฟ้าด้านตะวันออกเริ่มเปิดฉาก     

     หมีขอตัวอ้วนขนยาวสีดำแซมเทา ลูกค้าผลัดดึกผู้โอ้เอ้อยู่กับอาหารมื้อสุดท้ายจนกระทั่งรุ่งสาง ก็ไต่ตามกิ่งอ่อนเอนของต้นไทรหายไป พร้อมกับการปรากฏตัวของนกชนหิน ที่กลายเป็นลูกค้ารายแรกของต้นไทรผลัดเช้า ตามมาด้วยนกเงือกหัวแรดคู่ผัวเมีย และฝูงนกเงือกปากดำอีก 5 ตัว ที่ถลาเข้ามาเกาะตามกิ่ง ก่อนจะเลือกจับจ่ายหน่วยผลไทรสุกได้และป้อนเข้าปาก กลืนหายลงลำคอ โดยไม่ลืมคาบติดปากตอนโผออกไปทางหุบเขาเบื้องล่างด้วย เพียงไม่กี่อึดใจต่อมา ชะนีมือดำก็โหนตัวเข้าประจำที่บนโต๊ะอาหารเช้าพร้อมลูกตัวเล็กเกาะแน่นอยู่กับอก โดยมีพี่น้องในครอบครัวอีก ๓ ตัว ติดตามเข้ามาสมทบเหมือนจะทนทานต่อสีสันยั่วน้ำลายของหน่วยผลไทรไม่ไหว "ถ้าเป็นร้านอาหารจริงๆ ถือว่าไทรมีแผนการตลาดที่ยอดเยี่ยม" ผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งเปรยขึ้น ด้วยจำนวนลูกค้าที่มากมายหลายหน้า ที่ทั้งโหนทะยาน บิน ไต่ ร่อน และเดินเข้ามาอุดหนุนอย่างไม่ขาดสายเป็นเครื่องยืนยัน รายงานผลการสำรวจชนิดสัตว์ป่าที่เข้ามาใช้ประโยชน์ด้วยการเก็บกินหน่วยผลพืชสกุลไทร เมื่อปี 2547 ของภานุมาศและคณะ พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 52 ชนิด โดยแบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 20 ชนิดและนกอีก 32 ชนิด การที่ไทรแต่ละต้นแต่ละชนิดวนเวียนกันออกหน่วยผลตลอดทั้งปี ซึ่งแตกต่างกับพืชพันธุ์ชนิดอื่นที่ออกลูกเป็นฤดูกาลพร้อมกันคราวละมากๆในทีเดียวและเพียงระยะสั้นๆอย่างสิ้นเชิง ทำให้ไทรกลายเป็นแหล่งอาหารขึ้นชื่อของป่าฝนเขตร้อน ยามที่ผลไม้อื่นขาดแคลน สัตว์ป่าหลายชนิดสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการค้นหาไทรเพื่อยังชีพแทน แต่กระนั้น ในช่วงเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงปลายหน้าแล้งของป่าฮาลา-บาลา ข้อมูลจากการศึกษาระบุว่า มีจำนวนชนิดไทรที่ออกหน่วยผลสุกพร้อมๆ กันมากกว่า 35 ชนิด นี่อาจเป็นกลยุทธ์แบบลดแลกแจกแถมสำหรับลูกค้าเพื่อร่วมส่งท้ายหน้าแล้งของปี

กุมภาพันธ์ 2550