ผู้เขียน หัวข้อ: ความลับใต้ปีกงาม-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 3811 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

ประกายสีน้ำเงินไพลินที่แวบมาและวับไปราวกับภาพลวงตานั้นคือปีกที่โบกกระพือของนกตัวกระจิริด หรือแมลงกันแน่ ครู่ต่อมาประกายนั้นก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง คราวนี้เห็นถนัดตาขึ้นว่าเป็นนกแน่นอน แต่เป็นนกตัวเท่านิ้วหัวแม่มือ เจ้าของปีกที่โบกได้ 80 ครั้งต่อวินาที จนทำให้เกิดเสียงหึ่งเบาๆ ขนหางคล้ายใบพายสามารถบังคับทิศทางได้ทั้งซ้ายขวาและขึ้นลง ขณะที่เจ้านกจิ๋วจ้องมองดอกไม้สีส้มสดใสรูปร่างคล้ายแตร มันก็แลบลิ้นที่บางเหมือนเส้นด้ายออกจากจะงอยปากเล็กๆเพื่อลิ้มรสน้ำต้อย (nectar) แสงอาทิตย์ที่ต้องขนนกสะท้อนประกายรุ้งดุจอัญมณีต้องแสงตะวัน เช่นนี้เอง คนส่วนใหญ่จึงได้ชื่นชมและไม่รู้จะสรรหาถ้อยคำใดมาบรรยายลักษณะของนกฮัมมิงเบิร์ด กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ผู้เคร่งขรึมที่สุดก็ยังอดไม่ได้ที่จะเอ่ยชมนกชนิดนี้ว่า "สวยงาม" "โดดเด่น" และ "ไม่เหมือนใคร"
     

     แต่สิ่งที่ชวนอัศจรรย์ยิ่งกว่าก็คือ เจ้านกที่ดูบอบบางนี้กลับเป็นหนึ่งในสัตว์ที่แข็งแกร่งที่สุดในอาณาจักรสัตว์ ฮัมมิงเบิร์ดราว 330 ชนิดพันธุ์อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายและมักจะถึงขั้นทารุณ จากอะแลสกาไปถึงอาร์เจนตินา จากทะเลทรายแอริโซนาไปถึงชายฝั่งโนวาสโกเชีย และจากป่าในที่ลุ่มต่ำของบราซิลไปถึงแนวหิมะบนเทือกเขาแอนดีสที่สูงกว่า 4,500 เมตร (นกชนิดนี้พบในอเมริกาเหนือและใต้ รวมทั้งหมู่เกาะรอบๆที่เรียกว่าโลกใหม่เท่านั้น)
     

      คาร์ล ชุชมันน์ นักปักษีวิทยาจากสถาบันสัตววิทยาอเล็กซานเดอร์เคอนิกแห่งเยอรมนีและมูลนิธิเบรห์ม บอกว่า "ฮัมมิงเบิร์ดอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สุดขั้วสำหรับสัตว์มีกระดูกสันหลัง แต่ก็เอาตัวรอดได้ครับ" ฮัมมิงเบิร์ดมีน้ำหนักแค่ 5-6 กรัม หัวใจขนาดเท่าผลองุ่นของมันเต้นด้วยอัตราเฉลี่ย 500 ครั้งต่อนาที (ขณะเกาะนิ่งบนกิ่งไม้) หรือ 4,500 ล้านครั้งตลอดชีวิต หรือมากกว่าคนที่มีอายุขัย 70 ปีเกือบสองเท่า

 มกราคม 2550