ผู้เขียน หัวข้อ: กฎหมายต้องเป็นธรรม  (อ่าน 1846 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
กฎหมายต้องเป็นธรรม
« เมื่อ: 18 สิงหาคม 2010, 12:49:04 »
กฎหมายต้องเป็นธรรม

นายแพทย์เกษม ตันติผลาชีวะ

 

          บ้านเรานี้บางทีมีปัญหาเพราะไม่มีกฎหมายเพื่อบังคับใช้ในบางเรื่อง บางทีมีกฎหมายแล้วกลับก่อให้เกิดปัญหามากขึ้น บางทีมีกฎหมายก็บังคับใช้ไม่ได้เพราะไม่มีผู้ปฏิบัติ หรือผู้มีหน้าที่รักษากฎหมายไม่ยอมบังคับใช้ตามเจตนารมณ์ แต่กลับตะแบงไปแบบข้างๆ คูๆ

          ตัวอย่างที่เห็นอยู่ก็คือกฎหมายยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลาห้าปี  แต่ผลกลับเป็นว่าผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์กลายเป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมืองอย่างสูง และสามารถเข้ามาควบคุมการบริหารและการเขมือบประเทศได้

          ตอนนี้กำลังจะมีการเสนอร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขก็ก่อให้เกิดการคัดค้านอย่างรุนแรงจากผู้ได้รับผลเสียหายจากกฎหมายนี้ จึงสมควรที่จะต้องทบทวนประเด็นที่ไม่เป็นธรรมเพื่อความเป็นสุขถ้วนทั่วหน้ากัน จะปล่อยให้ฝ่ายเสนอกฎหมายเอาไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยลำพังไม่ได้

          ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนี้คือ ใครเป็นผู้เสียหาย อย่างไรจึงเรียกว่าเสียหาย ความเสียหายคืออะไร จะคุ้มครองอย่างไร คุ้มครองก่อนหรือหลังได้รับความเสียหาย ใครจะเป็นผู้คุ้มครอง จะใช้เงินเป็นเครื่องคุ้มครองหรือชดเชยใช่หรือไม่ เอาเงินมาจากไหน ใครเป็นผู้พิจารณาความเสียหายและพิจารณาการจ่ายเงิน จ่ายแล้วจบเรื่องหรือไม่ มีทางเลือกอื่นอีกไหมนอกจากออกกฎหมายใหม่

          ผู้เสียหายในร่างกฎหมายนี้คงหมายถึงผู้ป่วยทุกคนที่ไปรับบริการสาธารณสุข จึงต้องพิจารณาว่าครอบคลุมหมดหรือไม่ มากเกินไปหรือน้อยเกินไปหรือเปล่า .ในบางกรณีอาจมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือเป็นลมอยู่กลางถนน แล้วผู้มีอาชีพทางการสาธารณสุขเข้าไปช่วยกู้ชีพ อย่างนี้หากเกิดเหตุซี่โครงหักหรือตายจะถือเป็นผู้เสียหายหรือไม่

          ความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องพิจารณาโดยผู้มีความรู้และประสบการณ์ บางเรื่องก็ชัดเจนตรงไปตรงมา แต่บางกรณีมีความซับซ้อนซึ่งผู้เชี่ยวชาญเองยังอาจมีความเห็นไม่ตรงกันได้

          เรื่องอย่างเดียวกันที่เกิดขึ้นกับผู้รับบริการในสมัยก่อนกับสมัยนี้ก็อาจคิดไม่เหมือนกัน คนสมัยก่อนยอมรับความสุดวิสัยในการรักษาความเจ็บป่วยและการตายมากกว่าในปัจจุบัน อาจเป็นได้ว่าคนในยุคนี้มีความคาดหวังให้แพทย์รักษาให้หายและไม่มีภาวะแทรกซ้อนมากกว่าสมัยก่อน ทั้งที่เมื่อก่อนต้องจ่ายค่ารักษาเองเกือบทุกคน แต่ตอนนี้ได้รับบริการโดยไม่ต้องจ่ายเงินเอง อาจเป็นเพราะตอนนี้คนมีความรู้มากขึ้นทั้งด้านการแพทย์และกฎหมาย ถ้ามีความรู้จริงก็ไม่เป็นไร แต่หากรู้ครึ่งๆกลางๆ อาจเป็นผลเสียมากกว่า

          อันการเจ็บป่วยและการตายนั้นเป็นทุกข์ หากจะถือว่าเป็นความเสียหายก็เป็นได้ทุกราย แต่เมื่อได้รับบริการสาธารณสุขแล้วจะถือเป็นความเสียหายจากบริการสาธารณสุขทั้งหมดหาได้ไม่ เพราะบางอย่างก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ

          ในอดีตคนอายุมากๆ พอใกล้ตายก็ไม่มีใครพาไปโรงพยาบาล ถ้าไปถึงแพทย์ก็อาจแนะนำและไม่ทำอะไรมาก แต่สมัยนี้กลับต้องไปโรงพยาบาลเกือบทุกรายและแพทย์เองก็มักพยายามยื้อชีวิต แม้จะเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายก็ตาม

          การผ่าตัดและการคลอดมีความเสี่ยงทั้งในขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัดหรือคลอด อัตราผิดพลาดและภาวะแทรกซ้อนย่อมเกิดขึ้นได้แน่นอน บางอย่างก็คาดหมายได้ล่วงหน้า บางทีก็อาจ ”คาดไม่ถึง” เช่นเดียวกับที่ผู้บริหารคาดไม่ถึงว่าผู้ก่อการร้ายจะมีและใช้อาวุธสงคราม

          คนมาคลอดลูกบางทีเดินมาดีๆ คิดว่าไม่มีปัญหา ตอนฝากครรภ์ก็ปกติดี แต่พอทำคลอดพบว่ารกเกาะต่ำหรือเด็กตัวโตมาก ก็กลายเป็นปัญหาได้ การตัดสินใจจะใช้วิธีผ่าตัดคลอดก็ต้องมีความรู้และประสบการณ์ดี ซึ่งแพทย์ไม่ได้มีเท่ากันทุกคน

          หากมีการตายของเด็กหรือแม่หรือทั้งคู่ ย่อมเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ แต่จะถือเป็นความเสียหายจากบริการสาธารณสุขทั้งหมดคงไม่สมควร ถึงกระนั้นก็ตามผู้ที่สูญเสียทั้งหลายก็น่าสงสารมากและสมควรได้รับการเยียวยา แต่จะทำอย่างไรแค่ไหนเป็นเรื่องที่พิจารณายากมาก ถ้าขยายขอบเขตไปเรื่อยๆ อาจไม่มีที่สิ้นสุด เพราะทุกคนก็อาจตีความว่าตนได้รับความเสียหายทั้งนั้น เช่น ตอนมาหาแพทย์มีแค่เจ็บคอ วันต่อมามีไอหลอดลมอักเสบ หรือถึงขั้นปอดอักเสบ แบบนี้ต้องหาทางป้องกันผู้แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบซึ่งมีมากขึ้นทุกทีในสังคมนี้ ขนาดไปเผาบ้านเขาแล้วยังเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบเลย

          การคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขไม่ควรไปมุ่งอยู่แต่หลังเกิดความเสียหาย เพราะเมื่อเกิดความเสียหายก็มีคำถามว่าการรักษานั้นเป็นไปตาม “มาตรฐานทางการแพทย์” หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตีความได้ยาก เพราะมาตรฐานในแต่ละสภาวะและแต่ละระดับของผู้ให้บริการย่อมแตกต่างกัน ผู้ที่ต้องการให้ความคุ้มครองอย่างแท้จริงควรให้ความสนใจที่ระบบบริการที่เป็นอยู่จริงในบ้านเรามากกว่า ลองไปดูตามสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ พิจารณาจำนวนบุคลากร ปริมาณงานที่แบกรับและจำนวนชั่วโมงทำงาน คงเห็นชัดอยู่แล้วว่าไม่สามารถไปหวังมาตรฐานอะไรได้มากนัก เพราะไม่ได้มาตรฐานอยู่แล้ว เรื่องแบบนี้ผู้ประเมินคุณภาพโรงพยาบาลทั้งหลายก็เห็นอยู่ตำตาทั้งนั้น แต่ทำไมปล่อยให้ผ่านการประเมินได้ หรือคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ หรือมัวแต่ประเมินการบันทึกเอกสารที่มีเพิ่มขึ้นทุกที อย่างนี้เป็นมาตรฐานของผู้ประเมินหรือเปล่า อย่าลืมว่าคนและสภาวะการทำงานสำคัญกว่าเอกสารมากนัก

          ผู้ได้รับความเสียหายบางทีไม่ได้ต้องการเงิน แต่ต้องการให้แพทย์ยอมรับผิดและขอโทษ แพทย์เองก็อาจเห็นว่าตนไม่ผิดจึงไม่ยอมขอโทษ อีกทั้งเกรงว่าการยอมรับผิดจะเป็นหลักฐานในการฟ้องร้อง จึงเป็นเหตุของการฟ้องร้องกันในหลายกรณี

          กฎหมายบังคับให้ขอโทษยังไม่มีใครเสนอ มีแต่เสนอให้ชดเชยโดยการจ่ายเงิน ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่เห็นเป็นรูปธรรมได้ และยังอาจช่วยได้มากในกรณีที่เดือดร้อนจริงๆ  ส่วนรายที่ไม่เดือดร้อนหรือไม่ต้องการเงิน อย่างน้อยก็เป็นสัญลักษณ์ว่าตนได้รับชัยชนะระดับหนึ่ง

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีฝ่ายใดคัดค้าน เมื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจริงและผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว โดยไม่ไปจ่ายให้ผู้ที่ฉวยโอกาสหรือพวกมิจฉาชีพ

การพิจารณาว่าผู้ใดได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขเป็นเรื่องที่ต้องการความรู้และความละเอียดรอบคอบ ในการพิจารณาคดีฟ้องร้องแพทย์ของอนุกรรมการจริยธรรมของแพทยสภา มีหลายครั้งที่อนุกรรมการเห็นว่าผู้ฟ้องร้องได้รับความเสียหายและความเดือดร้อนจริง แต่แพทย์ผู้รักษาก็ไม่ได้ทำอะไรผิดและได้ให้การดูแลรักษาอย่างเหมาะสมและเต็มความสามารถแล้ว จึงมีมติเป็นคดีไม่มีมูล ซึ่งคงไม่เป็นที่พอใจของผู้เสียหายแน่

กรณีแบบนี้เป็นเพราะอนุกรรมการจริยธรรมได้รับมอบหมายให้พิจารณาคนละประเด็นกับความต้องการของผู้ร้อง บางรายต้องการมาฟ้องว่าแพทย์รักษาผิดและให้ชดใช้ เพราะเขาเข้าใจว่าถ้าแพทย์ไม่ผิดเขาก็ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ แต่บางรายไม่ได้ต้องการเอาผิดแต่อยากบอกความเดือดร้อนที่ได้รับ เรื่องนี้หากอนุกรรมการฯ มีอำนาจสั่งจ่ายเงินช่วยเหลือก็คงสั่งไปแล้ว แต่เป็นเพราะได้รับมอบหมายให้พิจารณาแต่เรื่องจริยธรรม ไม่ได้รับมอบหมายให้พิจารณาเรื่องเงินทอง (ตรงกันข้ามกับบางคน) จึงไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น ผลที่สุดจึงต้องควักเงินส่วนตัวช่วยเหลือเขาไปโดยมนุษยธรรม

นี่เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือผู้ได้รับผลเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขได้ โดยไม่ต้องไปทำอะไรให้ยุ่งยาก โดยให้อนุกรรมการจริยธรรมฯ เป็นผู้พิจารณาและมีอำนาจสั่งจ่ายเงินช่วยเหลือไปเลย เพราะอนุกรรมการฯ ไม่ได้เป็นกรรมการแพทยสภาซึ่งผู้ผลักดันกฎหมายไม่ค่อยไว้วางใจ แต่ประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาและหลายสถาบัน ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับสาขาใดก็ยังขอความเห็นจากราชวิทยาลัยทางการแพทย์เฉพาะสาขานั้นได้

การเลือกใช้ช่องทางนี้ฝ่ายผู้คัดค้านกฎหมายอาจสบายใจขึ้นเพราะอย่างน้อยก็ได้รับการพิจารณาโดยผู้มีความรู้ทางการแพทย์และยังปฏิบัติงานรักษาผู้ป่วยอยู่ ไม่ใช่แพทย์ที่อยู่ในตำแหน่งบริหารซึ่งห่างไกลจากผู้ป่วยและควรจัดเป็นตำแหน่งทางการเมืองมากกว่า หากจะให้ผู้ที่อยู่นอกวงการแพทย์เข้ามาตรวจสอบหรือร่วมพิจารณาด้วยก็ไม่เป็นปัญหา ตัวอย่างก็มีอยู่แล้วในคณะอนุกรรมการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคนของกระทรวงสาธารณสุข

ผู้ที่จะเข้ามาร่วมพิจารณาก็ไม่ควรเป็นผู้ที่มีปัญหาส่วนตัวกับแพทย์หรือโกรธแค้นแพทย์ บางคนมีประวัติเป็นผู้ไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ที่ตนเสียประโยชน์ แต่ไปคิดว่าตนเป็นผู้ได้รับผลเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ เช่น เคยป่วยด้วยโรคบางอย่างซึ่งลักษณะงานกำหนดไว้ว่า หากเคยป่วยแม้เพียงครั้งเดียวก็ต้องเลิกทำงานนั้น ไม่ว่าจะเป็นการป่วยระยะสั้นหรือรักษาหายแล้วก็ตาม

เรื่องของเงินที่จะนำมาจ่ายให้ผู้ได้รับความเสียหายตามกฎหมายฉบับนี้ เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาให้ดี เพราะบริการสาธารณสุขโดยทั่วไปไม่ได้เป็นไปเพื่อแสวงหากำไร มีบางกรณีซึ่งเป็นส่วนน้อยเท่านั้นซึ่งอาจก้ำกึ่งหรือเข้าข่ายธุรกิจ จึงควรพิจารณาแยกประเภทให้ดี โรงพยาบาลและคลินิกเอกชนส่วนใหญ่ก็มีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระของหน่วยงานรัฐบาลได้ไม่น้อย จึงไม่ควรเหมาเอาว่าเป็นตัวปัญหาไปหมด

การบังคับเก็บเงินจากผู้ให้บริการสาธารณสุขมาเป็นกองทุนเป็นจุดด้อยที่สุดของกฎหมายนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักการเป็นอย่างยิ่ง การเก็บเงินจากสายการบินหรือรถทัวร์เจ๊เกียวมาประกันภัยให้แก่ผู้โดยสารทำได้เพราะเป็นธุรกิจ แล้วเขาก็ไปคิดเพิ่มจากผู้โดยสาร ซึ่งจ่ายโดยไม่รู้ตัวว่าถูกบวกไปแล้ว แต่บริการสาธารณสุขแตกต่างกันมาก เพราะเป็นการช่วยบำบัดความเจ็บป่วยโดยไม่ใช่ธุรกิจ ลำพังบริการฟรีให้แก่ผู้ป่วยจำนวนมากก็ขาดทุนและเหน็ดเหนื่อยทั้งกายใจจนจัดได้ว่าเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข เพราะได้รับผลกระทบทั้งกายใจ แล้วยังถูกรีดไถจากผู้ออกกฎหมายให้จ่ายค่าประกันความเสียหายแก่ผู้รับบริการอีก

หากใช้แนวคิดแบบนี้ก็คงต้องเรียกเก็บเงินจากอีกหลายอาชีพ เพราะมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใช้บริการเช่นกัน เริ่มตั้งแต่นักการเมืองและผู้บริหารประเทศ เพราะอาจบริหารผิดพลาด ออกกฎหมายผิด ไปทำสัญญาผิดพลาดกับต่างชาติหรือทำให้ประเทศชาติเสียดินแดนเสียเอกราช  ทหารก็อาจเกิดความผิดพลาดไม่ยอมทำหน้าที่ปกป้องชาติศาสน์กษัตริย์จนเกิดความเสียหาย หรือไปทำการรบผิดพลาด ถล่มฝ่ายเดียวกันจนล้มตายและเสียเกียรติภูมิ ตำรวจก็อาจสร้างความเสียหายได้มาก เช่น ปล่อยให้ผู้ร้ายเผาสถานที่ราชการต่อหน้าต่อตา ปล่อยให้ผู้ร้ายสำคัญหนีออกนอกประเทศโดยรู้เห็นเป็นใจ หรือยัดยาบ้าให้ผู้บริสุทธิ์จนต้องติดคุก อัยการก็อาจทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียหาย เช่น ปล่อยให้ผู้ร้ายรอดคุก โดยการไปถอนฟ้องในชั้นฎีกา หรือไม่สั่งฟ้องคดีแล้วทำให้ผู้ร้ายมาก่อความเสียหายแก่สังคมต่อไป สื่อมวลชนก็อาจทำหน้าที่ผิดพลาดหรือเสนอข่าวบิดเบือนทำให้เกิดความเสียหายทั้งต่อส่วนรวมและส่วนตัว

เมื่อเห็นความไม่เหมาะสมของการรีดเงินจากผู้ให้บริการแล้ว รัฐบาลก็ควรไปหาเงินมาจากแหล่งอื่น จะไปยึดทรัพย์คนโกงชาติมาเพิ่มทุนอีกก็ดี ประชาชนจะได้สรรเสริญ อย่างอ้างว่าไม่มีเงินเลย แค่เจียดสักร้อยละสิบจากอภิมหาโครงการทั้งหลายก็เหลือเฟือแล้ว

อีกวิธีหนึ่งที่เป็นไปได้คือกระจายความรับผิดชอบออกไป ใครสังกัดกองทุนไหนก็ให้กองทุนนั้นจ่าย ซึ่งมีทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม กรมบัญชีกลาง ส่วนเอกชนก็รับผิดชอบเอง ซึ่งเขาอาจไปทำประกันกับบริษัทก็ได้ โดยบวกเข้ากับค่าบริการ แต่หากจะให้ประชาชนผู้รับบริการสาธารณสุขทุกคนมีส่วนร่วมก็ควรให้ผู้รับบริการเป็นผู้จ่ายทุกครั้งที่ไปรับบริการ เหมือนที่เคยเก็บครั้งละ ๓๐ บาทแล้วเลิกเก็บไป 

สำหรับบริการบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องได้รับ แต่มีผู้ไปชักชวนเขามา เช่น การฉีดวัคซีนบางอย่างที่มีราคาแพง หากช็อคตายขึ้นมา ก็ควรให้บริษัทที่ส่งเสริมการขายนั้นเป็นผู้จ่าย ใครไปชักชวนเขามาเสริมสวยก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้สามารถประกาศเป็นรายการได้

หากฝ่ายต่างๆ เห็นด้วยกับวิธีนี้ รัฐบาลก็ไปดำเนินการได้โดยไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ เพราะอะไรที่นักการเมืองผลักดันแล้วเป็นของใหม่ ก็มักมีความไม่ชอบมาพากลร่วมอยู่ด้วยเสมอ เช่น อาคารรัฐสภาใหม่ จังหวัดใหม่ รถเมล์ใหม่ ฯลฯ กองทุนที่จะตั้งขึ้นใหม่ก็มีความน่าสงสัยในเรื่องผู้ที่อยากมาบริหารและราคาของการบริหารอยู่ สู้เอาของเก่ามาตกแต่งเพิ่มเติมเล็กน้อย จะใช้งานได้ดีกว่าของใหม่ที่ตีมูลค่าความตะกละตะกลามถึงร้อยละสามสิบและกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ประเด็นที่กลัวจะมีการฟ้องร้องต่อศาลนั้น หากผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขได้รับคำอธิบายอย่างชัดเจนจากกรรมการแพทย์ที่เป็นผู้พิจารณาโดยมีการตรวจสอบจากกรรมการที่ไม่ใช่แพทย์ร่วมด้วย ส่วนใหญ่แล้วน่าจะยอมรับได้ ยิ่งมีเงินช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ด้วยแล้วอาจยิ่งง่ายกว่าเดิม ซึ่งมีเพียงบอกว่าแพทย์ผิดหรือไม่ผิดเท่านั้น

ส่วนรายไหนที่ชี้แจงอย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใสแล้วยังไม่พอใจ ก็เป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของเขาที่จะฟ้องร้อง ซึ่งคงห้ามกันไม่ได้ ขอเพียงให้มีพยานแพทย์ที่ไปศาลแล้วพูดรู้เรื่อง ชี้แจงตรงประเด็นและมีหลักการที่ถูกต้องเท่านั้น เชื่อแน่ว่าศาลต้องให้ความเป็นธรรมแน่

กฎหมายที่รู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้ง เพราะแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด และไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกบังคับใช้ ย่อมไม่สมควรฝืนเข็นกันออกมา เหมือนไม่น่าไปลงนามในบันทึกความเข้าใจบางฉบับที่ก่อปัญหาภายหลัง

 

(ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ วันพุธที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕