ผู้เขียน หัวข้อ: นักวิจัย มข.พบยีนมะเร็งท่อน้ำดีกลายพันธุ์ ชี้ประโยชน์ค้นหาผู้ป่วย วางแผนรักษา  (อ่าน 1466 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - นักวิจัย ม.ขอนแก่นโชว์ผลงานเด่นระดับโลก พบยีนกลายพันธุ์ที่สัมพันธ์กับมะเร็งท่อน้ำดีส่งผลดีต่อการค้นหากลุ่มเสี่ยงและวางแนวทางรักษาที่มีประสิทธิภาพ เผยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำ Nature Genetics ชี้เมืองหมอแคนมีผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีมากที่สุดในโลก ขณะที่คนอีสานเสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดีถึง 2 หมื่นคน/ปี เล็งผลักดันปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีให้เป็น “วาระคนอีสาน” พร้อมตั้งมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดีแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
       
       วันนี้ (30 พ.ค.) ที่ห้องประชุมสิริคุณากร 4 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) คณะแพทยศาสตร์ มข. จัดแถลงข่าว “การค้นพบยีนกลายพันธุ์ที่สัมพันธ์กับมะเร็งท่อน้ำดี” โดยมี รศ.นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี และ ผศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ในฐานะคณะนักวิจัย ร่วมให้ข้อมูลต่อการวิจัยค้นพบยีนกลายพันธุ์ที่สัมพันธ์กับมะเร็งท่อน้ำดี
       
       รศ.นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี หนึ่งในคณะนักวิจัย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี คณะแพทยศาสตร์ มข.ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศสิงคโปร์ ได้ร่วมกันศึกษา “ยีนกลายพันธุ์ที่สัมพันธุ์กับมะเร็งท่อน้ำดี” การวิจัยครั้งนี้คณะนักวิจัยได้ตรวจหาลำดับเบสของยีนทั้งหมดในเนื้อเยื่อมะเร็งท่อน้ำดี เปรียบเทียบกับเนื้อเยื่อตับปกติ จำนวน 8 ตัวอย่าง
       
       โดยใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย Exome capture re-sequencing ทำให้สามารถตรวจหาลำดับของยีนทั้งหมดของเซลล์ในเวลาเดียวกัน และใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งผลการวิจัยพบว่าเนื้อเยื่อมะเร็งท่อน้ำดีมียีนที่ผิดปกติจำนวน 187 ยีนหรือเฉลี่ย 26 ยีนต่อตัวอย่างของผู้ป่วย 1 ราย
       
       จากข้อมูลนี้คณะนักวิจัยได้เลือกยีนกลายพันธุ์ 15 ยีนที่พบบ่อยมาตรวจสอบต่อในกลุ่มตัวอย่างมะเร็งท่อน้ำดีอีก 46 ตัวอย่าง ผลการศึกษาพบยีนกลายพันธุ์ 7 ยีนที่พบบ่อยในผู้ป่วย 10-45% และ 4 ใน 7 ยีนกลายพันธุ์นี้เป็นยีนที่ไม่เคยมีการรายงานมาก่อน ได้แก่ MLL3, GNAS, ROBO และ RNF43
       
       ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีกล่าวว่า ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นข้อมูลสำคัญทำให้นักวิจัยเข้าใจกลไกการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีได้มากขึ้น ทำให้ทีมนักวิจัยทราบความผิดปกติของยีนที่สัมพันธ์กับมะเร็งท่อน้ำดี สามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการตรวจหาคนที่เสี่ยงเป็นมะเร็งชนิดนี้ เป็นแนวทางพัฒนาการรักษาผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยรักษาชีวิตของผู้ป่วยได้
       
       ที่สำคัญผลงานการวิจัยที่เกิดจากนักวิจัยคณะแพทยศาสตร์ มข.และคณะนักวิจัยสิงคโปร์ ถือเป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพ มีความโดดเด่น เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการแพทย์ไทยอย่างรุดหน้า ทั้งยังได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานชิ้นนี้ใน Nature Genetics ซึ่งเป็นวารสารนานาชาติที่มีชื่อเสียงและมีคุณภาพ โดยตีพิมพ์เมื่อ 11 เมษายน 2555
       
       สำหรับมะเร็งท่อน้ำดีคือมะเร็งที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุของท่อทางเดินน้ำดีทั้งท่อน้ำดีภายในและภายนอกตับ มะเร็งท่อน้ำดีพบมากที่สุดในภาคอีสาน โดยเฉพาะที่จังหวัดขอนแก่นมีผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีมากที่สุดในโลกคือ 134.5 ต่อประชากร 100,000 คนในชาย และ 43.0 ต่อประชากร 100,000 คนในหญิง อายุระหว่าง 35-64 ปี เกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงในสัดส่วนคือ 3 ต่อ 1
       
       โดยเฉลี่ยแต่ละปีมีคนในพื้นที่ภาคอีสานเสียชีวิตด้วยมะเร็งท่อน้ำดีสูงถึงประมาณ 20,000 คน/ปี มะเร็งท่อน้ำดีจึงเป็นภัยเงียบที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของภาคอีสานมาหลายทศวรรษ
       
       ด้าน ผศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดและรักษามะเร็งท่อน้ำดี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มข.กล่าวว่า ปัญหาการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เป็นปัญหาเรื้อรังของคนอีสาน การหาทางออกปัญหานี้จะต้องผลักดันให้เป็น “วาระของคนอีสาน” เพื่อให้ทุกภาคส่วน นับตั้งแต่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข และทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน มาร่วมกันขับเคลื่อนแก้ปัญหาร่วมกัน
       
       ลำพังการรักษาในระบบสาธารณสุขผ่านโรงพยาบาลชุมชนเป็นลักษณะการตั้งรับและแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเพื่อแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในอนาคตนี้ จะมีการก่อตั้งมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี เป็นองค์กรอิสระที่มีบทบาทเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีที่ครบวงจร ทั้งให้ความรู้ ดูแลสิทธิ คัดกรองผู้ป่วย วางแนวทางการรักษา สร้างบุคลากรด้านสาธารณสุข ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหามะเร็งท่อน้ำดีมีประสิทธิภาพ

manager