ผู้เขียน หัวข้อ: อะไรคือ ความเสียหาย ในร่างพ.ร.บ.คุ้มครองฯ-โพสต์ทูเดย์(12สค2553)  (อ่าน 1580 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
บ่อยครั้งที่ผู้ให้บริการ คือ แพทย์ พยาบาล เห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาในการรักษาโรคที่เรียกว่าภาวะแทรกซ้อน แต่ไม่เป็นความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดทางการแพทย์.....

โดย...ศ.นพ.ธารา ตริตระการ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้เขียนได้ติดตามเรื่องพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ที่กำลังมีความขัดแย้งกันอยู่นั้น มีความเห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่อยากฝากคณะทำงานให้พิจารณาและดำเนินการแก้ไขต่อไป คือ

1.ความเสียหายใน พ.ร.บ.ดังกล่าวคืออะไร ?

ในมาตรา 3, 5 และ 6 มีนิยามคำ “ผู้เสียหาย” แต่มิได้กล่าวถึงว่า “ความเสียหาย” คืออะไร มีความรุนแรงระดับใดจึงจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ เช่น เสียชีวิต เสียอวัยวะ สูญเสียการทำงานของอวัยวะทั้งหมดหรือบางส่วน เสียโฉม เสียหรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เสียความสามารถในการทำงาน เสียขวัญ เสียใจ หรือทำให้เกิดความหวาดวิตกจนกระทบต่อการดำรงชีวิต ถ้าไม่มีการกำหนดให้ชัดเจน ย่อมมีผู้ยกความเสียหายขึ้นมาร้องเรียนขอค่าชดเชยได้แม้เป็นเพียงความเสียหายเล็กๆ น้อยๆ

2.มีความคลุมเครือและไม่ชัดเจนในมาตรา 5 และ 6 ว่าด้วยสิทธิของผู้เสียหายและเงื่อนไขในการได้รับสิทธิตามร่าง พ.ร.บ.ฯ

มาตรา 5 กำหนดหลักการพื้นฐานไว้ว่าผู้เสียหายมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น และเงินชดเชยจากกองทุนตามร่าง พ.ร.บ.นี้ โดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด นอกจากนี้ในมาตรา 6 ผู้เสียหายไม่อาจอ้างสิทธิตามมาตรา 5 ได้หากเป็นกรณีดังต่อไปนี้ (1) ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น แม้มีการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ (2) ความเสียหายซึ่งหลีกเลี่ยงมิได้จากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ (3) ความเสียหายที่เมื่อสิ้นสุดกระบวนการให้บริการสาธารณสุขแล้วไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติ

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เปิดให้ใช้สิทธิอย่างกว้างขวาง ยกเว้นจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 วงเล็บ 1, 2 และ 3 แล้ว เมื่อเกิดความเสียหายใดๆ ขึ้น ย่อมมีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือได้ทั้งสิ้นโดยไม่คำนึงถึงเหตุปัจจัยประกอบอื่น แม้เหตุยกเว้นในวงเล็บทั้งสามบ่อยครั้งไม่สามารถแยกว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น หรือเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาในการรักษาโรคที่เรียกว่าภาวะแทรกซ้อน หรือเป็นความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดทางการแพทย์ที่เรียกว่า ทุเวชปฏิบัติ์ หรือ Malpractice

บ่อยครั้งที่ผู้ให้บริการ คือ แพทย์ พยาบาล เห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาในการรักษาโรคที่เรียกว่าภาวะแทรกซ้อน แต่ไม่เป็นความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดทางการแพทย์ที่เรียกว่า ทุรเวชปฏิบัติ หรือ Malpractice เป็นการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ ไม่น่าจะเป็นความผิด จึงไม่รับผิดและไม่เห็นด้วยในการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ผู้เสียหายมองว่า ความเสียหายเกิดจากการรับบริการสาธารณสุข ผู้ให้บริการจึงต้องรับผิดชอบ ความเห็นที่แตกต่างกัน นำไปสู่ความขัดแย้งและการฟ้องร้อง

เพื่อความเข้าใจตรงกัน จึงขอยกตัวอย่างเช่น

ผู้ป่วยเป็นนักธุรกิจวัยกลางคน มีรายได้สูง มีอาการเจ็บหน้าอก เป็นลมหมดสติ ผู้ใกล้ชิดนำส่งโรงพยาบาล แพทย์พบว่าหัวใจหยุดเต้น จึงให้การรักษาโดยการช่วยหายใจ ปั๊มหัวใจ ช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้า ใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ยากระตุ้นหัวใจและยาอื่นๆ อีกหลายชนิด ผู้ป่วยได้รับการรักษาต่อเนื่องที่หออภิบาลหรือหอผู้ป่วยหนักอีก 2 สัปดาห์ ผลการรักษาอาจเป็นไปได้หลายลักษณะ เช่น

1.การช่วยชีวิตสำเร็จ ผู้ป่วยฟื้นเป็นปกติ กลับไปประกอบอาชีพได้เหมือนเดิมแต่เกิดความเสียหาย คือ ฟันหน้าหัก 2 ซี่ กระดูกซี่โครงหัก 4 ซี่ ทำให้ผู้ป่วยได้รับความเจ็บปวดทุกครั้งที่บิดร่างกาย มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ไม่สามารถเดินทางไกลๆ โดยเครื่องบิน ทำให้เสียรายได้ในการประกอบธุรกิจ

- ผู้ป่วยจะเรียกร้องความเสียหายตามสิทธิใน พ.ร.บ.นี้ได้หรือไม่ เพราะความเสียหายมิใช่ความเสียหายตามธรรมดาของโรค แต่เป็นความเสียหายที่เกิดจากกระบวนการรักษา เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ เป็นความเสียหายซึ่งหลีกเลี่ยงได้ เพราะไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยทุกราย แต่ไม่ใช่เป็นความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดทางการแพทย์ที่เรียกว่า ทุรเวชปฏิบัติ หรือ Malpractice

2.ผู้ป่วยฟื้น มีชีวิตรอดจากความตาย แต่เกิดความเสียหาย คือ สูญเสียความสามารถของสมองบางส่วน ความจำเสื่อม ทำให้ประกอบธุรกิจไม่ได้ ครอบครัวได้รับความเดือดร้อนมาก

- ผู้ป่วยจะเรียกร้องความเสียหายตามสิทธิใน พ.ร.บ.นี้ได้หรือไม่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดาของโรคนั้น หรือว่าเกิดจากการรักษาไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ป่วยได้รับความเสียหาย

3.ผู้ป่วยฟื้น มีชีวิตรอดจากความตาย แต่เกิดความเสียหาย คือ สูญเสียความสามารถของสมองอย่างมาก ช่วยตัวเองไม่ได้ ขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ กินอาหารเองไม่ได้ เป็นภาระแก่ครอบครัวอย่างมาก

- ผู้ใกล้ชิดที่พาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลพบว่า แพทย์ผู้ให้การรักษาเบื้องต้นเป็นเพียงแพทย์จบใหม่ ไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลมีอุปกรณ์ไม่พร้อม เครื่องช็อกหัวใจไม่ทำงาน ทำให้การช่วยฟื้นคืนชีพไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเสียหายจนครอบครัวได้รับความเดือดร้อนและทุกข์ทรมานมาก

- ผู้ป่วย และครอบครัวจะเรียกร้องความเสียหายตามสิทธิใน พ.ร.บ.นี้ได้หรือไม่?

จะเห็นได้ว่าความเสียหายในลักษณะที่ 1 เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ ไม่ใช่เป็นความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดทางการแพทย์ที่เรียกว่า ทุรเวชปฏิบัติหรือ Mal Practice ฟันและกระดูกซี่โครงที่หักเกิดจากกระบวนการช่วยชีวิต เป็นความเสียหายที่น่าจะรับได้ในการช่วยชีวิตฟันหักสามารถใส่ฟันปลอมได้ กระดูกหักจะติดและหายเองตามธรรมชาติภายใน 4 ถึง 6 สัปดาห์

ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เปิดกว้างให้ผู้เสียหายได้รับความคุ้มครองอย่างกว้างขวางทุกกรณีที่ไม่ใช่ข้อยกเว้นใน มาตรา 6 วงเล็บ 1 ถึง 3 ถ้าคณะกรรมการหรือผู้ที่กำลังดำเนินการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีความเห็นว่า ความเสียหายที่เกิดจากเหตุลักษณะนี้ สมควรได้รับสิทธิคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ก็จะมีผู้ใช้สิทธิยื่นคำขอรับเงินค่าเสียหายมากมาย จนเป็นภาระหนักแก่ระบบการเงินของประเทศและระบบการสาธารณสุขของประเทศ กระทบการเงินที่จะนำไปพัฒนาการรักษาพยาบาลผู้ป่วยอื่นๆ และอาจกระทบระบบการบริการสาธารณสุขของประเทศได้ เพราะความเสียหายในลักษณะนี้|มีมากมาย ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงเสียชีวิต

ความเสียหายในลักษณะที่ 2 เป็นความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยไม่มี ความผิดพลาดใดๆ ในการให้บริการ อาจเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น เนื่องจากการนำผู้ป่วยส่งถึงโรงพยาบาลช้า ทำให้สมองได้รับความเสียหาย แต่ผู้เสียหายและญาติอาจมองว่า เกิดจากการบริการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้สมองเสียหาย ซึ่งจะต้องดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ว่าเข้าข่ายมาตรา 6 (1) หรือไม่ ถ้าเข้าข่ายก็ไม่มีสิทธิตาม พ.ร.บ.นี้

ความเสียหายในลักษณะที่ 3 เป็นความเสียหายซึ่งอาจเกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น เนื่องจากการนำผู้ป่วยส่งถึงโรงพยาบาลช้า ทำให้สมองขาดออกซิเจนและได้รับความเสียหาย เมื่อหัวใจหยุดเต้น สมองขาดเลือดและออกซิเจนมากกว่า 5 นาที เซลล์สมองจะเริ่มตาย ความเสียหายของสมองจึงขึ้นกับเวลาที่นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลและประสิททธิภาพของการช่วยฟื้นคืนชีพ แต่ญาติผู้เสียหายมองว่า เกิดจากความบกพร่องของโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล การบริการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้สมองเสียหาย ซึ่งจะต้องดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และพิจารณาขีดจำกัดของโรงพยาบาลและผู้ให้บริการ

การที่ร่าง พ.ร.บ.นี้ ให้สิทธิกับผู้เสียหายอย่างกว้างขวางดังกล่าว กำหนดเวลาให้คณะกรรมการและอนุกรรมการตลอดจนกระบวนการพิจารณาช่วยเหลือต่างๆ รวดเร็ว ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็วทันการ ย่อมเป็นผลดีอย่างยิ่งแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหาย แต่มีผลสะท้อนกลับ ทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่ว่าจากเหตุใดๆ แม้เพียงเล็กน้อย ใช้สิทธิเรียกร้องเงินช่วยเหลือหรือเงินชดเชย ซึ่งจำเป็นต้องหาเหตุแห่งความเสียหายที่ไม่ใช่สาเหตุในข้อยกเว้นที่จะใช้สิทธิในมาตรา 6 จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นการกล่าวโทษผู้ให้บริการหรือโรงพยาบาล ทั้งๆ ที่ผู้ให้บริการหรือโรงพยาบาลได้ให้การรักษามาอย่างดีโดยตลอด แม้กระทั่งการช่วยชีวิต จึงน่าจะมีผลกระทบที่ทำให้ความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการเสื่อมทรามลง มีผลกระทบขวัญและกำลังใจของผู้ให้บริการ ที่ทุ่มเทกายใจในการช่วยเหลือผู้รับบริการ

การกำหนดนิยามและความรุนแรงของความเสียหาย และเหตุแห่งความเสียหายให้รัดกุมจึงจำเป็น แม้ว่ามาตรา 5 กำหนดหลักการพื้นฐานไว้ว่าผู้เสียหายมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น และเงินชดเชยจากกองทุนตามร่าง พ.ร.บ. โดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด ในหลายประเทศที่มีระบบการบริการสาธารณสุขและระบบเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายที่ดี เช่นประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย จะพิจารณาช่วยเหลือเฉพาะเมื่อเกิดความเสียหายที่รุนแรง หรือที่เกิดจากความผิดพลาดของผู้ให้บริการสาธารณสุขเท่านั้น ไม่ได้เปิดให้ใช้สิทธิอย่าง กว้างขวางตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

จึงขอฝากให้คณะทำงาน พิจารณาแก้ไขมาตรา 5 และ 6 ในร่าง พ.ร.บ.นี้

สำหรับนิยาม “ความเสียหาย” ขอเสนอเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 3 ดังนี้ “ความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” หมายความว่า การเสียชีวิต การเสียอวัยวะ การเสียความสามารถในการทำงานของอวัยวะอย่างถาวรบางส่วนหรือทั้งหมด

การเสียโฉม การได้รับบาดเจ็บเรื้อรัง การได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานเรื้อรังจนมีผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีวิต อันเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการได้รับบริการสาธารณสุข ซึ่งมิไช่ผลที่คาดว่าจะได้รับตามปกติจากการรับบริการสาธารณสุข มิใช่ผลการดำเนินของโรคตามปกตินั้น มิใช่ผลที่เกิดตามมาตรฐานการรับบริการสาธารณสุขมิใช่ผลแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการรับบริการสาธารณสุขที่คาดว่าอาจเกิดขึ้น ซึ่งผู้ให้บริการสาธารณสุขได้แจ้งให้ผู้รับการรับบริการสาธารณสุขทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร

นิยามที่เสนอเพื่อพิจารณานี้ กำหนดขอบเขตความคุ้มครองให้ชัดเจนขึ้น ป้องกันมิให้มีการฉวยโอกาสเรียกร้องสิทธิโดยไม่สมควร จะช่วยให้คณะกรรมการพิจารณาการช่วยเหลือชุดต่างๆ พิจารณาได้ง่ายขึ้น ไม่กำหนดผู้กระทำหรือการกระทำว่าผิดถูกอย่างไรว่า เป็นความประมาท ความบกพร่อง ความผิดพลาด ความไม่พร้อมของผู้ให้บริการ สถานบริการ หรือกระบวนการให้บริการ แต่ดูที่ผลลัพธ์ของการบริการที่เป็นความเสียหายจึงไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 5 นิยามนี้กำหนดชัดเจนว่า ผลเสียหรือความเสียหาย เป็นผลโดยตรง ที่เกิดจากการได้รับบริการสาธารณสุขที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังและเกิดผลเสียที่กระทบต่อผู้เสียหายรุนแรงและยาวนาน

ตามตัวอย่างที่ยกมาแสดงข้างต้น ความเสียหายในลักษณะที่ 1 ฟันหักเป็นความเสียหายถาวรที่ต้องรักษาโดยการใส่ฟันปลอม สมควรได้รับการชดเชย ส่วนซี่โครงหักเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดได้จากการช่วยฟื้นคืนชีพตามมาตรฐาน และหายได้เอง จึงไม่ควรได้รับการชดเชย

ความเสียหายในลักษณะที่ 2 และ 3 ถ้านำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ช้ากว่า 5 นาทีสมองย่อมได้รับความเสียหายตามธรรมชาติ เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น แม้มีการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ จึงไม่ต้องพิจารณากระบวนการให้การบริการ แต่ถ้านำส่งผู้ป่วยได้รวดเร็วก่อน 5 นาที จึงพิจารณาว่ากระบวนการให้บริการไม่มีประสิทธิภาพและเป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่

การกำหนดคำจำกัดความและขอบเขตความคุ้มครองที่ชัดเจน จึงเป็นธรรมแก่ผู้ให้และผู้รับบริการ จำเป็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและประชาชน จะต้องช่วยกันแสดงความคิดเห็น ช่วยกันคิด ช่วยกันกำหนดขอบเขตที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศโดยรวม ไม่เปิดกว้างจนเกินไป ไม่ทำให้ผู้ฉวยโอกาสหาผลประโยชน์จาก พ.ร.บ.นี้

จึงขอฝากให้คณะทำงานพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 3 ในร่าง พ.ร.บ.นี้