ผู้เขียน หัวข้อ: รายงานพิเศษ : มะเร็งปากมดลูก...โรคร้ายภัยหญิง วัดใจ สธ.ผลักดันเป็นฉีดวัคซีนแห่งชาติ  (อ่าน 1885 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- จันทร์ที่ 28 พฤษภาคม 2555 06:00:00 น.
หลังการจุดกระแส “ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้เด็กหญิง ป.6” นายแพทย์สุรวิทย์?คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะมีรายละเอียดต่างๆ ออกมาว่าจะฉีดให้เด็กผู้หญิงอายุระหว่าง 12-15 ปีจำนวนละกว่า 400,000 คนทั่วประเทศ หวังป้องกันเชื้อไวรัสฮิวแมนแพ็ปพิลโลมาไวรัส หรือเชื้อ HPV ชนิดก่อมะเร็งที่บริเวณปากมดลูก ไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์ที่สร้างความสูญเสียชีวิตนับพันคนต่อปี รวมถึงลดการติดต่อที่มีมากกว่าปีละ 12,000 ราย ที่สำคัญหากเป็นแล้วต้องใช้การรักษาตั้งแต่ 2-5 ปี เฉลี่ยค่ารักษากว่ารายละ 1 ล้านบาทนั้นหมายถึงว่าในแต่ละปีประเทศจะต้องใช้งบประมาณมากกว่า 10,000 ล้านในการรักษาทรัพยากรมนุษย์ของชาติจำนวนนี้ไว้

 
หลายตัวอย่างเห็นชัดถึงความสูญเสียอย่างรายของ “พ่ออี๊ด”สุประวัติ ปัทมสูต พ่อผู้สูญเสียลูกสาวอันเป็นที่รัก “กุ้งนาง ปัทมสูต” เห็นว่าการป้องกันเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุด ทำนองเดียวกันสำหรับคนป่วย ถ้ารู้ว่าป่วยก็ต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้นไปอีกสิบเท่า ซึ่งโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกำลังเงินและกำลังใจ

“ตอนที่ลูกต้องสู้โรคร้ายเรารู้สึกเจ็บปวด เรามองลูกว่าเข้มแข็งเหลือเกิน แล้วมองกลับไปที่กุ้งนางที่มองว่า พ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา พี่น้องอย่าคิดอะไรมากมายเลยเดี๋ยวมันก็หาย คิดดูใจเราจะเป็นอย่างไร ในช่วงนั้นพวกเรายังสามารถดำเนินการในเรื่องต่างๆ แทนเขาได้โดยไม่ได้บอกหรือพูดตรงๆ แต่ต้องทำด้วยวิธีการที่ฉลาด แต่ใจนั้น..ไม่สามารถบรรยาย ที่สำคัญหากคนที่เสี่ยงป้องกันได้จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด”

หรืออย่างนางวัฒนา นาคธร อดีตพยาบาลและหัวหน้าฝ่ายมะเร็งเฉพาะสตรี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ผ่านประสบการณ์เลวร้ายในการเป็นมะเร็งปากมดลูกทั้งๆ ที่ตรวจร่างกายทุกๆ 6 เดือนและป้องกันทุกอย่างแต่ก็ต้องมาเป็นผู้ป่วยเสียเอง กล่าวว่า โครงการที่จะฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้กับเด็กผู้หญิงอายุ 12-15 ปีนั้นรัฐบาลหรือผู้รับผิดชอบควรดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพราะโรคนี้หากเป็นแล้วทุกข์ทั้งกายและใจ โดยตนเองตรวจพบเมื่ออายุ 51 ปี ในระยะ 1B ใช้เวลารักษาไปกว่า 2 ปีหมดเงินไปกว่า 2 ล้านบาท

“แต่ที่มากกว่าเงินคือความทุกข์ทรมาน ที่แม้นว่าตนจะมีกำลังใจจากคนรอบข้างทั้งครอบครัว และลูกๆ รวมไปถึงอาจารย์หมอที่ทำงานอยู่ด้วยกัน ตนเองยังเคยพยายามฆ่าตัวตาย แล้วคนที่มีความพร้อมทั้งกายและใจกว่าตนเองจะเป็นเช่นไร จนถึงวันนี้แม้ว่าจะรักษามะเร็งปากมดลูกจนหายแล้ว แต่ยังต้องมารักษาโรคอันเกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากการรักษามะเร็ง เช่น ท่อไตอุดตัน หรือภาวะมดลูกทะลุลำไส้ใหญ่เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ตนเห็นว่าการป้องกันดีกว่ารักษา เพราะแม้หายก็ยังเป็นเช่นนี้แต่หากป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนในวัย 12-15 ปีก่อนมีเพศสัมพันธ์นั้นป้องกันได้ถึง 99% โครงการนี้จึงไม่ควรรอช้า”

อีกหนึ่งตัวอย่างนางนพมณี อานิกวงศ์ชัย อดีตนักเรียนนอกที่ต้องทิ้งทุกอย่างเพื่อรักษามะเร็งปากมดลูกเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ตรวจพบได้เร็วและเลือกที่จะส่งตัวไปรักษาต่อที่ ร.พ.จุฬาฯเพราะมั่นใจมากกว่าและที่สำคัญคือเรื่องค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่ามาก แต่ก็ยังถือว่าสูง จาก เป็นพนักงานบริษัท เงินเดือนสูง เมื่อต้องเข้ารักษาสัปดาห์ละ 4-5 วันในที่สุดก็ต้องลาออกจากงาน และปรับพฤติกรรมการรับประทานจากเดิมที่ไม่กินผักเลย ต้องกินเฉพาะผัก โชคดีที่ได้รับการดูแลจากพ่อ แม่ ที่เกษียณราชการรวมถึงสามีที่เพิ่งแต่งงานกันได้ประมาณ 2 ปี จนถึงวันนี้เธอมีทายาทในวัย 2 เดือน

“ตอนนั้นมีเกล็ดเลือดต่ำกว่ามาตรฐานเยอะมาก เป็นผลให้ร่างกายอ่อนแอและไม่มีภูมิพอจะสู้กับเชื้อมะเร็ง จึงต้องรักษาขั้นต่อไป คือ ทำคีโม ซึ่งส่งผลกระทบมากมาย เช่น น้ำหนักลดไปเป็น 10 กิโลฯ ผอมลงมาก ผมร่วงเป็นกระจุกมากอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เครียดมากตามประสาผู้หญิงที่เพิ่งแต่งงาน กลัวจะมีลูกไม่ได้ กลัวสามีคิดมาก กลัวพ่อ แม่เครียด และหากเป็นอะไรไปจะไม่มีคนดูแล เพราะตนมีพี่น้อง 2 คน อีกคนอยู่ต่างประเทศ และที่สำคัญอีกอย่าง คือ กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะครอบครัวมีฐานะปานกลาง พ่อแม่เกษียณแล้ว ตนเองต้องออกจากงาน กลัวทุกอย่างจะตกที่สามี ค่ารักษาแต่ครั้งละประมาณ 50,000 บาท ใน 1 ปีแรกหมดไปกว่า 3 ล้าน”

นางนพมณี กล่าวว่าอยากให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข ผลักดันโครงการนี้ออกมาอย่างรวดเร็วน่าจะช่วยคนได้อีกจำนวนมาก เพราะเชื่อว่าหลายคนไม่โชคดีเหมือนตนเอง

ขณะที่ในมุมมองของ “ชลพรรษา นารูลา” ผู้ประกาศข่าวภาคเที่ยงช่อง 3 ให้มุมมองในฐานะคุณแม่ที่มีลูกสาว กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นความเสี่ยงที่น่ากลัว ผู้หญิงเป็นกันเยอะและมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกปี เคยถามคุณหมอในช่วงแรกที่เอาวัคซีนมาให้ ราคายังสูงหลักหมื่น ผ่านมาถึงวันนี้ราคาแค่หลักพันบาท สำหรับแนวคิดการนำวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี ฉีดป้องกันในเด็กหญิงไทยอายุ 12 ปีที่กำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (ป.6) นั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งนัก เพราะถึงอย่างไรแล้วการป้องกันก็น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

มุมมองของผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นของโครงการนี้ว่ามีความเร่งด่วนมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะมุมมองของความเป็นมนุษย์ที่ต้องวัดใจผู้ที่เกี่ยวข้อง

www.ryt9.com