ผู้เขียน หัวข้อ: ขัดคอนิธิ เอียวศรีวงศ์ โดยไทสยาม  (อ่าน 1533 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
ขัดคอนิธิ เอียวศรีวงศ์ โดยไทสยาม
« เมื่อ: 13 สิงหาคม 2010, 22:06:24 »
ขัดคอนิธิ เอียวศรีวงศ์ (๑)
ผู้สนับสนุนว่า “กลุ่มผู้ต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นี้อย่างรุนแรงที่สุด จึงเป็นกลุ่มสหภาพแพทย์โรงพยาบาลเอกชน ที่เรียกตนเองว่า "แพทยสภา"...”
ผู้เขียน ไทสยาม
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
การกล่าวอ้างของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในบทความ “ใครเสีย ในร่างพ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายฯ” จากมติชนออนไลน์ เป็นความคิดเห็นที่น่าฟัง เนื่องจากอาจารย์นิธิมีคุณวุฒิและมีบทบาทชี้นำสังคมมานาน ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบของผู้เขียนมาโดยตลอด จนกระทั่งได้เห็นชื่ออาจารย์นิธิเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ผู้เขียนจึงไม่ได้ติดตามต่อไป เพราะไม่สะดวกใจที่จะศึกษากันในเงื่อนไขที่ไม่ปกติ

การเป็นผู้ชี้นำสังคมมายาวนานของอาจารย์นิธิ สังคมจึงมีมายาคติเป็นความโน้มเอียงที่จะเชื่อไว้ก่อน แม้ผู้เขียนก็มีมายาคติเช่นเดียวกันกับสังคม แต่เมื่อได้อ่านบทความของอาจารย์นิธิแล้ว มายาคติที่โน้มเอียงจะเชื่อก็สลายไป เพราะสิ่งที่อาจารย์นิธิได้นำเสนอนั้น มาจากความเชื่อที่ผิดจากข้อเท็จจริง ซึ่งผู้เขียนได้คลุกคลีกับประชาชนมาโดยตลอด อีกทั้งได้ทราบกระบวนการเคลื่อนไหวและเจตนารมณ์ของผู้คัดค้านร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... มาโดยตลอด

ดังนั้น จึงนิ่งเฉยต่อไปไม่ได้ ต้องออกมาขอใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในระบบบริการสาธารณสุขกว่า๒๐ปี ต้องนำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขมายาคติที่ไม่ถูกต้องจากการชี้นำสังคมของอาจารย์นิธิ ต้องขออภัยในความไม่สะดวกยิ่งของท่านอาจารย์

การนำเสนอเพียงความดีของหลักการและเหตุผลที่อ้างปะหน้าร่างกฎหมายนั้น คนสติปัญญาสมประกอบคนใดก็ปฏิเสธไม่ได้ถ้าเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่ถ้าเป็นเพียงเพื่ออธิบายความชอบธรรมที่จะมีกองทุนขนาดใหญ่ และให้กลุ่มเอ็นจีโอผู้เสนอกฎหมาย เข้าไปบริหารกองทุน และมีระเบียบปฏิบัติที่เขียนเองโดยระเบียบกระทรวงการคลัง และการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้าไม่ถึง นั้นเป็นความจริงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นการออกกฎหมายโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมักจะอ้างความเป็นธรรม ความเสมอภาคและความเท่าเทียม ตามแนวทางทฤษฎีเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ของราษฎรอาวุโส ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับทฤษฎีแก้วสามประการในการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐ ตามลัทธิความเชื่อที่ว่า การล้มล้างอำนาจรัฐ เป็นแนวทางการเปลี่ยนแปลง ไปสู่ความเป็นรัฐในอุดมคติ ที่จะนำความเสมอภาค เท่าเทียม มาสู่มหาประชาชน ทำนองนั้น

ลัทธิหรือความเชื่อนั้น เป็นมายาคติอย่างหนึ่ง ซึ่งโน้มน้าวด้วยเหตุผลต่างๆให้คนเชื่อและคาดหวัง ถ้ามายาคติหรือความเชื่อเป็นจริงได้และเป็นธรรมย่อมเป็นสิ่งที่ดี และเป็นได้ถึงศาสนาวัฒนธรรมประเพณีที่ทุกผู้คนยึดเหนี่ยว แต่ถ้ามายาคติที่เกิดขึ้นจากความเชื่อที่เป็นเท็จ มายาคติย่อมสลายไป เมื่อความจริงปรากฏ ต่อไปนี้จะได้อธิบายถึงเหตุที่ทำให้มายาคติจากการชี้นำของอาจารย์นิธิได้สลายไป ดังต่อไปนี้

๑.การกล่าวอ้างที่ว่า “...กลุ่มผู้ต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นี้อย่างรุนแรงที่สุด จึงเป็นกลุ่มสหภาพแพทย์โรงพยาบาลเอกชน ที่เรียกตนเองว่า "แพทยสภา"...” นั้นเป็นความเท็จสองประการ
-ความเท็จประการที่๑ กลุ่มผู้ต่อต้านร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลของรัฐทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข
-ความเท็จประการที่๒.แพทยสภาไม่ใช่สหภาพแพทย์โรงพยาบาลเอกชน แต่มาจากแพทย์ผู้ได้รับเลือกตั้งจากแพทย์ผู้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทย  ๒๓ ตำแหน่ง และเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ๒๓ ตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข,อธิบดีกรมการแพทย์,อธิบดีกรมอนามัย,เจ้ากรมแพทย์ทหารบก,เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ,เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ,นายแพทย์ใหญ่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ,และคณบดีคณะแพทยศาสตร์๑๖สถาบัน

ตรงไหนที่เรียกว่ากลุ่มสหภาพแพทย์โรงพยาบาลเอกชน ? อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคม จะชี้นำสังคมเช่นนี้หรือ?

๒.การกล่าวถึง “...สิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ทั้งเพื่อปกป้องตนเอง และถ้าคิดให้กว้าง ย่อมปกป้องสังคมโดยรวมจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ขายหรือให้บริการด้วย...”นั้น

การแพทย์ไทยตั้งแต่สมเด็จพระราชชนกพระราชทานแก่ประชาชนไทยนั้น มิใช่การขายหรือการให้บริการ แต่เป็นการดูแลรักษาประชาชนด้วยพรหมวิหาร๔ (เมตตา-กรุณา-มุทิตา-อุเบกขา) ไม่มีแพทย์ผู้ดูแลรักษาประชาชนคนไหนในประเทศไทยอยากจะบอกตนเองว่าตนเป็นผู้ให้บริการ เพราะการช่วยชีวิตคนนั้นสูงกว่าการเป็นงานบริการ

หากอาจารย์นิธิยังซาบซึ้งกับการบริการด้วยหัวใจมนุษย์นั้น ขอเรียนให้ทราบว่า แพทย์ต่างประเทศนั้น เขาคิดกันแบบงานบริการ คือ เป็นธุรกิจกันนานมาแล้ว หัวใจคนมันหายไป แต่เมืองไทยมิใช่เช่นนั้น แพทย์ไทยถูกสอนให้ดูแลประชาชนด้วยพรหมวิหารธรรม มิได้เลือกยากดีมีจน ความทุกข์ของประชาชนคือทุกข์ของแพทย์และพยาบาล

ส่วนคนที่ไม่ได้ดูแลคนไข้ แต่มักไป “ศึกษาดูงาน”บ่อยๆด้วยภาษีประชาชน ณ ประเทศแถบสแกนดิเนเวียนั้น ติดอกติดใจใจภาษาหรูเลยเอามาใช้ ไม่ได้ดูแลคนไข้มานานจึงไม่รู้ว่า บ้านเรานั้นหมอกับประชาชนผูกพันกันตามธรรมเนียมไทยที่สูงด้วยคุณธรรมอยู่แล้ว เว้นแต่ ใครที่เลวมาแต่เดิม พัฒนาไม่ได้ จึงมีทุรเวชที่หาความรวยจากคนที่รู้ไม่ทัน

อีกทั้งการประทับใจกับกิจการแถบสแกนดิเนเวียนั้น ผู้เขียนอดนึกถึง “ปฏิญญาฟินแลนด์”อันโด่งดังมิได้ จึงอยากทราบว่า ระบบการดูแลแบบสแกนดิเนเวียนั้นเป็นส่วนหนึ่งในปฏิญญาฟินแลนด์หรือไม่?

และเมื่อกล่าวถึงสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ แพทย์และผู้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาประชาชนผู้มีความเจ็บป่วย ก็ย่อมมีสิทธิพื้นฐานของมนุษย์เช่นเดียวกันกับมนุษย์ผู้อื่น

ดังนั้น การเคลื่อนไหวเพื่อขัดแย้งสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ในร่างพ.ร.บ.นั้น จึงเป็นการใช้สิทธิพื้นฐานของมนุษย์ หากมนุษย์ที่มีสติปัญญาและมีสำนึกดีต่อวิชาชีพที่ดูแลรักษาชีวิตคน เห็นว่า มีสิ่งที่ไม่สมควรในกฎหมายที่จะออกบังคับใช้กับคนทั้งหมดย่อมทนไม่ได้ที่จะให้อธรรมเกิดแก่ประชาชนและประเทศชาติ การเคลื่อนไหวจึงเป็นการสมควร การไม่ปล่อยให้เกิดกฎหมายอธรรมออกใช้จึงชอบแล้ว

การคัดค้านร่างกฎหมายอธรรม จึงไม่เป็นการลิดรอนสิทธิ และผู้เจริญย่อมไม่ควรมองเป็นการลิดรอนสิทธิผู้อื่น หลักประชาธิปไตยย่อมมีการถกเหตุผลที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยได้ มีแต่ลัทธิเผด็จการเท่านั้นที่จะไม่พอใจที่มีผู้มีความเห็นแย้ง

-----------------------------------