ผู้เขียน หัวข้อ: ความเหลื่อมล้ำของประชาชนในสิทธิการรับการดูแลรักษาสุขภาพ  (อ่าน 1815 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
ความเหลื่อมล้ำของประชาชนในสิทธิการรับการดูแลรักษาสุขภาพ
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
อนุกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา
  หลายๆคนในประเทศไทยต่างก็รับรู้ว่า ประชาชนไทยนั้น ได้รับสิทธิในการรับบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขไม่เท่าเทียมกัน กล่าวคือประชาชนถูกแบ่งออกเป็น3 ประเภทตามสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลหรือสิทธิในการดูแลรักษาสุขภาพ หรืออาจจะเรียกว่าสิทธิในหลักประกันสุขภาพ คือ
1.   ประชาชนบัตรทองในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ประชาชน 47 ล้านคน มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย โดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงินงบประมาณจากเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศ ให้แก่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ให้เป็นผู้จ่ายเงินค่าดูแลรักษาสุขภาพอย่างครบวงจร ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจคัดกรองก่อนเกิดโรค ตรวจรักษาเมื่อเจ็บป่วย และให้การรักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายหลังจากหายป่วย
          โดยประชาชนกลุ่มนี้ มีทั้งคนยากจน และคนที่ไม่ยากจน ได้รับสิทธิในระบบหลักประกัน                  สุขภาพแห่งชาติ  โดยไม่ต้องจ่ายเงินของตนเองเลย เรียกว่า มีสิทธิเหนือกว่าประชาชนกลุ่มอื่นๆ
2.   ประชาชนกลุ่มประกันสังคม
.         ประชาชนกลุ่มนี้ประกอบไปด้วยประชาชนประมาณ 10 ล้านคน ที่มีทั้งคนยากจนและคนไม่ยากจน แต่เป็นผู้ขยันทำงาน ไปรับจ้างทำมาหากิน โดยมีนายจ้างเป็นเอกชน ลูกจ้างเหล่านี้ ต้องถูกบังคับให้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละ 5% ของเงินเดือนทุกเดือน โดยนายจ้างก็ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนในจำนวนเท่ากันกับลูกจ้าง แต่รัฐบาลจ่ายสมทบเพียง 2.75% โดยลูกจ้างเหล่านี้ จะได้รับสิทธิต่างๆตามพ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ. 2533 รวมทั้งสิทธิในการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยเท่านั้น ประชาชนกลุ่มนี้จึงเสียประโยชน์และถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากรัฐบาล เกิดความเหลื่อมล้ำและด้อยโอกาสกว่าประชาชนกลุ่มบัตรทอง คือไม่มีสิทธิเท่าเทียมกับประชาชนกลุ่มบัตรทอง ทั้งๆที่อาจจะมีฐานะยากจนกว่าประชาชนในกลุ่มบัตรทองบางคนก็ได้
    แต่สิทธิในการรักษาพยาบาลของประชาชนกลุ่มประกันสังคมนี้ ก็ถูกจำกัดตามระเบียบที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดไว้เอง ประชาชนกลุ่มนี้ จึงถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากรัฐบาลผู้บริหารประเทศมาเกือบ 10 ปีแล้ว  ถือว่าทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 51และนายจ้างก็ต้องจ่ายเงินแทนรัฐบาลในการดูแลรักษาสุขภาพของลูกจ้างด้วย (ไม่เหมือนกลุ่มบัตรทอง ที่รัฐบาลจ่ายแทน)
  ฉะนั้น ประชาชนกลุ่มประกันสังคม ควรจะออกมาเรียกร้องสิทธิในการรับการรักษาพยาบาล ให้เท่าเทียมกับประชาชนกลุ่มบัตรทองด้วย และรัฐบาลก็ควรบยุติการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมเช่นนี้
3.   ประชาชนกลุ่มข้าราชการและครอบครัว ประชาชนประมาณ 5 ล้านคน  ที่ยอมทำงานบริการรับใช้ประชาชนอื่นๆ โดยการสมัครเป็นข้าราชการ ยอมรับเงินเดือนและค่าตอบแทนต่ำกว่าภาคเอกชน เพื่อจะได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยและร่างการทรุดโทรมยามแก่ชรา ซึ่งในขณะนี้ ประชาชนกลุ่มนี้กำลังถูกกกล่าวหาว่า ใช้งบประมาณในการรักษาพยาบาลสูงกว่าประชาชนกลุ่มอื่นๆ
             แต่งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้สปสช.มาจ่ายให้แก่โรงพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น เป็นงบประมาณขาดดุลทุกปี โรงพยาบาลจะได้รับเงินที่ไม่สามารรถครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนได้อย่างเพียงพอ ทำให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีหนี้สิน 1,600 ล้านบาท โดยมีโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขที่มีงบดุลติดลบหรือขาดทุนอยู่ 505 แห่ง(คิดเป็นจำนวน 62.8% ของโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข)*
 โรงพยาบาล โดยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการปรับเพิ่มราคาค่ายาและค่าบริการทั้งหมด รวมทั้งค่าห้องพิเศษ ขึ้นมากกว่าเท่าตัวจากอัตราเดิมในปีพ.ศ. 2547 หลังจากพบว่า งบประมาณในการดำเนินงานของโรงพยาบาลลดลงอย่างมากจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งไม่ได้รับงบประมาณโดยตรงจากรัฐบาลในการซ่อมแซมและพัฒนาเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์เลย การเพิ่มอัตราค่าบริการทั้งหลายเหล่านี้ โรงพยาบาลจะเก็บได้จากผู้ป่วยที่ใช้สิทธิในระบบสวัสดิการข้าราชการและครอบครัว หรือประกันสังคม หรือผู้ที่จ่ายเงินเอง
  ผลจากการขึ้นราคาค่าบริการของโรงพยาบาลนี้เอง ทำให้กระทรวงการคลังออกมาโวยวายว่า ข้าราชการใช้เงินในการรักษาแพงกว่าประชาชนทั่วไป จึงเป็นที่มาของการจำกัดสิทธิบางอย่างในการรักษาตัวของข้าราชการและครอบครัว และมีการกล่าวประณามว่าข้าราชการเบิกยาเกินจริงหรือเบิกยาไปขาย ทุจริตค่ารักษาพยาบาล
 รัฐบาลก็ควรรีบจัดการลงโทษผู้ทุจริตตามกฎหมาย แต่รัฐบาลต้องเรียนรู้ด้วยว่า ค่ารักษาของข้าราชการแพงขึ้นมาก เพราะกระทรวงสาธารณสุขต้องขึ้นราคาค่าบริการ เพื่อเอาเงินค่ารักษาจากระบบอื่นเช่นจากระบบสวัสดิการข้าราชการ มาช่วยแก้ปัญหาการขาดทุนจากระบบบัตรทอง

จะเห็นได้ว่าประชาชนในกลุ่มบัตรทอง มีสิทธิในการดูแลรักษาสุขภาพมากกว่าประชาชนกลุ่มอื่น เพราะคนไม่ยากจน ก็สามารถไปรับบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งและไม่จำกัดยาหรือการตรวจรักษาใดๆ


  จึงขอเสนอให้รัฐบาลต้องแก้ไขความเหลื่อมล้ำของประชาชนกลุ่มผู้ประกันตน ให้ได้รับสิทธิในการประกันสุขภาพ โดยไม่ต้องจ่ายเงินของตนเอง ให้เหมือนกับประชาชนกลุ่มบัตรทองด้วย เงินที่นายจ้างและลูกจ้างจ่ายเข้าสู่กองทุนประกันสังคมนั้น ควรเก็บไว้จ่ายเพื่อสิทธิประโยชน์อื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ. 2533 ที่นอกเหนือจากการดูแลสุขภาพที่ควรจะได้สิทธิในระบบบัตรทองเหมือนประชาชนอีก 47 ล้านคนด้วย

*ข้อมูลจากนพ.สมชัย นิจพาณิช ในการสัมมนาเรื่อง 8 ปีภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 12 มีค. 2553