ผู้เขียน หัวข้อ: เหตุผลสำคัญที่ไม่ต้องมีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข  (อ่าน 1977 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
เหตุผลสำคัญที่ไม่ต้องมีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์
และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)

  ปัจจุบันนี้ มีปัญหาการโต้แย้งในเรื่องการนำเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....  เข้าสู่การพิจารณาในวาระ 1 ของสภาผู้แทนราษฎร ความขัดแย้งนี้เกิดจากแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข เริ่มมาอ่านร่างพ.ร.บ.เหล่านี้ทั้งหมดที่รอเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 1 ของสภาผู้แทนราษฎร และเห็นว่าร่างพ.ร.บ.นี้จะทำให้เกิดความเสียหายต่อแพทย์ผู้ยังปฏิบัติงานในในสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข  รวมทั้งจะเกิดผลเสียหายแก่ประชาชน และระบบการเงินงบประมาณของโรงพยาบาลและงบประมาณของประเทศ
  แพทย์กลุ่มผู้ปฏิบัติงานนี้ มองเห็นอะไรจากร่างพ.ร.บ.เหล่านี้? จะขออธิบายอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่า แพทย์กลุ่มนี้ มองเห็นความไม่ชอบมาพากลอะไรจากร่างพ.ร.บ.เหล่านี้?
1.   การเขียนหลักการและเหตุผลให้ดูดี แต่ เมื่อดูรายละเอียดของพ.ร.บ.แล้วจะเห็นว่า ในมาตราต่างๆจะขัดแย้งกันเอง และขัดแย้งกับหลักการและเหตุผล ซึ่งมีนักกฎหมายได้ให้ความเห็นเช่นนี้มากมายหลายคน
2.   ร่างพ.ร.บ.นี้จะมีผลผูกพันกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานรักษาประชาชนในโรงพยาบาลของรัฐบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมาก เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลส่วนใหญ่ที่ต้องรับรักษาผู้ป่วยมากที่สุด แต่มีความขาดแคลน ทั้งคน เงิน สิ่งของ อาคารสถานที่
3.   แต่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพบยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขส่วนมากหรือแทบทุกคน ต่างก็ทุ่มเทแรงกาย สติปัญญา ประสบการณ์และความสามารถในการดูแลรักษาประชาชนอย่างเต็มที่ แพทย์ต้องทำงานสัปดาห์ละ 90-120 ชั่วโมง ต้องทำงานติดต่อกันมากกว่า 32 ชั่วโมง บุคลากรพยาบาลก็ต้องทำงานติดต่อกันมากกว่า 16 ชั่วโมง ทั้งนี้ด้วยความสำนึกในหน้าที่ ตามคุณธรรม จริยธรรมของวิชาชีพที่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยจากครูบาอาจารย์ แต่การทำงานติดต่อกันอย่างยาวนานและขาดการพักผ่อนนี้เอง อาจก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย อาจเกิดผลเสียหายแก่ประชาชนที่มารับการตรวจรักษา และเป็นผลร้ายแก่สุขภาพของบุคลากรเอง
4.   แทนที่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขเช่นรัฐมนตรีและปลัดกระทรวง จะพยายามบริหารจัดการให้มี คน เงิน สิ่งของ อาคารสถานที่ให้เหมาะสมและพอเพียงกับจำนวนประชาชนที่เจ็บป่วย เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รับการดูแลรักษาอย่างปลอดภัยจากบุคลากรที่มีการพักผ่อนอย่างพอเพียง ทั้งนี้เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีพลังกาย พลังความคิด สติปัญญาและสามารถใช้วิจารณญาณที่เหมาะสม ในการตัดสินใจรักษาผู้ป่วยแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม ลดความผิดพลาด เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประชาชน แต่กลับจะมาเห็นดีเห็นงามเฉพาะการร่างกฎหมายมาชดเชยความเสียหายให้ประชาชนเท่านั้น คือปล่อยให้บุคลากรเสี่ยงต่อการรักษาที่ผิดพลาด รอให้ประชาชนเสียหายก่อน แล้วจึงหาเงินมาชดเชย
5.   การจัดตั้งกองทุนนั้นก็บ่งบอกถึงการเลียนแบบจากกองทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลรักษาสุขภาพ เช่น สวรส. สปสช.สสส. สช.โดยมีรายชื่อกลุ่มแพทย์เพียงกลุ่มเดียว ที่มีชื่อเป็นกรรมการกองทุนเหล่านี้หลายกองทุน บางคนเป็นกรรมการแทบทุกกองทุน โดยมีผลประโยชน์เป็นตัวเงิน และผลประโยชน์อำนาจ ให้มีช่องทางใช้เงินของกองทุน โดยการอนุมัติของคณะกรรมการกองทุน และยังมีรายชื่อของกลุ่มNGO คุ้มครองผู้บริโภค ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่เป็นกรรมการในกองทุนเหล่านี้หลายกองทุนเหมือนกัน มาเขียนร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ เขียนล็อกสเป็คมาเป็นกรรมการรักษาการตามบทเฉพาะกาล เพื่อจะมาตั้งกฎเกณฑ์ในการบริหารกองทุนต่อไป บ่งบอกถึงผลประโยชน์ทับซ้อนของแพทย์กลุ่มนี้และNGO กลุ่มนี้ ในกองทุนใหม่นี้อีก
6.   ในมาตราต่างๆของร่างพ.ร.บ.เหล่านี้ บ่งชี้ว่า การตัดสินการรักษาทางการแพทย์ตามมาตรฐาน โดยไม่อาศัยความคิดเห็นตามหลักวิชาการของผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์นั้น บุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะเชื่อได้เลยว่า การปฏิบัติงานของตนจะได้รับการตัดสินที่ไม่ยุติธรรม ตามหลักวิชาการและเหตุผลเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ แต่กลุ่มผู้ร่างและสนับสนุนกฎหมายนี้ ต่างก็ออกมาอ้างประเทศสวีเดน แต่ประเทศนี้ เขาก็ตัดสินมาตรฐานโดยผู้ทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญเฉพาะสาขานั้นๆเท่านั้น มิได้ให้คณะกรรมการมาตัดสินชี้ขาดแต่อย่างใด
7.   ผู้สนับสนุนกฎหมายเหล่านี้ อ้างว่าจะช่วยลดการฟ้องร้องแพทย์ แต่นักกฎหมายหลายๆคน ได้ชี้ชัดว่า พ.ร.บ.นี้ จะไม่ช่วยลดการฟ้องร้องและร้องเรียนลงได้
8.   สวรส. ที่เป็นกลุ่มแพทย์ผู้ร่วมร่างและสนับสนุนพ.ร.บ.นี้ได้กำหนดแหล่งที่มาของเงินจากการเก็บจากสถานบริการของภาครัฐและเอกชนเป็นรายหัวๆละ 80บาทสำหรับผู้ป่วยใน(นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล) และหัวละ 5 บาท สำหรับผู้ป่วยนอก (ไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล) ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนปีละ5-10 ล้านบาทตามจำนวนผู้ป่วย ซึ่งโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขต่างก็ขาดเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานอยู่แล้ว ถ้าจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนนี้อีก (เพื่อไปให้กรรมการกองทุนใช้จ่ายในการทำงานและบริหารกองทุนส่วนหนึ่ง กับรอไว้จ่ายให้ประชาชนผู้เสียหายอีกส่วนหนึ่ง) ก็จะทำให้โรงพยาบาลยิ่งขาดเงินในการซื้อยาและเวชภัณฑ์มารักษาผู้ป่วยมากขึ้น ผลที่สุดแล้ว ประชาชนจะเสียผลประโยชน์จากการขาดแคลนยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์
9.   ถึงแม้ไม่มีพ.ร.บ.นี้ ประชาชนก็ได้รับความคุ้มครองตามม.41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีเงินงบประมาณรัฐบาลปีละ1%ของงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 อยู่แล้วปีละ 1,000 กว่าล้านบาท แต่สปสช.จ่ายให้ประชาชนที่เสียหายเพียงรายละ 200,000 บาทสูงสุดเท่านั้น ทำให้ประชาชนอ้างว่าไม่เพียงพอต่อผู้พิการที่จะใช้ดำรงชีพ ก็ต้องไปกำกับให้สปสช.พิจารณาจ่ายให้เหมาะสม ส่วนประชาชนในกลุ่มประกันสังคมและกลุ่มสวัสดิการข้าราชการนั้น สามารถขยายความคุ้มครองจากม.41 นี้ได้ ตามความเห็นของนักกฎหมายหลายคน และกระทรวงการคลัง กพ.และกพร ตามบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ 740-741/2552.
10.   ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข สวรส สปสช. สช. และสสสง.จะพัฒนาระบบบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขอย่างไร ให้มี คน เงิน ของ และอาคารสถานที่ให้เพียงพอ เหมาะสม ได้มาตรฐาน และปลอดภัยสำหรับประชาชน จงรีบทำก่อนที่จะเกิดความเสียหายต่อระบบบริการทางการแพทย์และประชาชนทั้งฝ่ายผู้รักษาผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปทั้งประเทศดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และจะมากยิ่งขึ้นในอนาคต ถ้าปล่อยให้มีการบังคับใช้ร่างกฎหมายฉบับนี้