ผู้เขียน หัวข้อ: เอาพิมพ์เขียวเก่าทิ้งไป จ้างคนออกแบบใหม่ดีกว่า---โดยคนจริงใจ  (อ่าน 1999 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
การช่วยเหลือผู้ที่เกิดผลกระทบจากระบบสาธารณสุขเป็นสิ่งที่ดี
การลดการฟ้องร้องบุคลากรทางสาธารณสุขก็เป็นสิ่งที่ดี
แต่เราไม่ต้องการ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขฉบับนี้

หากรัฐบาลต้องการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณะจากรัฐ ก็ไม่ควรเลือกปฏิบัติ ออกกฎหมายเฉพาะด้านสาธารณสุข แต่ควรออกพ.ร.บ.ช่วยเหลือเยียวยา และคุ้มครองบริการสาธารณะในทุกๆด้านด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณูปโภค ด้านคมนาคม ด้านการศึกษา ด้านความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ด้านกระบวนการยุติธรรม และอื่นๆ คุ้มครองให้หมดด้วยหลักเกณฑ์ที่เหมือนๆกัน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น และชดเชยโดยเร็ว รวมทั้งไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ระดมเก็บเงินสมทบจากผู้ให้บริการสาธารณะนั้นๆด้วย  มีผู้เสียหายจากบริการอื่นๆของรัฐมากมาย แต่ไม่มีใครสนใจใยดี อยากร้องเรียนฟ้องร้องก็ต้องทำด้วยตัวเอง แต่ส่วนใหญ่รับชะตากรรม ถือเป็นเวรกรรม ถือเป็นเรื่องธรรมดาของประเทศไทยไปแล้ว

ไฟดับ ไฟกระชาก ไฟตก จนทำให้อุปกรณ์เครื่องไฟฟ้า คอมพิวเตอร์พังเสียหายเป็นหมื่นเป็นแสนก็ไม่รู้จะไปเรียกร้องกับใคร ส่งลูกหลานไปเรียนในโรงเรียนของรัฐ ตั้งแต่อนุบาลจนจบมัธยมปีที่ 6 แล้วเอ็นทรานซ์ไม่ติดไม่มีที่เรียน ไม่มีงานทำ รัฐรับผิดชอบช่วยเหลืออะไรบ้าง ป้อมตำรวจอยู่ใกล้ๆบ้าน โจรขึ้นบ้านขนของมีค่าไปหมด ทำได้แค่ไปเขียนบันทึกแจ้งความแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น รัฐจะช่วยบ้างไหม ขายของอยู่ในห้างสรรพสินค้าแถวๆราชประสงค์ แถวๆสยามสแควอยู่ดีๆ มีคนไปปิดล้อม ขนเอาสินค้าไป แล้วเอาไฟไปเผา รัฐช่วยเหลือเบื้องต้นหรือยัง ชดเชยให้หรือเปล่า  โดยไม่ชักช้าหรือไม่ พิสูจน์ถูกผิดเสร็จหรือยัง เป็นต้น

ไม่ค่อยอยากพูดถึงเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มันหดหู่ยังไงชอบกล คนที่มีพื้นฐานทางสาธารณสุข และกฎหมายบ้าง อ่านจนจบก็จะรู้สึกเหมือนๆกัน เนื้อหาขัดแย้งกัน หมกเม็ด ซ่อนเร้นผลประโยชน์อื่นเอาไว้ สร้างอำนาจแฝงที่จะครอบงำระบบสาธารณสุข โดยอาศัยผู้เสียหายบังหน้า  กองทุนขนาดใหญ่สามารถเอาไปใช้อย่างไม่ถูกไม่ควร ไม่เหมาะสมได้อย่างง่ายดาย เป็นการขยายฐานอำนาจให้คนบางกลุ่มเท่านั้น  การคิดช่วยเหลือผู้เสียหาย หรือผู้ที่มีผลกระทบจากบริการสาธารณสุขนั้นไม่จำเป็นต้องมี พ.ร.บ. ไม่จำเป็นต้องตั้งเป็นกองทุนให้ใครมาบริหาร ไม่จำเป็นต้องให้อำนาจใครมาบ่งการชี้นิ้วสั่งสอนสถานพยาบาลต่างๆว่าต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ เพียงแต่รัฐบาลมีความจริงใจเท่านั้น จริงใจที่จะให้เงินสนับสนุนโดยตรงกับสถานพยาบาลของรัฐทั่วประเทศเพื่อใช้ในการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย ประกอบกับการแก้ไขกฎระเบียบทางราชการบางอย่าง แค่นั้นเอง

ทุกวันนี้สถานพยาบาลต่างๆก็เจอกับเรื่องร้องเรียนจากผู้ป่วย และผู้เสียหายกันเป็นประจำอยู่แล้ว โรงพยาบาลแต่ละแห่งล้วนมีความสามารถที่จะพูดคุย ไกล่เกลี่ย และประนีประนอม รวมทั้งให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายกันอย่างได้ผล หลายแห่งหลายครั้งไม่ได้ใช้เงินในการเยียวยา เพราะผู้เสียหาย หรือญาติส่วนใหญ่ไม่ได้มุ่งจะเอาเงิน ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ ความเอื้ออาทร และความเอาใจใส่ต่างหากที่พวกเขาอยากได้ที่สุด นี่เป็นความดีงามอย่างหนึ่งของสังคมไทย สังคมที่แนบอิงกับหลักศาสนาให้ความสำคัญกับจิตใจมากกว่าวัตถุ  เป็นความจริงที่นับวันวัตถุนิยมจะครอบงำสังคมไทยมากขึ้นๆ เพราะกระแสทุนนิยม และโลกาภิวัฒน์ แต่มันก็ไม่ถูกที่เราจะเร่งสังคมของเราเองให้เดินหน้าเข้าสู่สังคมวัตถุนิยม หากดึงรั้งไว้ได้พวกเราน่าจะช่วยกันชะลอ ติดเบรกให้กับสังคมบ้าง ถ้าวันใดความดีงามด้านจิตใจสูญพันธ์จากสังคมไทย เราจะเรียกร้องให้มันกลับมาไม่ได้อีกแล้ว

ทุกวันนี้สถานพยาบาลต่างๆก็พัฒนาคุณภาพการให้บริการกันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว เพราะว่าบุคลากรสาธารณสุขรู้ดีว่างานสาธารณสุขไม่เคยหยุดนิ่ง มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา แม้จะขาดแคลนทั้งกำลังคน และงบประมาณ แม้กระทั่งขาดขวัญกำลังใจ ก็ไม่มีใครยอมล้าหลัง โรงพยาบาลแต่ละแห่งได้พัฒนาบุคลากร ระบบ ระเบียบต่างๆขึ้นมาเพื่อความปลอดภัยในการดูแลรักษาผู้ป่วย มันน่าแปลกใจที่รัฐบาลปล่อยให้เกิดความขาดแคลนขึ้น และปล่อยให้ความขาดแคลนนั้นดำรงอยู่ รัฐปล่อยให้บุคลากรสาธารณสุขของรัฐทำงานท่ามกลางความขัดสน ในขณะที่บุคลากรสาธารณสุขกระเสือกกระสนพัฒนางานของตัวเอง  มีคนเคยเปรียบเทียบบุคลากรสาธารณสุขเหมือนทหาร ไปสู้รบกับโรคภัยไข้เจ็บของประชาชน รัฐบาลส่งไปสู้โดยขาดแคลนอาวุธ ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่สี่แยกคอกวัว(10 เม.ย.) ทหารถูกส่งไปโดยปราศจากกระสุนจริง ไปสู้กับความบ้าคลั่งของฝูงชน ผลเป็นอย่างไรล่ะ ภารกิจล้มเหลว ทหารบาดเจ็บล้มตายจำนวนไม่น้อย รัฐบาลแค่สารภาพว่าคาดไม่ถึง ไม่นึกว่าประชาชนบางส่วนจะมีอาวุธ และกล้าใช้อาวุธกับทหาร

รัฐบาลคงคาดไม่ถึงในอีกหลายๆเรื่อง ความจริงก็คือ เหตุการณ์ที่สี่แยกคอกวัวกำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้  เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลของรัฐโดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป เราเสียบุคลากรทางสาธารณสุขไปตลอดเวลา เสียไปโดยการลาออก และเลิกเป็นบุคลากรสาธารณสุข  ลาออกไปอยู่ภาคเอกชน โยกย้ายไปอยู่ในส่วนที่งานน้อยลง โยกย้ายไปอยู่สายงานที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ลดการทำงานที่เสี่ยง หันไปทำงานที่เสี่ยงน้อยลง เสียไปโดยการทำงานแบบขาดขวัญกำลังใจ ทำๆไปอย่างนั้นล่ะ บางส่วนถึงกับทำงานไปพร้อมกับความคับข้องใจ

นี่ก็ไม่ต่างจากทหารที่บาดเจ็บล้มตายที่สี่แยกคอกวัว รัฐบาลคงคาดไม่ถึงว่ามีประชาชนบางส่วนใช้อาวุธกับบุคลากรทางสาธารณสุข อาวุธก็คือสิทธิที่จะร้องเรียนฟ้องร้องที่มีมากในขณะนี้ แค่การข่มขู่ว่าจะใช้อาวุธก็สามารถทำร้ายบุคลากรผู้ไร้เครื่องป้องกันได้ เครื่องป้องกันที่รัฐควรจะให้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 (แต่ก็ไม่ให้สักที)  ยิ่งเคยมีการตัดสินถึงขั้นจำคุกแพทย์ ก็ยิ่งทำให้บุคลากรขวัญอ่อนกันไปใหญ่ การข่มขู่ และการขู่กรรโชกบุคลากรทางสาธารณสุขไม่เคยเป็นข่าว สังคมไม่เคยรับรู้ สื่อมวลชนไม่เคยสนใจ ทหารที่บาดเจ็บล้มตายยังได้รับการช่วยเหลือเยียวยา แต่ไม่มีสำหรับบุคลากรสาธารณสุขเหล่านั้น  

เรื่องการฟ้องร้องเป็นการทำลายความรู้สึกที่ดีๆต่อกัน ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ ไม่มีใครอยากให้มี แต่มันก็เป็นอาวุธอย่างดีสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่สามารถลดการฟ้องร้องได้อย่างแน่นอนเพราะไม่มีมาตราไหนช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีอย่างที่กล่าวอ้าง มีแต่การเน้นเรื่องเงินช่วยเหลือ เงินชดเชย ความสัมพันธ์ที่ดีไม่ได้เกิดจากเงิน  ความสัมพันธ์ที่มีเงินมาข้องเกี่ยวไม่เคยยั่งยืน ไม่เคยราบรื่น และไม่เคยสงบสุขโดยเฉพาะในสังคมที่อ่อนแอเรื่องคุณธรรม และจริยธรรม ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำมีมากเกินไป และในสังคมที่มุ่งไปสู่วัตถุนิยม ถ้าผู้ป่วยมีเงินมาล่ออยู่ข้างหน้า บุคลากรสาธารณสุขมีความหวาดระแวงอยู่เบื้องหลัง ปฏิสัมพันธ์จะเป็นในรูปแบบใด ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ดีแน่นอน

ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีอะไรบ้างที่ไม่อยากได้ และที่อยากได้ ใจจริงแล้วไม่อยากได้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ทั้งร่าง แต่ลองดูส่วนประกอบต่างๆของพ.ร.บ.ฉบับนี้กัน มีกองทุน ผู้บริหารกองทุน เงินช่วยเหลือเบื้องต้น เงินชดเชย การไกล่เกลี่ย การพัฒนาระบบความปลอดภัย  ถ้าถูกบังคับให้เลือกว่าจะเอาอะไรในร่าง
พ.ร.บ. ก็ขอเลือกเอาเฉพาะ เงินช่วยเหลือเบื้องต้น และเงินชดเชย เพราะเป็นประโยชน์กับประชาชน

กองทุน ไม่เอาเพราะไม่โปร่งใส กองทุนถูกระบุว่าไม่ต้องตกเป็นเงินของแผ่นดิน นั่นเท่ากับว่ากองทุนนี้จะไม่ได้ถูกตรวจสอบอย่างเงินอื่นๆของรัฐ (ขนาดมีการตรวจสอบตามระบบก็ยังเห็นว่ามีการทุจริตกันมากมาย) เงินที่จะใช้ตามพ.ร.บ.นี้ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะจัดสรรมา และให้กับสถานพยาบาลโดยตรง

ผู้บริหารกองทุน(คณะกรรมการฯ)นั้น พ.ร.บ.ให้มีอำนาจกำหนดกฎ ระเบียบต่างๆได้เอง การแสวงหาผลประโยชน์จึงเกิดได้ง่าย ดังนั้นไม่เอา และไม่จำเป็น

การไกล่เกลี่ย และการพัฒนาระบบความปลอดภัยก็มีทำกันอยู่ทุกโรงพยาบาลแล้ว ไม่จำเป็นต้องจ้างคนมาไกล่เกลี่ย ไม่จำเป็นต้องให้ใครก็ไม่รู้มาชี้นิ้วว่าต้องพัฒนาอย่างไร

แต่การจะให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้น และเงินชดเชยกับใครก็ต้องมีเงื่อนไขที่ชัดเจน มีคณะกรรมการที่มีความรู้ในเงื่อนไขนั้นๆ ไม่ใช่เอาใครก็ได้ อีกอย่างที่สำคัญ คือ ไปยุ่งกับภาคเอกชนทำไม ถ้ารัฐอยากจะทำประชานิยมก็ทำไปในภาครัฐที่ให้บริการกับประชาชนโดยเฉพาะในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพราะถือเป็นหน้าที่ของรัฐทึ่จะดูแลประชาชนผ่านกระทรวงสาธารณสุข ไม่ควรไปบังคับภาคเอกชน หรือแม้แต่ในสังกัดกระทรวงอื่นๆ เพราะประชาชนมีสิทธิที่จะเข้าใช้บริการของกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว แต่หากเลือกจะใช้บริการของภาคเอกชน หรือของสังกัดอื่น ก็มีช่องทางทางกฎหมายอื่นๆอยู่แล้ว เว้นแต่ขออาสาเข้าร่วมเองเหมือนการเข้าร่วมบัตรทองของสปสช.

ถ้าเปรียบ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เหมือนกับบ้าน ก็ยังไม่อยากสร้างบ้านใหม่ ขอขยายต่อเติมบ้านหลังเก่าดีกว่า ประหยัดกว่า คุ้มกว่า ปลอดภัยกว่า แต่ถ้าจะให้วิจารณ์แบบแปลนบ้านที่เสนอว่าจะสร้างใหม่(ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้) บอกได้ว่าออกแบบโครงสร้างผิด และจัดพื้นที่ใช้สอยไม่เหมาะสม ยากที่จะแก้ไขให้ดีได้บนโครงสร้างแบบเดิม เอาพิมพ์เขียวเก่าทิ้งไป จ้างสถาปนิกออกแบบใหม่ดีกว่า
.....................................
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 ธันวาคม 2014, 00:02:50 โดย pradit »