ผู้เขียน หัวข้อ: ตัณหานักบุญ โดย อ.แก้วสรร 2 เพื่อแพทย์  (อ่าน 2391 ครั้ง)

Thitiporn

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 4
    • ดูรายละเอียด
             ปัญหาการประกันความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขโดยผิดพลาด
                        แก้วสรร  อติโพธิ ...
   การพัฒนาระบบประกันสุขภาพให้มีบริการสาธารณสุขที่ได้ทั้งคุณภาพและความทั่วถึง   แถมด้วยความคุ้มครองที่มั่นคงจากความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นได้นั้น    ถือเป็นภารกิจที่ไม่มีรัฐใดปฏิเสธได้  แต่จะทำได้เพียงไหนด้วยแนวทางใดก็ยังมีทั้งข้อจำกัด และทางเลือกที่แตกต่างกันออกไปได้   ความรู้จักประมาณตนและรู้จักเลือกจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาระบบนี้ขึ้นมาในแต่ละประเทศ
กฎหมายประกันสุขภาพและระบบ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค   ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาโดยหมอและเอ็นจีโอสาธารณสุขหัวก้าวหน้า   และผลักดันจนสำเร็จเป็นงานชิ้นโบว์แดงของระบอบทักษิณ    ซึ่งจนปัจจุบันก็ยังมีปัญหาแฝงฝังให้ต้องฟันฝ่าอีกมาก   
มาบัดนี้ซุ้มคุณหมอและเอ็นจีโอดังกล่าว   ก็ได้ดิ้นรนผลักดันร่างกฎหมายประกันความเสียหายตามมาอีก  และก็มีคุณหมอลุกขึ้นแต่งดำคัดค้านกันเป็นการใหญ่ ตามที่เป็นข่าว   ซึ่งดำริในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ และกระทบถึงประชาชนโดยตรง   จึงควรที่เราท่านจะได้รู้เท่าทันความเห็นและผลประโยชน์ที่ซุกซ่อนอยู่   ดังผมจะขอนำเสนอในท่วงทำนอง ปุจฉา-วิสัชนา ไปโดยลำดับดังนี้
ความเสียหายจากการรักษาพยาบาล
ถาม   อะไรคือความเสียหายจากการรักษาพยาบาลครับ?   ไปรักษาเบาหวานแล้วถูกตัดขาหามกลับมาบ้าน  อย่างนี้ใช่ความเสียหายจากการรักษาหรือไม่
ตอบ   กฎหมายเขาจะถามก่อนว่า   แม้คุณหมอจะพยายามรักษาดูแลอย่างไรก็ต้องถูกตัดขาอยู่ดีใช่ไหม ?   ถ้าตอบว่าใช่เพราะตอนไปหาหมอนั้นแผลที่ขามันลุกลามเรื้อรัง ขาดำจนหยุดไม่ได้แล้ว    อย่างนี้ก็ไม่ถือว่าขาหายไปเพราะการรักษาพยาบาล  แต่หายไป ถูกตัดไป เพราะแผลลุกลามด้วยโรคเบาหวาน 
ถาม   แล้วถ้าแผลไปลุกลามตอนนอนที่โรงพยาบาล  เนื่องจากเกิดอาการติดเชื้อ เพราะการดูแลรักษาไม่ได้มาตรฐานล่ะครับ
ตอบ   ตรงนี้ก็กลายเป็นความเสียหายจากการรักษาพยาบาล คือขาหายไปเพราะการรักษา ไม่ได้มาตรฐาน  คุณหมอหรือโรงพยาบาลต้องรับผิดชอบ
ถาม   มีไหมครับที่รักษาอย่างได้มาตรฐานแล้ว  ก็ยังเกิดความเสียหายอยู่ดี ?
ตอบ   มีแน่นอน  อย่างเพื่อนผมไปผ่าต้อกระจกแล้วตาบอด   แล้วปรากฏว่าหมอใช้ยาชาและฉีดยาชาได้มาตรฐานทุกอย่าง   แต่ประสาทตากลับแพ้ยาโดยเป็นอาการเฉพาะที่ไม่มีทางตรวจเจอ  และเกิดขึ้นได้หนึ่งในหมื่นเท่านั้น   ความเสียหายอย่างนี้  ในทางกฎหมายเขาเรียกว่าความเสียหายจากการรักษาพยาบาลที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้    คุณหมอไม่ต้องรับผิด
   โดยสรุปแล้ว  ความเสียหายที่เกี่ยวข้องจึงแยกแยะได้ดังนี้
        ๑)+๒) ความเสียหายหลังออกจากโรงพยาบาลเช่น “ตัดขา”
        ๑) ความเสียหายจากอาการของโรคโดยแท้ เช่นแผลลามมาก่อนแล้ว  ต้องถูกตัดขาอยู่ดี
       ๒) ความเสียหายจากการรักษาพยาบาล
   ๒.๑)เสียหายเพราะรักษาไม่ได้มาตรฐานจนแผลติดเชื้อ
            
                ๒.๒) ความเสียหายที่รักษาดีแล้ว แต่ก็ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตามแผนผังข้างต้น ความเสียหายมี ๓ ชนิด คุณหมอต้องรับผิดเฉพาะ ๒.๑) คือรักษาไม่ได้มาตรฐานเท่านั้น  ถ้าเสียหายเพราะโรคโดยแท้ คือ๑) หรือเป็นความเสี่ยงโดยสภาพของการรักษาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ได้คือ ๒.๒)ทั้งสองกรณีนี้คุณหมอไม่ต้องรับผิด   
ถาม   คดีที่มักจะเกิดขึ้นคือคดีอย่างไหนครับ
ตอบ   คือคดีที่ฟ้องตาม ๒.๑) ว่าหมอรักษาไม่ได้มาตรฐาน   แล้วหมอสู้ว่าได้มาตรฐานแล้วแต่ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะโรคโดยแท้ตาม ๑)  หรือเป็นความเสียหายจากการรักษาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ตาม ๒.๒) ครับ
โครงสร้างกฎหมายในปัจจุบัน
ถาม   ในทางกฎหมายนั้น มีการจัดการความเสียหายหลังการรักษาพยาบาลอย่างไรบ้าง
ตอบ   ที่เป็นระบบทั่วไปนั้นรัฐจะไม่เข้ามายุ่ง  ปล่อยให้ชาวบ้านเขาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากหมอหรือโรงพยาบาลเอาเอง    ข้างหมอหรือโรงพยาบาลเขาก็เฉลี่ยความเสี่ยงกันเองโดยการซื้อประกันความรับผิดทางวิชาชีพ  จากบริษัทประกันภัย   ซึ่งปัจจุบันก็ทราบว่าซื้อประกันกันแพร่หลายมากทีเดียว 
ถาม   แล้วระบบเฉพาะคืออะไรครับ
ตอบ   เป็นระบบเฉพาะในกองทุน ๓๐ บาทของรัฐเท่านั้น  ที่รัฐให้ประกันกับชาวบ้านว่า  ถ้าเสียหายเพราะหมอทำแล้วล่ะก็    ให้ยื่นขอชดใช้จากกองทุนได้เลยไม่ต้องไปฟ้องไปหาหลักฐานพิสูจน์กับใครให้เหนื่อยยาก  แล้วรัฐจะตรวจสอบให้เองถ้าพบว่าจริงก็จะจ่ายเงินชดเชยให้เลย  เพราะถือเป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องประกันคุณภาพบริการของตน   
ถาม   เมื่อจ่ายเงินแล้วหมอที่รักษาผิดพลาดต้องจ่ายเงินให้ใครอีกไหมครับ
ตอบ   ระบบนี้กองทุนจะไปไล่เบี้ยเรียกจากหมอไม่ได้   เพราะถือเป็นการจ่ายตามหน้าที่ของรัฐเอง    ส่วนคนไข้จะติดใจไปฟ้องเรียกเงินจากหมอต่อไปอีกหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเขาระบบอย่างนี้มีแต่การรักษาพยาบาลในโครงการ ๓๐ บาทเท่านั้น    ถ้าคุณไปรักษาในกองทุนประกันสังคมหรือใช้สิทธิข้าราชการ หรือโดยออกเงินเองก็ตาม  จะไม่มีระบบประกันคุณภาพแบบนี้    เกิดปัญหาคุณก็ต้องฟ้องหมอเอาเอง  ถ้าหมอมีประกัน ประกันเขาก็จะมาช่วยหมอเจรจากับคุณอีกแรงหนึ่ง
ร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
ถาม   ถ้าร่างกฎหมายที่กำลังมีปัญหาในปัจจุบันนี้  ผ่านรัฐสภาจะเกิดอะไรขึ้นบ้างครับ
ตอบ   จะมีความเปลี่ยนแปลงเป็นนัยยะสำคัญดังตารางเปรียบเทียบต่อไปนี้ ครับ
                        โครงสร้างปัจจุบัน                                               โครงสร้างใหม่
๑. เอาเงินของรัฐมาเป็นประกันคุณภาพเฉพาะระบบ๓๐ บาทของรัฐเท่านั้น  หน่วยบริการระบบอื่นไม่ถูกบังคับให้มาร่วมประกัน   บังคับให้หน่วยบริการทุกระบบต้องวางเงินมารวมเป็นกองทุนประกันคุณภาพบริการของทุกระบบ  โดยแต่ละหน่วยอาจซื้อประกันเป็นส่วนตัวเพิ่มขึ้นต่อไปอีกก็ได้
๒. ไม่มีการผลักภาระค่าชดเชยไปยังประชาชนผู้รับบริการ  เพราะตัดมาจากกองทุน ๓๐ บาท   หน่วยบริการนอกระบบ๓๐ บาทจะต้องผลักภาระใหม่นี้มารวมในค่าบริการทั่วไป ส่วนตัวระบบ๓๐ บาทเองก็อาจลดเงินในส่วนนี้ลงอีก
๓.การตรวจสอบมาตรฐานในระบบประกันว่าแต่ละคดีมีการให้บริการต่ำกว่ามาตรฐานหรือไม่  ยังใช้แพทย์วิชาชีพเฉพาะ
๔.โรงพยาบาลและหมอไม่คัดค้านอะไรเพราะไม่เกิดภาระทางการเงินและยังใช้หมอผู้ชำนาญเป็นผู้ตรวจมาตรฐาน   ใช้คณะกรรมการที่มีคนนอกวิชาชีพ ที่เป็นตัวแทนเอ็นจีโอ และส่วนงานอื่น มาร่วมตัดสินมาตรฐานด้วย
คัดค้านกันมากเพราะต้นทุนสูงขึ้นทั้งระบบและเห็นว่าเอาคนนอกมาชี้มาตรฐานวิชาชีพไม่ได้ ทุกวันนี้ก็เสี่ยงจะแย่อยู่แล้ว
ถาม   ผมฟังดูแล้วก็คล้ายๆกับกฎหมายที่บังคับให้รถทุกคันเอาประกันความเสียหายต่อบุคคลที่สามไว้ จึงจะต่อทะเบียนได้    เกิดอุบัติเหตุเมื่อใดผู้เสียหายก็ได้เงินจากบริษัทประกันเลย  โดยไม่ต้องมาเถียงกันว่าใครถูกใครผิด  ยังงี้ก็ดีนะครับ
ตอบ   ไม่เหมือนหรอกครับ  ตามร่างกฎหมายนี้มันยังยืนอยู่บนความรับผิดของหมอนะครับ   ถ้าเป็นเหตุสุดวิสัยกองทุนนี้ก็จะไม่จ่ายนะคุณ
แต่ ถ้าเปลี่ยนเสียใหม่ให้เป็นว่าใครเสียหายจากการรักษาก็เอาเงินไปเลยไม่ต้องหาว่าใครผิดอย่างนี้  ปัญหาโต้แย้งจะน้อยลงมาก   คงเหลือแต่ภาระทางการเงินเท่านั้น
   ว่ากองทุน ๓๐ บาทและผู้รับบริการนอกระบบ ๓๐ บาท จะรับภาระเงินกองทุนได้ไหม
   ปัญหาแรกจึงอยู่ที่ตรงนี้ก่อนว่าเราจะให้มีประกันความเสียหายชนิดใดบ้าง เอากว้างขวางถึงขนาดผิดหรือไม่ผิด ก็ให้ชดใช้ทุกกรณีเลยหรือไม่ คุณว่าอย่างไรล่ะครับ
ถาม   ถ้าคิดเป็นสวัสดิการก็ต้องช่วยเหลือทั้งหมดแหละครับ  ใครขาหายไปจากอุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วยก็ต้องช่วยทั้งนั้น   ต้องมาจากเงินรัฐทั้งหมดด้วย     แต่ถ้าคิดเป็นการประกันคุณภาพของบริการว่าจะไม่มีความผิดพลาด  อย่างนี้ก็จะต้องจำกัดการชดใช้แต่เฉพาะกรณีรักษาไม่ได้มาตรฐานเท่านั้น  ผมว่าเอาแค่ประกันคุณภาพก่อนก็พอนะครับเรื่องสวัสดิการไปว่าอีกเรื่องหนึ่งดีกว่า
ตอบ   โอเค...ความคิดคุณชัดเจนแล้ว    ปัญหาต่อไปต้องถามว่ารัฐมาจัดตั้งกองทุนประกันเองทำไม?    ทำไมไม่ทำแบบประกัน พรบ. คือออกกฎหมายบังคับให้ทุกสถานบริการต้องซื้อประกันความรับผิดบุคคลที่สามจากบริษัทประกันภัย ตามกรมธรรม์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด   อย่างนี้คุณว่าจะดีกว่าให้รัฐตั้งกองทุนประกันเสียเอง ดังร่าง
กฎหมายนี้หรือไม่
ถาม   วิธีนั้นเอกชนเขาก็ทำกันมากอยู่แล้วนะครับ    แต่มันจะมีปัญหาโยกโย้ตอนเคลม
   ประกันมากนะครับ    ให้รัฐทำมันจะจ่ายง่ายกว่าแน่ๆ
ตอบ   ปัญหาตรงนี้ผ่อนคลายได้   ออกกฎหมายไปเลยให้มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
รับคำขอเคลมประกันจากผู้เสียหายก่อน    แล้วเสนอความเห็นไปยังบริษัทประกัน  ได้ผลอย่างไร ใครยังไม่พอใจก็ค่อยไปถึงศาลอีกทีหนึ่ง   กลไกอย่างนี้จะช่วยให้ความเป็นธรรมได้มากกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน
ถาม   ตรงนี้ก็มาถึงปัญหาสุดท้ายว่า   การสืบข้อมูลและตรวจมาตรฐานการให้บริการในคดี
เคลมประกันไม่ว่าจะประกันแบบใดนั้น   เราควรให้คนนอกวิชาชีพมาตัดสินหรือไม่
ตอบ   ผมเองเป็นนักกฎหมายผมมองไม่ออกว่าอยู่ดีๆถ้าผมไปนั่งเป็นกรรมการนี่  แล้วผมจะ
   มีความรู้ไปชี้ขาดอย่างนั้นอย่างนี้ได้อย่างไรในปัญหาอย่างนี้     ชี้ไปแล้วให้หมอเป็น
   ฝ่ายแพ้จนผู้เสียหายได้เงินไปจำนวนหนึ่ง   เขาก็จะไปฟ้องเรียกเงินเพิ่มจากหมออีก
   ต่างหาก เกิดคดีเพิกถอนใบอนุญาตตามมาอีกด้วย   
ปัญหาอย่างนี้พวกหมอเขาจึงต้องวิตกมากเป็นธรรมดาว่า  จะเอาใครที่ไหนมาชี้ขาดมาตรฐานนี้   ตรงนี้ผมเข้าใจและเห็นใจเขานะคุณ  คนไข้โรคเดียวกันแต่คนละสังขารนี่มาตรฐานก็ต่างกัน   โรคเดียวกันแต่คนละโรงพยาบาล  มีความพร้อมของเครื่องมือ
ประสบการณ์  ปริมาณงานไม่เท่าเทียมกัน  มาตรฐานมันก็ต่างกันได้อีก   คนที่จะวินิจฉัยปัญหาเรื่องมาตรฐานนี่  จึงต้องเป็นมืออาชีพที่มีวิจารณญาณจริงๆ  จึงจะให้ความเป็นธรรมได้ต่อทั้งสองฝ่าย
ถาม   แล้วหลักประกันนี้มันควรจะเป็นอย่างไร
ตอบ   เป็นผม ผมจะมีกองทุนให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย  มีอำนาจเรียกข้อมูลสถานบริการที่เกี่ยวข้องแทนผู้เสียหาย  มีนักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญประจำ   สู้แทนผู้เสียหายได้ทุกชั้นจนไปถึงชั้นศาล  ว่ากันแฟร์ๆตรงตัวกระบวนการอย่างนี้   ผมว่าคุณหมอเขาปฏิเสธไม่ได้หรอกครับ  แต่เอาตัวแทนเอ็นจีโอจากไหนก็ไม่รู้มานั่งวินิจฉัยมาตรฐานของหมอนี่   เป็นผม..ผมก็ไม่ยอมแน่นอน
ถาม   นอกจากปัญหาหลักสามประการที่กล่าวมาแล้ว   ปัญหาในระดับภาพรวมคืออะไรครับ
ตอบ   ความคิดของซุ้มนี้   เขามุ่งเขาฝันจะรวมเอาทุกระบบมารวมกันหมดมานานแล้ว   จะเอาทั้งกองทุนประกันสังคม,กองทุนบำเหน็จบำนาญ หรือแม้กระทั่งเงินประกันสุขภาพที่ชาวบ้านเขาลงทุนซื้อประกันไว้เป็นส่วนตัว   เขาก็คิดจะเอามารวมกับกองทุน ๓๐ บาทให้ได้  ตอนเป็น สว.ผมค้านถึงที่สุดเลย  คนไม่เหมือนกันจะมาลิดรอนสิทธิของเขา โดยรวมปฏิบัติเท่ากันหมดได้อย่างไร
เรื่องประกันความเสียหายนี่ก็เอาอีกว่า  ต้องรวมเป็นระบบเดียวทั้งประเทศ  แล้วพอเรายอมจนเกิดอำนาจกลางขึ้นมา  ก็จะมีพื้นที่ให้ซุ้มของตนไปตั้งรกรากใช้อำนาจใช้ทรัพยากรนั้นอีกจนคนเขาไม่ไว้วางใจไปทั่วอีกชั้นหนึ่ง    เป็นอย่างนี้ทุกที
ภาพรวมของปัญหาอย่างนี้จึงมีคำถามรวบยอดที่สุดอยู่ตรงที่ว่า
 “ เราจะยอมรับระบบรวมศูนย์แบบเทพเจ้าแห่งความหวังดีนี้กันต่อไปอีกหรือไม่ ? ”   
                                            ...............................
         

ขออภัยที่ส่งรูปมาให้ไม่เป็นค่ะ

today

  • Staff
  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 263
    • ดูรายละเอียด
Re: ตัณหานักบุญ โดย อ.แก้วสรร 2 เพื่อแพทย์
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 14 สิงหาคม 2010, 22:48:39 »
ให้อภัยครับ
ผมก็ทำไม่เป็นเหมือนกัน