ผู้เขียน หัวข้อ: ตัณหานักบุญ โดย อ.แก้วสรร อติโพธิ  (อ่าน 3285 ครั้ง)

Thitiporn

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 4
    • ดูรายละเอียด
ตัณหานักบุญ โดย อ.แก้วสรร อติโพธิ
« เมื่อ: 13 สิงหาคม 2010, 11:08:06 »
คำบอกกล่าว
   ครับ..เขาจะตั้ง“กองทุนอิสระ”กันอีกแล้ว   คราวนี้มาในนามของการคุ้มครองผู้เสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขที่ผิดพลาด       คราวหน้าเมื่อถึงคราวนำเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศนี่ก็คงโผล่ออกจากกระเป๋าอีกหลายกองทุนด้วยกันเป็นแน่
คำว่ากองทุนนี่..ผมหมายถึงกองทุนที่ตั้งขึ้นด้วยอำนาจรัฐแล้วมีกฎหมายบังคับเอาเงินจากส่วนรวมเป็นปกติธุระ   มารวมกันให้ไปใช้จ่ายทำงานอย่างหนึ่ง เช่น
๑. กองทุนสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพ ( สสส.) ตัดเอาเงินจากภาษีบาป ในอัตราแน่นอนปีละประมาณ ๓,๕๐๐ ล้านบาท
๒. กองทุน ดำเนินการทีวีสาธารณะ ( ไทยพีบีเอส) ตัดเอาเงินจากภาษีบาปในอัตราแน่นอนปีละประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท
๓. กองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข   กำลังจะจัดตั้งโดยตัดเงินจากกองทุนประกันสุขภาพของรัฐมารวมกับเงินที่บังคับเก็บเอาจากโรงพยาบาล คลินิกทุกแห่ง
 ( รวมทั้งร้านขายยาด้วย?) ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาทแน่นอน
กองทุนที่กล่าวมาข้างต้น  ผมเรียกว่ากองทุนอิสระ   เพราะมีคณะกรรมการอิสระพร้อมสำนักงานและอำนาจหน้าที่แยกจากราชการ    ไม่มีทั้งการสั่งการและกำกับดูแลโดยรัฐมนตรีใด  ตัวกรรมการจะมาจาก เอ็นจีโอจำนวนมาก   
ที่มาของกองทุนอิสระเหล่านี้จะเริ่มผลักดันภารกิจส่วนรวมอันดูดีออกมาเสียก่อนจากนั้นจึงกล่าวอ้างว่าเป็นงานที่ต้องพ้นจากนักการเมือง  ด้วยเหตุที่ต้องอาศัยความเป็นมืออาชีพ หรือการมีส่วนร่วมนานา   แล้วก็สร้างกลไกการเข้าสู่ตำแหน่งด้วยการเลือกกันเอง หรือเลือกกันเองแล้วส่งไปให้คนอื่นให้ความเห็นชอบ 
 จนนานไปก็กลายเป็นถิ่นฐานของซุ้มเอ็นจีโอ ที่ทำงานไปโดยไร้การประเมิน ไร้การตรวจสอบ เล่นพรรคเล่นพวก ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยรั่วไหล    นำเงินที่บังคับเก็บจากส่วนรวมมาใช้ เหมือนราชการและนักการเมือง   แต่กลับมีอภิสิทธิ์ยิ่งกว่านักการเมืองมาจนทุกวันนี้
กองทุนอิสระอย่างนี้ ถึงเวลาที่ต้องตรวจสอบเพื่อปฏิรูปกันได้แล้วว่า     แท้ที่จริงนั้นก็เป็นการหนีเสือ คือหนีนักการเมืองมาปะจระเข้ที่ดูดีแต่ไม่ดีจริง  ใช่หรือไม่        ดังในกรณีการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขที่ผิดพลาด ในครั้งนี้     ก็มีทางเลือกที่น่าจะหนีเสือแล้วไม่ปะจระเข้เอ็นจีโอ ได้เหมือนกัน  กล่าวคือ

ความเสี่ยงในการรักษาพยาบาล และทางเลือกของรัฐในการสร้างหลักประกัน
   คนป่วยเบาหวานเข้าโรงพยาบาล มีอาการเป็นแผลที่ขาขวาลุกลามไม่หยุดจนขาดำไปข้างแล้ว  หมอรับรักษาแล้วก็ต้องตัดขาทิ้ง  ถามว่าการที่ขาหายไปข้างหนึ่งนี้เป็นความเสียหายจากการรักษาพยาบาลหรือไม่?  คำตอบคือไม่ใช่   กรณีอย่างนี้ถ้ารัฐจะช่วยเหลืออย่างไร  ก็เป็นเรื่องของสวัสดิการผู้พิการโดยทั่วไปเท่านั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องสาธารณสุขเลย     อย่าเอาเรื่องน่าสงสารอย่างนี้มาปนกับการคุ้มครองผู้เสียหายจากการรักษาพยาบาล
   กรณีที่สอง  ผู้ป่วยเป็นต้อกระจกให้หมอผ่าตัดตา  แต่ฉีดยาชาแล้วตาบอดถาวร  อย่างนี้เป็นความเสียหายจากการรักษาพยาบาลแน่นอน   จะโทษว่าตาบอดเพราะต้อกระจกไม่ได้   ความเสียหายอย่างนี้มีสาเหตุได้ ๒ ลักษณะคือ
หมอผิด  เพราะรักษาไม่ได้มาตรฐาน  เช่นฉีดยาชาไม่ถูกต้อง ทำลายเส้นประสาทในดวงตา
หมอไม่ผิด หมอรักษาได้มาตรฐานฉีดยาและใช้ยาถูกต้องทุกอย่างแล้ว   แต่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่ไม่อาจตรวจสอบพบได้  จึงแพ้ยาชา 
ในสภาวะข้างต้นถ้ารัฐไม่ทำอะไรเลย   ชาวบ้านก็ต้องคอยหาสาเหตุ คอยทวง คอยฟ้อง
จากหมอเอาเอง   สภาพเช่นนี้หลายประเทศเห็นว่าไม่พึงประสงค์ จำเป็นที่รัฐต้องใช้อำนาจเข้ามาสร้างระบบจัดการดูแลความเสี่ยงนี้ให้มีหลักประกันที่ดีกว่า  ก็ต้องใช้อำนาจบังคับให้เกิดหลักประกัน ได้ดังทางเลือกต่อไปนี้
๑.   รับประกันเฉพาะกรณีที่หมอผิดเท่านั้น  ทำได้โดย
๑.๑) รัฐออกเงินตั้งกองทุนเป็นประกันเสียเอง  ( วิธีนี้ปัจจุบันใช้อยู่ในไทยเฉพาะการรักษาพยาบาลที่อยู่ในกองทุน ๓๐ บาท ระบบอื่นทั้งประกันสังคมและข้าราชการและที่ซื้อบริการโดยปกติทั่วไปจะไม่มีหลักประกันนี้  )
๑.๒) รัฐออกกฎหมายบังคับให้ทุกสถานบริการต้องซื้อประกันจากบริษัทประกันภัยว่าถ้าตนรักษาผิดพลาดเมื่อใด บริษัทประกันจะจ่ายแทน  ( วิธีนี้ปัจจุบันยังไม่มีการบังคับ  ปล่อยให้หมอหรือโรงพยาบาลซื้อประกันเอาเอง )
๒. รับประกันทุกกรณีไม่ว่าหมอจะผิดหรือไม่ก็ตาม ทำได้โดย
              ๒.๑)  รัฐออกกฎหมายเรียกเก็บเงินจากทุกสถานบริการมารวมเป็นกองทุน โดยตั้ง
         คณะกรรมการพร้อมสำนักงานขึ้นบริหารโดยเฉพาะ ( วิธีนี้ซุ้มเอ็นจีโออ้างว่าอยู่ใน
         ร่างกฎหมายใหม่ของตน  แต่พอตรวจทานตัวร่างจริงๆ พบว่ายังยืนอยู่บน ๑.๑) คือ
                  ชดใช้เฉพาะเมื่อหมอทำผิด  แต่ขยายกรอบบังคับให้ทุกระบบการรักษาต้องถูกเก็บ
         เงินมาเข้ากองทุน และอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของกรรมการกองทุน ที่เขียนใหม่ให้เอ็นจี
         โอเข้ามาเต็มไปหมดพวกหมอจึงไม่ยอม  ที่จะให้ใครไม่รู้มาตัดสินมาตรฐานการ
         ทำงานของตน )
     ๒.๒) รัฐไม่เข้ามาดำเนินการเอง แต่จะออกกฎหมายบังคับให้ทุกสถานบริการและทุก
      บุคลากรต้องซื้อประกันภัยจากบริษัทประกันตามกรมธรรม์มาตรฐานที่รัฐกำหนด
                ( วิธีนี้สวีเดนทำถึงขนาดให้รัฐตั้งรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทประกันภัยเพื่อการนี้
        โดยเฉพาะ )
ทางเลือกของผู้บริโภค
   การขยายหลักประกันตามข้อเสนอของซุ้มเอ็นจีโอในครั้งนี้   จะต้องเรียกเก็บเงินสมทบจากทุกสถานบริการและทุกบุคลากร  ว่ากันว่าจะเลยไปถึงการขายยาในร้านขายยาเลยทีเดียว  เงินนี้จะเก็บกันเท่าใด  ตกมาถึงผู้บริโภคที่เสียหายเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่   หรือไหลไปเป็นค่าบริหารกองทุน กว่า ๑๐%   แล้วมีเอ็นจีโอนั่งยิ้มรับจ๊อบทำงานอยู่เ ต็มไปหมด 
 จริงหรือไม่ว่าความรั่วไหลเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแล้วกับกองทุน ๓๐ บาท   ที่ปัจจุบันมีหนี้สินค้างชำระโรงพยาบาลต่างๆ ที่ สตง.ตรวจพบกว่า ๑ พันล้านบาท  จนทำให้ต้องมา กดราคาโรงพยาบาลคู่สัญญา  ทำให้หลายโรงพยาบาลต้องบอกเลิกรับงาน ๓๐ บาท กันมากมายจนทุกวันนี้     
นอกจากความโปร่งใสแล้ว  ความแตกต่างระหว่างการประกันตาม ๑ และ ๒ ว่าจะประกันเฉพาะกรณีที่หมอผิด หรือรับทั้งกรณีหมอไม่ผิดด้วยนั้น    ทั้งสองทางเลือกนี้คิดเป็นมูลค่าเพิ่มที่จะตกแก่ผู้บริโภคเท่าใด   ใครบ้างที่ต้องจ่ายและจ่ายโดยเท่าเทียมเป็นธรรมหรือไม่
ก็เป็นปัญหาที่ซุ้มเอ็นจีโอผู้เสนอนี้ต้องทำให้กระจ่างด้วยเช่นกัน
ทางเลือกของบุคลากรด้านสาธารณสุข
   สำหรับบุคลากรสาธารณสุขตั้งแต่คุณหมอทั้งหลายลงไปนั้น   ทางเลือกที่ให้มีการประกันความเสียหายโดยไม่ต้องสอบสวนเอาผิดใคร   ใครเสียหายก็ใช้ให้ไปเลยเหมือนการประกัน พรบ.รถยนต์  ว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุโดยรถคันนี้เกี่ยวข้องด้วยก็เอาไปเลย ๒ หมื่นบาท   จะเอามาก กว่านี้ก็ไปฟ้องกันเองว่ารถคันนี้ผิด    วิธีนี้น่าจะเป็นสุขด้วยกันทุกฝ่ายและไม่มีเอ็นจีโอมาคอยตรวจทานมาตรฐานสาธารณสุขทั้งที่ไม่รู้เรื่องอีกต่อไป   ยังความสบายใจได้หมดทุกคน
ถ้ารับกันได้ตามนี้  ก็ต้องร่างกฎหมายออกมาให้ชัดเจน  ไม่ใช่ร่างแบบซ่อนเงื่อนจะเอาผิดหมอ
เหมือนร่างของ เอ็นจีโอ ปัจจุบัน   
การยืนกรานว่า “อย่ามายุ่งกับหมอนะ  เหนื่อยจะแย่อยู่แล้ว” จึงหาใช่ทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่ายเลย
ทางเลือกของรัฐ
ส่วนปัญหาสุดท้ายว่าจะทำเป็นกองทุนประกันภัย ให้รัฐบังคับเก็บจากทุกหน่วยบริการ   หรือจะทำแค่ตรากฎหมายบังคับให้ทุกหน่วยต้องเอาประกันความเสียหาย โดยซื้อประกันจากบริษัทประกันภัย เหมือนประกัน พรบ.รถยนต์นั้น   ตรงนี้รัฐก็น่าจะรู้ตัวดีว่าไม่มีใครเชื่อคุณเลย
 ทางเลือกที่มี จึงเหลือแต่เพียงว่า  จะยอมให้บริษัทประกันภัยเขารับงานนี้  โดยตนเองคอยคุมมาตรฐานไว้   หรือจะโอนอำนาจให้ซุ้มเอ็นจีโอรับงานไปตั้งกองทุนอิสระอีกเช่นเคย   
ทางเลือกไหนที่ผู้บริโภคและบุคลากรสาธารณสุขเขาจะรับได้มากกว่ากัน   ก็เป็นเรื่องที่ท่าน“รัฐ”   ท่านน่าจะตระหนักและตัดสินใจให้สมกับความรับผิดชอบของตนได้แล้ว    ถ้ายังทำตัวเป็นคนกลางจัดเจรจาเช่นทุกวันนี้     หรือตัดสินใจเตะออกโดยมอบให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศเขาศึกษาดู    ก็โปรดว่ามาให้ชัดเจนด้วยเถิด  จะได้เห็นกันว่า  ท่านได้ตัดสินใจจะไม่ตัดสินใจ   (อีกครั้งแล้ว)
                                                       .........................

today

  • Staff
  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 263
    • ดูรายละเอียด
Re: ตัณหานักบุญ โดย อ.แก้วสรร อติโพธิ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 14 สิงหาคม 2010, 23:25:44 »
ขอบคุณความผิดพลาด         ที่ทำให้ฉลาดยิ่งกว่าเดิม