ผู้เขียน หัวข้อ: มรดกโลก มรดกไทย มรดกใคร-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 3522 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

มิเชล โอลีฟ (Michel Olyff) ศิลปินชาวเบลเยียม คงตื้นตันใจไม่น้อย เพราะสัญลักษณ์มรดกโลกที่เขาออกแบบให้ยูเนสโกเมื่อปี พ.ศ. 2521 ปัจจุบันประดับอยู่ในสถานที่สำคัญรวม 890  แห่งใน 148 ประเทศ    ทั่วโลก ในจำนวนนี้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 689 แห่ง มรดกโลกทางธรรมชาติ 176 แห่ง  และมรดกโลกผสมระหว่างวัฒนธรรมและธรรมชาติ  25 แห่ง  และยังมีสถานที่อีกไม่น้อยที่ต้องการสัญลักษณ์นี้ไป   “ตีตรา” รับรองความสำคัญราวกับเครื่องหมายการค้า        
                มรดกโลก (World Heritage) เป็นแนวคิดมุ่งมั่นปกป้องสถานที่สำคัญทั่วโลกให้รอดพ้นจากการคุกคามของภัยหลากหลาย ทั้งน้ำมือมนุษย์ สงคราม และภัยธรรมชาติ เพื่อเป็นมรดกของมวลมนุษยชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ
                ไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 และได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนสถานที่ต่างๆ ในประเทศให้เป็นมรดกโลกมาแล้ว 5 แหล่ง ประกอบด้วยมรดกโลกทางวัฒนธรรม 3 แหล่ง คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชรและเมืองบริวาร อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และมรดกโลกทางธรรมชาติ 2 แหล่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง  และป่าเขาใหญ่-ดงพญาเย็น และยังมีสถานที่สำคัญๆอีกกว่าสิบแห่งที่เข้าคิวรอ สองแห่งในนั้นคืออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี และเส้นทางราชมรรคา ปราสาทพิมาย-เมืองต่ำและพนมรุ้ง ซึ่งบรรจุอยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative list)
                ความสำคัญของมรดกโลกไม่ได้อยู่ที่เงิน เพราะแม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนในทางเงินทุนสักบาท ทว่าตรามรดกโลกสามารถสร้างและปลุกเร้าให้เกิดพลังในการอนุรักษ์ที่เข้มแข็งที่เงินซื้อไม่ได้ มรดกโลกช่วยให้เกิดความหวงแหน เกิดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ประเทศภาคีสมาชิกต้องออกกฎหมายพิทักษ์ จัดหาบุคลากรและเงินทุนเพื่อปกปักรักษาแหล่งมรดกโลก   ตรามรดกโลกจึงเปรียบเสมือนปริญญาการจัดการที่เข้มแข็ง   ธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร บอกว่า "ดีกรีในการปกปักรักษามรดกโลกจะสูงเป็นพิเศษครับ เพราะมี awareness ตั้งแต่ในระดับชุมชน จังหวัด ไปจนถึงประเทศ สูงกว่าแหล่งโบราณคดีทั่วไป”

           ตัวอย่างเร็วๆนี้คือข่าวครึกโครมการขยายถนนสู่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่สองของไทย     ซึ่งแม้จะไม่ได้กระทบกับพื้นที่ป่าโดยตรง   แต่ก็กลายเป็นวิวาทะตั้งแต่ในสภากาแฟไปจนถึง     โต๊ะจีน นี่คือพลังของมรดกโลกที่กระตุ้นให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นและความหวงแหนอย่างเข้มข้น ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ  รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวในเวทีเสวนา “การขยายถนนในพื้นที่ป่ากรณีเขาใหญ่” ว่า "การที่เขาใหญ่เป็นทั้งอุทยานแห่งแรกของไทยและมรดกโลกทางธรรมชาติทำให้เกิดความสนใจเป็นพิเศษครับ"
ทว่านัยเคลือบแฝงภายใต้ตรามรดกโลกอันงดงาม ส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ “การท่องเที่ยว” ทั้งนี้เพราะมรดกโลกเปรียบเสมือนตรารับรองคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวผู้แสวงหาความแปลกใหม่ ทำนองเดียวกับที่ร้านอาหารมีตราหรือโลโก้รับรองความอร่อย ในแง่มุมหนึ่งนี่คือประโยชน์ เพราะชาวบ้านท้องถิ่นเจ้าของมรดกโลกคือผู้ได้รับอานิสงส์จากการจับจ่ายใช้สอยโดยตรง    
                ณ บ้านเชียง หมู่บ้านไทพวนทางตะวันออกของจังหวัดอุดรธานี ที่นี่นักโบราณคดีค้นพบเครื่องปั้นดินเผา ข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันร่องรอยชุมชนอายุกว่า 5000 ปีก่อนประวัติศาสตร์ หลักฐานทางโบราณคดีอันทรงคุณค่าส่งผลให้บ้านเชียงได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2534 ไหลายและหม้อเขียนสีอันเป็นสัญลักษณ์ของบ้านเชียงก็โด่งดังไปทั่วโลก
               หลังจากนั้น บ้านเชียงก็เจริญขึ้นตามลำดับนอกจากถนนรนแคมที่ขยายเพื่อรับรถของนักท่องเที่ยว และเมืองที่เจริญผิดหูผิดตา ชาวบ้านหลายคนก็ผันตัวจากชาวนาเข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างไม่เคอะเขิน เล็ก กวางชัยภูมิ ชาวบ้านหัวก้าวหน้าคนแรกๆ ที่ก็อปปี้ลวดลายของไหโบราณไปขายเป็นของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวจนมีเงินมีทองใช้ไม่ลำบาก เล่าว่า "ขายดี แต่ก่อนแม่นี่บ้านนอกหลายเด้อ ขายได้เงินแสนฝากธนาคารบ่เป็น ยัดใส่เสื้อใน โอ๊ย! พุงนี้ป่อง"
               น่าอิจฉาคนบ้านเชียง แต่การท่องเที่ยวก็ไม่ใช่แนวคิดอันสวยหรูของมรดกโลก และบ่อยครั้งก็เป็นทางแพร่งที่ชวนคนมาทะเลาะกันได้บ่อยๆ นักอนุรักษ์บางคนประณามหยามเหยียดการท่องเที่ยวแบบสุดโต่งว่าเป็นการทำลายล้าง "จิตวิญญาณ" ทางวัฒนธรรมจนวอดวาย แผงร้านค้าที่แออัดยัดเยียดในพื้นที่มรดกโลกรอบเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา เป็นกรณีหนึ่งที่มักถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการคุกคามแหล่งมรดกโลกด้วยน้ำมือของการท่องเที่ยว
                แต่ชาวบ้านบางคนคงไม่ยี่หระ เพราะการท่องเที่ยวนำเงินมาให้พวกเขาและพัฒนาท้องถิ่นจนเจริญผิดหูผิดตา  แม่ใหญ่คำตา วัย 86 ปี ขายเสื้อผ้าไหมอยู่หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง บอกว่า "แม่แก่แล้ว แต่บ่คิดว่าสิได้เห็นเลยน้อ ลูกเอ๊ย มื้อนี่บ้านเชียงเจริญดีแท้ๆ"

ถ้าการท่องเที่ยวทำให้ชาวบ้านเจ้าของมรดกโลกยิ้มได้สบายอกสบายใจจากโอกาสทางรายได้ แต่สำหรับชาวเมืองเก่าสุโขทัย ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มรดกโลกแห่งแรกของไทยอาจไม่ได้คิดเช่นนั้นทุกคน เพราะหากย้อนไปราวยี่สิบปีที่แล้ว ก่อนหน้าที่จะประกาศเป็นมรดกโลก ชาวบ้านส่วนหนึ่งต้องอพยพย้ายออกจากที่ดินใกล้โบราณสถาน เพื่อเปิดโอกาสให้กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะบำรุง เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเป็นมรดกโลก เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความไม่พอใจให้ชาวบ้านส่วนหนึ่ง พวกเขามองว่าเป็นการคุกคามสิทธิ

                ปัจจุบันชาวบ้านรวมตัวกันอาศัยในชุมชนที่ชื่อว่า ชุมชนรามเล็ก ซึ่งอยู่ติดกับรั้วอุทยานฯเพียงไม่กี่ก้าว ท่ามกลางความต้องการของภาครัฐที่อยากจะควบคุมและจำกัดการเติบโตของชุมชนในเขตโบราณสถาน ทว่าจากที่ผมลองสอบถามชาวบ้านในชุมชนนี้ดู พวกเขาไม่มีใครที่อยากจะย้ายออกจากชุมชนไปอีก และไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว
                นี่คือความคับข้องใจของอีกแนวความคิดหนึ่ง เมื่อยูเนสโกมองการขยายตัวของชุมชนเป็นการคุกคามรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะการขยายตัวที่เป็นการรบกวน "ความดั้งเดิม" (authenticity) และกระทบกระเทือนต่อภูมิทัศน์มรดกโลก ที่ผ่านมาการจัดการดังกล่าวมักโดนท้วงติงมาก มรดกโลกที่ไร้ชีวิตจิตวิญญาณ ไม่ต่างอะไรกับซากปรักหักพังที่อวดโฉมในพิพิธภัณฑ์ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยาอาวุโสให้ความเห็นว่า มรดกโลกนั้นตัดขาดจากจิตวิญญาณของชุมชน ทำลายวิถีชุมชนของชาวบ้าน  ไม่ต่างอะไรกับการล่าอาณานิคม และชาวบ้านท้องถิ่นล้วนตกเป็นเหยื่อมรดกโลก "ผมว่ามรดกโลกทุกแห่งล้วนดูแห้งแล้ง เพราะไม่มองประวัติศาสตร์ทางสังคม ไม่มีการสืบเนื่องของคนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของที่อยู่ตรงนั้น"                                                                                                                                                            
แดดบางๆสีเหมือนสุราจางในบ่ายวันอาทิตย์ ค่อยๆละเลียดอยู่ตามหลืบพงหญ้าริมน้ำน่าน ฝั่งตรงข้ามคือแปลงเพาะปลูกอะไรสักอย่างที่เจ้าของไถพรวนเตรียมหว่านพืชในฤดูกาลใหม่ ตรงขอบฟ้าไกลลิบคือสันเขาสลับซับซ้อนที่โอบกอดเมืองนี้ไว้อย่างอบอุ่น น่าน จังหวัดเล็กๆที่มีประชากรราว 475,000 คน และมีประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม  อันเป็นเอกลักษณ์ กำลังเดินหน้าสู่มรดกโลกอย่างช้าๆ พร้อมๆไปกับโปรยเสน่ห์ยั่วยวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยเทศ  
                สโรช รัตนมาศ หัวหน้าวัฒนธรรมจังหวัดน่าน หนึ่งในฟันเฟืองผลักดันเมืองน่านสู่มรดกโลกมาเกือบสิบปี เล่าให้ผมฟังว่า เมื่อสมัยยังเด็ก เขาเคยเห็นรถไถดิน ไถกลบทำลายกำแพงอิฐเมืองเก่าที่อำเภอปัวไปต่อหน้าต่อตา เหตุการณ์ครั้งนั้นฝังใจเขา เมื่อสโรชเติบโตขึ้น ภาระหน้าที่การงานทำให้เขาได้มาเกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์  เขาเดินหน้าผลักดันการอนุรักษ์เมืองเก่า โดยตั้งเป้าการเป็นมรดกโลกเป็นเป้าหมายสูงที่สุด “มันเหมือนตั้งว่าบอลไทยไปบอลโลกนั่นแหละครับ”
                แต่การเดินหน้าสู่เป้าหมายนั้นอาจต้องลงทุนมหาศาล ภายใต้แผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าน่าน สาธารณูปโภคเพื่อส่งเสริมเป้าหมายกำลังได้รับการจัดระเบียบอย่างค่อยเป็นค่อยไป เขื่อนป้องกันน้ำท่วม ระบบบำบัดน้ำเสีย เก็บสายไฟลงใต้ดิน ปรับปรุงถนน และอื่นๆอีกสารพัด สโรชยอมรับว่า “ผมว่าที่ทำๆกันไปเนี่ย ลงทุนไปเป็นพันล้านแล้วมั้งครับ”
                หรือเราควรจะลืมเสีย ท่ามกลางความพยายามผลักดันมรดกโลกอย่างแข็งขัน แนวคิดหนึ่งผุดขึ้นมาเบาๆแนวคิดที่ว่าคือ “มรดกน่านสู่มรดกโลก” สรุปง่ายๆคือการมุ่งมั่นปกปักพิทักษ์อัตลักษณ์ความเป็นน่านให้เข้มแข็ง และมองเป้าหมายมรดกโลกเป็นผลพลอยได้ แนวคิดดังกล่าวได้รับแรงผลักดันมาจาก นายแพทย์บุญยงค์ วงศ์รักมิตร ปูชนียบุคคลวัย 77 ปีของจังหวัดน่าน "ผมเคยเตือนว่าให้ทำมรดกน่านก่อนแล้วค่อยเป็นมรดกโลก ไม่ใช่มรดกโลกมาก่อนมรดกน่าน แผนพัฒนาก็เลยไม่ฟังก์ชั่น" หมอบุญยงค์ กล่าว    
                แม้จะมรดกโลกเต็มไปด้วยข้อวาระซ่อนเร้นอันมากมาย ทั้งการท่องเที่ยวที่นำเงินเข้าประเทศได้ปีละหลักแสนล้านบาท พัฒนาท้องถิ่นให้เจริญเติบโต เป็นเกมการเมืองที่เอามาห้ำหั่นกันได้อย่างรุนแรงอย่างกรณีปราสาทเขาพระวิหาร หรือการอนุรักษ์ปกปักแหล่งโบราณสถานได้อย่างแข็งขัน แต่นั่นขึ้นกับว่าเราจะนำตรามรดกโลกไปใช้ในทางใด          
                แต่สำหรับผมแล้วคงโก้ไม่หยอกหากมีตรามรดกโลกติดอยู่รั้วหน้าบ้านผม ผมว่าจะขายพวงมาลัย ดอกไม้ธูปเทียน และทำวุ้นมะพร้าวตรามรดกโลกจำหน่าย น่าสนใจไหมครับ

สิงหาคม 2553