ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.สงฆ์ชวนร่วมรณรงค์ลดอ้วนลดพุงพระ  (อ่าน 1329 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
วันนี้ ( 19 พ.ค.) นายแพทย์วันชัย  สัตยาวุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยข้อมูลหลังจากเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการประจำปี 2555  เรื่อง “แนวทางการดูแลพระอาพาธโรคอ้วน และภาวะแทรกซ้อน” ที่โรงพยาบาลสงฆ์ว่า โรคที่เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศไทย และส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิต รวมทั้งเป็นสาเหตุการตายในลำดับต้นๆ ของประชากร   ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่เมื่อเป็นแล้วจะต้องรับรักษาติดต่อกันนาน หรือตลอดชีวิต ผู้ป่วยต้องได้รับยาและติดตามผลการรักษาตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ   แต่ถ้าขาดการควบคุมก็มักจะเกิดโรคแทรกซ้อน และในที่สุดอาจจะเสียชีวิตได้

แพทย์หญิงวราภรณ์  ภูมิสวัสดิ์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ เปิดเผยข้อมูลสถิติผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลสงฆ์ 3 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2552-2554  พบว่าพระภิกษุอาพาธเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลสงฆ์ระดับต้นๆ  ได้แก่  โรคเบาหวาน  โรคความดันโลหิตสูง  และโรคไขมันในเลือดสูงเช่นกัน และโรคเหล่านี้เป็นโรคเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภค การออกกำลังกาย สามารถป้องกัน และลดภาวะแทรกซ้อนได้ ประกอบกับข้อมูลการตรวจสุขภาพพระสงฆ์ สามเณร ในเขตกรุงเทพมหานคร    เพื่อคัดกรองปัญหา และค้นหาปัจจัยเสี่ยงของโรค ระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2554  จำนวน 188  วัด มีจำนวนพระสงฆ์ สามเณร เข้าร่วมการคัดกรองทั้งสิ้น 5,230 รูป   พบว่า พระภิกษุมีปัญหาโรคเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง  คิดเป็น ร้อยละ 3.80  และ ร้อยละ 8.74  ตามลำดับ  และมีพระสงฆ์ที่มีภาวะอ้วน จำนวน 519 รูป คิดเป็นร้อยละ  9.9  ซึ่งสูงกว่า ประชากรไทยทั่วไป ซึ่งพบร้อยละ 3.7 
 

ภาวะน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนและพระสงฆ์มีความสะดวกมากขึ้น ทั้งด้านพฤติกรรมการฉันอาหารและออกกำลังกายเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะ พฤติกรรมการฉันอาหารของพระสงฆ์  จากข้อมูลของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า แหล่งที่มาของอาหารของพระสงฆ์ ได้แก่  บิณฑบาต ร้อยละ 85  รับกิจนิมนต์ ร้อยละ 4.7 ประกอบขึ้นในวัดร้อยละ 3.1พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่มักตักบาตรด้วยอาหารสำเร็จรูป ที่หาซื้อได้อย่างสะดวก อาหารเหล่านั้นมักประกอบด้วยอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม หรือมีไขมันมากเกินไปทำให้พระสงฆ์ไม่มีโอกาสคัดเลือกอาหารสุขภาพนักจึงมีความจำเป็นต้องฉันอาหารที่ได้รับจากการบิณฑบาตรซึ่งมีผลทำให้เกิดภาวะ   อ้วน น้ำหนักเกินและมักจะเป็นจุดเริ่มของโรค  เบาหวาน , ความดันโลหิตสูง  ไขมันในเลือดสูง  และภาวะแทรกซ้อนทางด้าน โรคของเส้นเลือด  ได้แก่ โรคเส้นเลือดหัวใจ  เส้นเลือดสมอง  ทำให้มีปัญหาในการดำรงชีวิต กับการประกอบกิจทางศาสนา

ในการจัดประชุมวิชาการประจำปีในครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมประกอบด้วยพระสงฆ์ แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการสาธารณสุข เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิด วิธีการดูแล วิธีการส่งเสริมสุขภาพในผู้ป่วยที่มีภาวะโภชนาการเกินและมีปัญหาโรคเรื้อรัง  เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนของกลุ่มอาการอ้วนลงพุง ประกอบด้วย ภาวะ 3ใน 5  ข้อ ดังนี้ 1.เส้นรอบเอวเพศชายมากกว่า 90 เซนติเมตร  เพศหญิงมากกว่า  80  เซนติเมตร 2.ไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด มากกว่า  150 เดซิลิตร 3.ดัชนีมวลกายมากกว่า 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร 4.น้ำตาลในเลือดมากกว่า 110 เดซิลิตร และ 5.ความดันโลหิตมากกว่า  130/85 มิลลิเมตรปรอท

จากการที่มีพระสงฆ์ที่มีภาวะน้ำหนักเกินจำนวนมาก ทางโรงพยาบาลสงฆ์จึงได้จัดค่ายลดน้ำหนักในโครงการ “รวมพลัง ออกกำลัง ลดโรค บริโภคเป็น เน้นสุขภาพ” จำนวน 20 รูป ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-25 พฤษภาคม 2555 เพื่อดำเนินการจัดแนวทางและรูปแบบในการดูแลสุขภาพ  เพื่อเป็นตัวอย่างในการดำเนินการต่อไป  ซึ่งรับพระสงฆ์อยู่ค่ายประจำเป็นเวลา  5 วัน โดยมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การสวดมนต์ทำวัตรเช้า – เย็น การบิณฑบาตร การทดสอบสมรรถภาพทางกาย  การออกกำลังกายของพระสงฆ์  อาหารเพื่อสุขภาพ  โรคที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลสงฆ์จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนที่ประสงค์จะร่วมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์  ให้คำนึงถึงอาหารเพื่อสุขภาพเป็นสำคัญ  พร้อมทั้งการประเมินภาวะอ้วนด้วยตนเอง  และควรตระหนักถึงปัจจัยต่างๆ อาทิลดการถวายอาหารหวาน มัน เค็มแด่พระสงฆ์ พระสงฆ์และประชาชนทั่วไปสามารถประเมินภาวะอ้วนด้วยตนเองโดยวิธีง่ายๆ คือใช้เชือกวัดส่วนสูงของตนเอง แล้วนำมาวัดเส้นรอบเอว ซึ่งเส้นรอบเอวควรจะไม่เกินครึ่งหนึ่งของส่วนสูง เช่นส่วนสูง 160 ซม. รอบเอวไม่ควรเกิน 80 ซม.  บุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุขควรมีส่วนร่วมในการคัดกรองภาวะอ้วนในพระภิกษุสงฆ์

เดลินิวส์