ผู้เขียน หัวข้อ: “กี่ไม้” ตัวแทนหัตถกรรมไทย ดังไกลถึงต่างแดน  (อ่าน 1331 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
เมืองไทยอาจเห็นสาวๆ นั่งถักนิตติ้ง ทำผ้าพันคอผืนสวยให้แก่คนรัก แต่ใครจะนึกว่าวันหนึ่งจะได้เห็นเด็กฝรั่งหัวทองมานั่งทอผ้าด้วยกี่ไม้ขนาดเล็กแบบฉบับพกพาอยู่ในงาน International Handicraft Fair ครั้งที่ 76 ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี งานที่หัตถกรรมไทยหลากหลายประเภทได้บินลัดฟ้ามาอวดโฉมหน้าโชว์ตัวได้อย่างเต็มภาคภูมิ
       
       งานนี้นับเป็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทำมือของไทยได้อย่างสวยงาม แม้แต่อุปกรณ์ในการประดิษฐ์งานหัตถกรรมก็ได้รับความสนใจไม่น้อยหน้า หนึ่งในนั้นคือ “กี่ไม้แบบพกพา” ที่มีชาวต่างชาติแวะเวียนเข้ามาดู เข้ามาสอบถามและขอซื้ออย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นเป็นอุปกรณ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และแปลกใหม่ แม้แต่คนไทยเองก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้สัมผัสกับกี่ทอผ้าเท่าไรนัก จึงไม่แปลกที่ชาวต่างชาติจะให้ความสนใจ ที่สำคัญอุปกรณ์ตัวนี้สามารถเลือกใช้ฝ้าย ไหมพรม หรือด้ายอื่นๆ ในการทอได้ ปราชญ์ นิยมค้า เจ้าของร้านผ้าทอ Mann Craft เจ้าของไอเดียกี่ไม้ เล่าให้ฟังว่า เป็นการนำมาเปิดตัวที่ฟลอเรนซ์เป็นครั้งแรก เพื่อลองตลาดดูว่ามีคนสนใจมากน้อยแค่ไหน ผลปรากฏว่าการตอบรับดีมาก
       
       ไอเดียอนุรักษ์ภูมิปัญญา
       
       สำหรับประวัติของกี่ไม้ ปราชญ์ เล่าให้ฟังว่า เพราะต้องการดึงคนรุ่นใหม่มาสานงานการทอผ้าต่อ โดยริเริ่มจากลูกหลานของช่างทอก่อน เพราะพวกเขาเป็นกำลังสำคัญของการสืบทอดงานภูมิปัญญาการทอผ้า เพราะช่างทอปัจจุบันอายุมากแล้ว พวกคนหนุ่มสาวก็จะเข้าไปทำงานในเมืองหมด เหลือแต่เด็กๆ ที่มองว่าหากลงมาปลูกฝังตั้งแต่เนิ่นๆให้เขาภูมิใจกับงานทอผ้า พยายามสอนให้รู้จักเทคนิคการทอผ้าอย่างง่ายๆ ก่อน
       
       “เราจะไม่สอนเขาด้วยกี่ขนาดใหญ่ เพราะเท้าจะไม่ถึง เลยประดิษฐ์กี่กระดาษขึ้นจากกระดาษลัง ซึ่งต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็นกี่ไม้ ที่ทำมาจากไม้ไอศกรีมมาสอนเด็กๆ ให้เขาเข้าใจหลักการทอง่ายๆ ก่อน ให้เขาฝึกทำเป็นงานอดิเรก และจากการที่ได้ไปสอนก็พบว่าเด็กๆ มีความสนใจ มีความเพลิดเพลินกับสิ่งที่ทำอยู่ ได้ทั้งความสามัคคี เพราะกี่ไม้จะต้องผูกเอวแล้วทำด้วยกัน”
       
       งานที่พวกเด็กทำขึ้นจากกี่ไม้ก็พยายามหาช่องทางขายระบายออก เพื่อให้เด็กเห็นว่างานทอผ้าก็สามารถทำเงินได้ และเด็กๆ เหล่านี้เมื่อโตขึ้นก็จะเริ่มเรียนรู้เทคนิคการทอผ้าอย่างจริงจัง สุดท้ายก็จะมาเป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถทอผ้าได้ สามารถสืบทอดศิลปหัตถกรรมที่มีมาแต่โบราณของไทยให้คงอยู่ต่อไป
       
       กี่ไม้ต้องให้ฮิตกว่าถักนิตติ้ง
       
       กระแสการถักนิตติ้งในเมืองไทยก็ถือว่ามาๆ ไปๆ ยังไม่ตกเทรนด์เสียทีเดียว เป็นกิจกรรมประดิษฐ์สิ่งของในยามว่างที่ดีอย่างหนึ่ง แต่อาจจะดีกว่า หากคนไทยหันมานิยมใช้วิธีการทอผ้าแทนการถัก เพราะนอกจากจะประดิษฐ์สิ่งของออกมาได้ใกล้เคียงกันแล้วยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าของไทยที่มีมาแต่โบราณด้วย
       
       ส่วนการที่จะทำให้คนไทยหันมาสนใจวิธีทอผ้าจากกี่ไม้ขนาดเล็ก ปราชญ์ บอกว่า ต้องลบภาพความยากของการทอผ้าออกไปก่อน เพราะหลายคนอาจเห็นกี่ขนาดใหญ่เลยเข้าใจว่าขั้นตอนซับซ้อน แต่ต้องทำให้เห็นว่าการทอผ้าเป็นเรื่องง่าย อย่างที่ตั้งใจไว้คือการอัปโหลดวิดีโอสาธิตให้ดูในยูทิวบ์ อีกอย่างคือจากการสอนเด็กอิตาลีให้ทดลองใช้กี่ไม้ในงานแฟร์ สอนไม่เท่าไรก็สามารถทำเองได้แล้ว เลยคิดว่าคนไทยที่เป็นเจ้าของงานต้องทำได้อย่างแน่นอน
       
       “หลังจากนี้จะพัฒนาทำเป็นเซตเล็กๆ โดยกี่ไม้อาจทำจากไม้อัด มีชุดฝ้ายและกระสวยให้พร้อม และขายในราคาย่อมเยา ตั้งใจจะเปิดตัวในอีก 1-2 เดือนนี้”
       
       แต่หากจะทำให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น ปราชญ์ บอกว่า รัฐบาลต้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยบรรจุการทอผ้าจากกี่ไม้ขนาดเล็กลงไปอยู่ในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ ก็จะช่วยให้เด็กในเมืองได้รู้จักวิธีทอผ้า นอกจากนี้ ต้องหาวิธีสร้างความดึงดูดใจด้วย อย่างเช่น โปรโมตว่ากี่ไม้สามารถทำคนเดียวเป็นงานอดิเรกได้ โดยผูกอีกฝั่งไว้กับขาโต๊ะ หรือพนักพิง และสามารถทำเป็นคู่ สร้างความสามัคคีหรือกระชับความสัมพันธ์ได้ เช่น คู่รักนั่งทำด้วยกัน คู่แม่ลูก คู่ยายหลาน ซึ่งมองว่าจะกลายเป็นกิจกรรมที่น่ารักอีกอย่างหนึ่ง
       
       เชื่อว่าหากกี่ไม้แบบพกพาได้รับการผลักดันอย่างที่ถูกที่ควร ไม่ใช่เรื่องยากที่วิธีการทอผ้าแบบง่ายๆ สไตล์คนไทย จะดึงความสนใจคนชื่นชอบงานประดิษฐ์มาจากการถักนิตติ้งที่เป็นวิธีของฝรั่งได้ เพราะคนไทยใช้ของไทยก็ย่อมดีกว่าไม่ใช่หรือ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    13 พฤษภาคม 2555