ผู้เขียน หัวข้อ: กรรณิการ์ไม้ดอกงามบรรเทาไข้ ป้องกันผมหงอกก่อนวัย  (อ่าน 1892 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
กรรณิการ์ หรือฝรั่งเรียกว่า Night flower jasmine บางที่ก็เรียกกณิการ์ กรณิการ์ กันลิกา ดอกคล้ายกับดอกมะลิ แต่บริ เวณโคนหลอดจะมีสีส้มแต้มนิดๆ และเวลาที่ร่วงจากต้นจะขาวพร่างแต้มด้วยสีส้มดูสดใสและสวยงามมาก คนโบราณใช้ดอกกรรณิการ์เป็นยา เมื่อดอกร่วงพูจากต้นในเวลาเช้าก็จะถือตะกร้าเล็กๆ ค่อยๆ บรรจงเก็บดอกที่ร่วงใส่ตะกร้าใบน้อยอย่างเบาๆ มือ ไม่เช่นนั้นกลีบดอกที่ขาวที่ชวนมองนั้นอาจช้ำได้ จากนั้นก็จะนำไปผึ่งลมให้แห้งแล้วเก็บใส่โหลไว้ปรุงยาหอม
ต้นกรรณิการ์เป็นพืชในวงศ์ VERBENACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์Nyctanthes arbor - ristis Linn. สามารถขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด  ตอนกิ่ง หรือปักชำกิ่ง เหมาะที่จะปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านได้ มีลักษณะเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 3-5 เมตร กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม มีขน ใบ หนา ค่อนข้างแข็ง โคนใบมน ปลายใบแหลมขนาดใบโตเท่ากับใบมะยมพื้นผิวใบหยาบ สากระคายมือ

ดอกกรรณิการ์ออกเป็นช่อตามง่ามใบ คล้ายกับดอกพริกป่าหรือพุดฝรั่ง ดอกย่อยสีขาวคล้ายดอกมะลิ โคนดอกเป็นหลอด ปลายดอกแยกเป็นกลีบประมาณ 5-7 กลีบ มีลักษณะเป็นจานคล้ายรูปกงจักรดอกมีสีขาวบริสุทธิ์ ส่วนก้านดอกมีสีแดง หรือสีส้ม

ดอกมีสาร carotenoid nyctanthin ให้สีเหลืองอมแสด ใช้ทำสีย้อมผ้า ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดีย ใช้ดอกเป็นยาขับประจำเดือน ในอินเดียใช้ใบซึ่งมีรสขมเป็นยาแก้ไข้ และใช้ขับพยาธิ ในประเทศไทยใช้ใบสดตำแล้วคั้นเอาแต่น้ำ ใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร ถ้ากินมากทำให้ระบาย หรือนำไปแช่กับน้ำมันมะพร้าว 1-2 คืนจะได้น้ำมันที่มีสีเหลืองอ่อนๆ ใช้ทาหมักผมก่อนนอนช่วยให้ผมไม่หงอกก่อนวัย

งานวิจัยการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดแอลกอฮอล์จากใบ ผลและเมล็ดกรรณิการ์เพื่อยับยั้งโรคไขข้อเสื่อมในหนูทดลองที่ถูกทำให้ติด เชื้อวัณโรค (Mycobacterium tuberculosis)จนเกิดอาการไขข้อเสื่อมแล้วให้สารสกัดจากกรรณิการ์กับหนูทดลองทางปาก 25 มก./กก. นาน 47 วัน พบว่า สารสกัดจากใบและผลสามารถช่วยยับยั้งการเกิดไขข้อเสื่อมได้โดยสารสกัดช่วยลดปริมาณการตายของเซลล์ที่เกิดการติดเชื้อได้ และยังมีรายงานการวิจัยต่อเนื่องระบุว่าสารสกัดคลอโรฟอร์มจากใบและดอกกรรณิการ์ความเข้มข้น 50, 100, 200 มก/กก.เป็นเวลา 27 วัน กับหนูที่ถูกกระตุ้นให้เป็นโรคเบาหวานด้วยสาร Streptozotocin พบว่า สารสกัดจากใบและดอกกรรณิการ์มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจึงช่วยลดระดับ LPO, SGPT, Alk Phos, คอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของไขมันอุดตันได้

ในการแพทย์แผนไทยกรรณิการ์จัดเป็นตัวยาสำคัญอีกชนิด แม้ว่าในปัจจุบันจะลดบทบาทหรือมีคนรู้จักน้อยลงก็ตาม แต่ยังเป็นไม้สมุนไพร

ที่มีความสำคัญ มีความงามและการใช้ประโยชน์ได้หลากหลายในการพึ่งตนเองได้
สรรพคุณของต้นกรรณิการ์ตามตำราการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ราก แก้อุจจาระเป็นพรรดึก แก้วาโยกำเริบเพื่ออากาศธาตุ บำรุงธาตุ แก้ลมและดี บำรุงผิวหนังให้สดชื่นสดใสแก้ไอสำหรับสตรีคลอดบุตรใหม่ๆ บำรุงกำลัง แก้ผมหงอก แก้อ่อนเพลีย ต้นแก้ปวดศีรษะ แก้ไข้ แก้ไอสำหรับสตรีคลอดบุตรใหม่ๆใบ บำรุงน้ำดี ขับน้ำดี แก้ไข้เพื่อดีแก้ปวดข้อ เป็นยาระบาย เป็นยารสขมเจริญอาหาร แก้ตานขโมย แก้ปวดท้อง แก้ไข้ แก้ไข้จับสั่นชนิดจับวันเว้นวัน ดอก แก้ไข้ แก้ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจ แก้พิษทั้งปวง แก้โลหิตตีขึ้น แก้ไข้มิรู้สติสมปฤดี เป็นไข้บาดทะจิต แก้ไข้ผอมเหลือง แก้ตาแดง

แพทย์ชนบทในสมัยก่อนจะใช้ต้นและราก ต้มหรือฝนรับประทานแก้ไอสำหรับสตรีที่คลอดบุตรใหม่ๆ.

Thaipost