ผู้เขียน หัวข้อ: ไทย-พม่าจับมือป้องกันโรคมาลาเรีย/ไข้เลือดออก  (อ่าน 1350 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
ระนอง - ไทยจับมือพม่าร่วมรณรงค์ป้องกันโรคมาลาเรีย และโรคไข้เลือดออก หลังพบมีคนป่วยเพิ่มมากขึ้น พร้อมสร้างประวัติศาสตร์ทางด้านสาธารณสุขระหว่าง 2 ประเทศ
       
       วันนี้ (10 พ.ค.) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง และนายตัน เทอร์ จอว์ ผู้อำนวยการควบคุมโรคมาลาเรีย ประเทศพม่า ร่วมกันเปิดการรณรงค์ป้องกันโรคมาลาเรีย และโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ที่บริเวณท่าเทียบเรือหัวถนนข้างร้านอาหารท่าเรือ ต.น้ำจืด อ.กระบุรี จ.ระนอง ซึ่งอยู่ตรงข้ามบ้านทรายปู อ.เกาะสอง จ.เกาะสอง ประเทศพม่า เนื่องในวันมาลาเรียโลก
       
       โดยจัดให้มีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนสื่อประชาสัมพันธ์ และวัสดุอุปกรณ์ในการป้องกันควบคุมโรค ปล่อยขบวนรถออกรณรงค์ให้ความรู้เรื่องโรคมาลาเรีย และไข้เลือดออก เปิดป้ายจุดตรวจมาลาเรียชายแดน ณ บ้านของ อสม. ต.น้ำจืด อ.กระบุรี จากนั้น อสม.ไทย/อสม.พม่า และเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง ออกพ่นสารเคมี และเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย พร้อมให้ความรู้ด้านสุขศึกษาแก่สถานประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าว ออกรณรงค์กำจัดลูกน้ำโดยใส่สารเคมีทุกหมู่บ้านของอำเภอกระบุรี เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) มูลนิธิคีนันแห่งประเทศไทย มูลนิธิศุภนิตแห่งประเทศไทย อ.กระบุรี และเทศบาลตำบลน้ำจืด
       
       ซึ่งหลังจากเปิดการรณรงค์ในฝั่งประเทศไทยแล้ว คณะทั้งหมดได้ลงเรือข้ามฟากไปยังฝั่งประเทศพม่า เพื่อร่วมรณรงค์การป้องกันโรคมาลาเรียเช่นเดียวกัน โดยมีการแจกเอกสารสื่อประชาสัมพันธ์ มอบมุ้งชุบสารเคมีให้แก่ประชาชน
       
       นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง กล่าวว่า สถานการณ์โรคมาลาเรีย และไข้เลือดออกในจังหวัดระนอง ยังไม่น่าไว้วางใจ โดยเฉพาะมาลาเรียในปี 2553 พบผู้ป่วยไทย 993 ราย ต่างชาติ 1,182 ราย ปี 2554 พบผู้ป่วยไทย 487 ราย ต่างชาติ 857 ราย ปี 2555 (มกราคม-เมษายน) พบผู้ป่วยไทย 156 คน ต่างชาติ 244 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 70 อยู่ในอำเภอกระบุรี ซึ่งมีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน
       
       ส่วนไข้เลือดออก ปี 2553 พบผู้ป่วย 156 ราย ปี 2554 พบผู้ป่วย 72 ราย ปี 2555 (มกราคม-เมษายน) พบผู้ป่วย 83 ราย เสียชีวิต 1 ราย และมีรายงานโรคอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การแก้ปัญหาโดยใช้กลยุทธ์ให้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศ สามารถเข้าถึงสถานบริการ ค้นหาและตรวจรักษาอย่างรวดเร็ว และการประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักของประชาชนในชุมชน รวมทั้งการสร้างเครือข่ายการทำงานเชิงรุกของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในระดับพื้นที่เขตชายแดน นับว่าเป็นสิ่งที่ดี และมีความยั่งยืน เพราะความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายเป็นหลัก นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำงานระหว่างชายแดนประเทศไทย และสหภาพพม่า
       
       นายตัน เทอร์ จอว์ ผู้อำนวยการควบคุมโรคมาลาเรีย ประเทศพม่า กล่าวว่า การรณรงค์ต่อต้านโรคมาลาเรียระหว่างพม่ากับไทยในครั้งนี้ นับเป็นประวัติศาสตร์ทางด้านสาธารณสุข เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ ที่ร่วมกันทำงานโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยโรคมาลาเรียลดลง
       
       ทั้งนี้ ที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก ครั้งที่ 60 ได้ประกาศให้วันที่ 25 เมษายน เป็น “วันมาลาเรียโลก” เพื่อให้เป็นเผยแพร่ความเข้าใจถึงโรคมาลาเรียแก่ประชาคมโลกและประกาศความสำเร็จเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานควบคุมโรคมาลาเรียของประเทศต่างๆ ตลอดจนการจัดกิจกรรมเรื่องการป้องกัน และรักษามาลาเรียในชุมชนที่ตั้งในแหล่งแพร่เชื้อมาลาเรีย โดยมีคำขวัญวันมาลาเรียโลก พ.ศ.2555 คือ “คงไว้ซึ่งชัยชนะ รักษาไว้ซึ่งชีวิต ร่วมลงทุนพิชิตโรคมาลาเรีย”

Manager online