ผู้เขียน หัวข้อ: การสัมมนาเรื่องมาตรฐานการแพทย์ และสาธารณสุขไทย(30เมย2555) ตอนที่ 2‏  (อ่าน 3523 ครั้ง)

power

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 27
    • ดูรายละเอียด


  หลังจากที่พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ได้สรุปว่า การดูแลรักษาผู้ป่วยในประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรปและสหรัฐ มีความเป็นมาอย่างไร และมีการวัดมาตรฐานกันอย่างไรแล้ว  ต่อมานพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ ได้มาพูดถึงการที่รัฐบาลที่มีม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลประจำอำเภอขยายไปจนครบทุกอำเภอ เป็นโรงพยาบาลที่ให้การช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยการมีบัตรสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ที่ได้รับการดูแลรักษาจากโรงพยาบาลโดยไม่ต้องจ่ายเงินเลย ในขณะที่โรงพยาบาลก็เก็บค่ารักษาได้จากประชาชนทั่วไป(ที่ไม่มีบัตรสงเคราะห์) และได้เงินจากการรักษาข้าราชการและครอบครัว ที่ได้รับสวัสดิการจากกรมบัญชีกลาง ส่วนผู้ป่วยที่มีฐานะดีก็อาจจะไปแสวงหาการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลเอกชนหรือตามคลินิกเอกชน

สำหรับประชาชนที่มีบัตรสงเคราะห์นั้น ทางโรงพยาบาลได้ขอรับการบริจาคเพื่อใช้ในกิจการของโรงพยาบาล ก็ปรากฎว่าประชาชนได้เต็มใจบริจาคเงินให้แก่โรงพยาบาลเป็นจำนวนไม่น้อยทุกๆเดือน ต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้ริเริ่มที่จะให้มีการประกันสุขภาพ โดยให้ประชาชนซื้อบัตรประกันสุขภาพครอบครัวละ 500 บาทต่อปี เมื่อเจ็บป่วยก็ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

  ต่อมานพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และกลุ่มเพื่อนในชมรมแพทย์ชนบท ได้มีความคิดที่จะขยายกองทุนประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นจากครอบครัวละ 500 บาทต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 1,000 บาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 บาทต่อปี คิดเป็นเดือนละ 100 บาท โดยจ่ายเงินล่วงหน้าเข้ากองทุน และนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้นำแนวคิดนี้ไปเสนอต่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้”ซื้อ” แนวคิดนี้ ในการที่จะให้มีกองทุนประกันสุขภาพไว้จ่ายเงินค่าดูแลรักษาสุขภาพเมื่อเจ็บป่วย และผลักดันผ่านรัฐสภา ให้ผ่านร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ออกมาเป็นกฎหมายสำเร็จ และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2545

 และนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ได้ลาออกจากราชการ มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)เป็นคนแรก แต่ไม่ได้มีการเก็บเงินจากประชาชนเข้าสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติล่วงหน้า โดยมีกองทุนจากงบประมาณแผ่นดินจ่ายเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพียงฝ่ายเดียว และกำหนดให้ประชาชนที่ไม่มีสิทธิในการรับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม ซึ่งมีจำนวน 47 ล้านคน ได้รับการดูแลรักษาสุขภาพจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ โดยให้ประชาชน 27 ล้านคน จ่ายเงินให้แก่โรงพยาบาลครั้งละ 30 บาท ในการไปรับการรักษาพยาบาล โดยสปสช.เป็นผู้จ่ายเงินให้แก่โรงพยาบาลตามค่ารักษาเหมาจ่ายรายหัวที่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดิน 1,200 บาทต่อประชากร 1 คน และประชาชนอีก 20 ล้านคนที่ยากจน ไม่ต้องจ่ายเงินในการไปรับการรักษาเลย
สปสช.และรัฐบาลได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์ว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” ซึ่งทำให้จำนวนประชาชนมาโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล แต่จะมีปัญหาตามมาอีกมากมาย ซึ่งจะได้มีวิทยากรคนอื่นๆมากล่าวถึงต่อไป

  วิทยากรคนต่อไปคือพญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล ได้มากล่าวถึงสถานะสุขภาพของคนไทยและระบบการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทย โดยเปรียบเทียบก่อนและหลังมีระบบหลักประกันสุขภาพ โดยมีแหล่งข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติและสารประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับมกราคม  

สถิติชีพที่สำคัญที่จะยกมาเปรียบเทียบก็คือ อัตราทารกตายในปี 2544 เท่ากับ 6.5 ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ในขณะที่หลังปีพ.ศ. 2545 อัตราทารกตายเพิ่มเป็น  7.2,7.5,7.6,7.4 และ7.2 ในปี 2546- 2550 ตามลำดับ โดยอัตรามารดาตายก็ไม่ลดลง และอัตราตายของทารกที่มีอายุน้อยกว่า 28 วัน ก็สูงขึ้นจาก 2.5 เป็น 4.3 ต่อการเกิด 1,000 คน  ซึ่งอัตราตายเหล่านี้ เป็นอัตราที่ใช้อ้างอิงว่าระบบการแพทย์ของประเทศดีหรือไม่

ในขณะที่อัตราตายจากโรคเนื้องอกทุกตำแหน่งก็เพิ่มมากขึ้น จาก 68.4 ต่อประชากร 100,000 คน ในปีพ.ศ. 2544 เพิ่มมาเป็น 84.9 ในปีพ.ศ. 2550 อัตราตายด้วยโรคต่างๆก็เพิ่มมากขึ้นภายหลังปี 2545 เช่นเดียวกัน

  สำหรับ ดัชนีชี้วัดสำคัญด้านสาธารณสุขพบว่า มีสัดส่วนประชาชนต่อจำนวนแพทย์ 1 คนก็เพิ่มขึ้น ในปี 2549 มีแพทย์ 1 คนต่อประชากร 2,975 คน แต่ในปีพ.ศ. 2552 พบว่ามีประชากร 3,332 คนต่อแพทย์ 1 คน ซึ่งหมายถึงภาระงานของแพทย์แต่ละคนเพิ่มขึ้น เนื่องจากแพทย์แต่ละคนจะต้องรับผิดชอบดูแลประชาชนเพิ่มขึ้น

จำนวนผู้สูบบุหรี่ ร้อยละ 18.9 ในปี 2549 และในปี 2552 ยังมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 18.1 ไม่ได้ลดลงเลย ทั้งๆที่สสส.ได้รับงบประมาณในการรณรงค์ลด ละเลิกสูบบุหรี่มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544 และอัตราผู้ดื่มสุราก็ไม่ลดลงจากร้อยละ 31.5 ในปี 2549 และยังคงอยู่ที่ ร้อยละ 32 ในปี 2552
แสดงว่า สสส.ที่มีภารกิจในการรณรงค์ให้ประชาชน “ลด ละ เลิก” สูบบุหรี่และดื่มสุรา ทำงานไม่ได้ผล และบุหรี่ก็ทำให้เสี่ยงต่อมะเร็ง ส่วนการดื่มสุราก็ยังไปขับรถ ทำให้มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ทั้ง 2 อย่างนี้ เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนเกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งและเกิดอุบัติเหตุ
ต่อมาวิทยากรได้กล่าวถึงสาเหตุการตายของประชาชนไทยปีพ.ศ. 2550  (อัตราตายต่อจำนวนประชากร 100,000 คน)

อันดับ 1 คือมะเร็ง 84.9
อันดับ 2 คืออุบัติเหตุและการเป็นพิษ 59.8
อันดับ 3 โรคหัวใจ 28.4   
อันดับ 4 ความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดสมอง 24.3
อันดับ 5 ปอดอักเสบและโรคอื่นๆของปอด 22.0
อันดับ 6 โรคไตอักเสบ กลุ่มอาการของไตพิการและโรคไต 20.6
และอัตราตายอันดับที่ 11 คือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง 10.5

เปรียบเทียบอัตราตายกับปีพ.ศ. 2553
อันดับ 1จากมะเร็ง 91.2
อันดับ 2 อุบัติเหตุและการเป็นพิษ 51.6
อันดับ3 ความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดสมอง 31.4
อันดับ 4 โรคหัวใจ 28.9
อันดับ 5 ปอดอักเสบและโรคอื่นๆของปอด 25.7
อันดับ 6 โรคไตอักเสบ กลุ่มอาการของไตพิการและโรคไต 21.6
และอัตราตายอันดับที่ 11 คือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง 5.7

 จำนวนผู้ป่วยนอกของสถานบริการสาธารณสุข(ไม่รวมกทม.) พ.ศ. 2544 มี 97,043,000 ครั้งในปีพ.ศ. 2546 เพิ่มเป็น 103,282,000 ครั้ง และปี2552เพิ่มเป็น 152.429,000 ครั้ง เพิ่มขึ้นมากกว่า 50%  ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยในก็เพิ่มจาก 5,565,000ครั้งในปี 2546 เพิ่มเป็น 10,306,000 ครั้งในปี 2552 เพิ่มขึ้น 50 % เช่นเดียวกัน

เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราป่วยของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ในปี 2549 มีเพียง 21,293 ครั้ง และในปี 2553 มีผู้ป่วย 30,590 ครั้ง มีอัตราเพิ่ม50%เช่นเดียวกัน

ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น แต่จำนวนบุคลากรแพทย์กลับลดลง
สิทธิในการรักษาพยาบาลจากกองทุนต่างๆ พบว่าในปี 2550สิทธิบัตรทอง 48,437,000 คน ปี 2552 เพิ่มเป็น 51,097,000 คน
สิทธิประกันสังคม ปี 2550 มี8,008,000 คน ปี 2552 เพิ่มเป็น 8,362,000 คน
สิทธิข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ปี 2550 มี 6,002,000 คน ในปี 2552 เหลือเพียง 5,327,000 คน
งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2549 จำนวน 52,007,.26 ล้านบาท ในปีพ.ศ. 2550 จำนวน 61,468.25 ล้านบาท

นับว่ากระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณ เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น 1ถึง50% ดังกล่าวในขณะที่จำนวนแพทย์ที่ปฏิบัติงานจริงก็มีพียงประมาณ 10,000 คน เนื่องจากแพทย์อีกประมาณเกือบหมื่นคน ก็ทำงานในสังกัดกระทรวงอื่น ไปฝึกอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญ(แพทย์ประจำบ้าน หรือ residency training) และลาออกไปอยู่รพ.เอกชน ไปเป็นผู้บริหารกองทุน และผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข ที่อาจมีตำแหน่งเป็นนายแพทย์ แต่ไม่ได้รักษาผู้ป่วย (แพทย์พวกนี้ นพ.เกษม ตันติผลาชีวะเคยบอกว่าเป็น “แพทย์ฉุยฉาย” )
ฉะนั้น เมื่อพิจารณาจากภาระงานทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาลดังกล่าวแล้ว ย่อมส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์มีภาระงานหนัก งานล้นมือ และมีความเสี่ยงต่อคุณภาพการดูแลรักษาประชาชน ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงต่ออันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มารับการดูแลรักษาสุขภาพที่โรงพยาบาล

 นับได้ว่า สถานะทางสุขภาพของประชาชนไทยภายหลังระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ มีสภาพการณ์ที่ย่ำแย่ลงกว่าก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพ กล่าวคือ อัตราตายของประชากรจากโรคต่างๆเพิ่มขึ้น อัตราตายของทารก และมารดา เพิ่มขึ้น อัตราตายของทารกอายุต่ำกว่า 28 วันก็เพิ่มขึ้น อัตราตายด้วยโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต โรคทางเดินหายใจก็เพิ่มมากขึ้น

 ซึ่งอัตราตายที่เพิ่มขึ้นนี้ คงจะบอกได้ว่า เป็นความล้มเหลวของระบบการแพทย์และสาธารณสุขหรือระบบดูแลรักษาสุขภาพของประเทศไทย ภายหลังที่มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ฉะนั้น เมื่อพิจารณาจากภาระงานทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาลดังกล่าวแล้ว ย่อมส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์มีภาระงานหนัก งานล้นมือ และมีความเสี่ยงต่อคุณภาพการดูแลรักษาประชาชน ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงต่ออันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มารับการดูแลรักษาสุขภาพที่โรงพยาบาล

 นับได้ว่า สถานะทางสุขภาพของประชาชนไทยภายหลังระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ มีสภาพการณ์ที่ย่ำแย่ลงกว่าก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพ กล่าวคือ อัตราตายของประชากรจากโรคต่างๆเพิ่มขึ้น อัตราตายของทารก และมารดา เพิ่มขึ้น อัตราตายของทารกอายุต่ำกว่า 28 วันก็เพิ่มขึ้น อัตราตายด้วยโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต โรคทางเดินหายใจก็เพิ่มมากขึ้น
 ซึ่งอัตราตายที่เพิ่มขึ้นนี้ คงจะบอกได้ว่า เป็นความล้มเหลวของระบบการแพทย์และสาธารณสุขหรือระบบดูแลรักษาสุขภาพของประเทศไทย ภายหลังที่มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

(ยังมีต่อ โปรดรอติดตามอ่านตอนต่อไป)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 พฤษภาคม 2012, 09:58:54 โดย power »