ผู้เขียน หัวข้อ: ภาพสเก็ตช์กลางสมรภูมิ(สารคดี-เนชั้่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1951 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ในยุคสงครามกลางเมืองอเมริกัน  ชัตเตอร์กล้องถ่ายภาพยังทำงานช้าเกินกว่าจะบันทึกการเคลื่อนไหวต่างๆให้ได้ภาพที่คมชัด ช่างภาพที่ต้องขนสัมภาระพะรุงพะรัง ไม่สามารถเดินทางไปตามภูมิประเทศลุ่มๆดอนๆ หรือถ่ายภาพกลางสมรภูมิรบได้  หนังสือพิมพ์ต่างๆจึงมักว่าจ้างนักวาดภาพประกอบทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพให้สเก็ตช์ภาพสงครามเพื่อผู้อ่านทั้งในและต่างประเทศ  “ศิลปินพิเศษ” (special artist หรือ special) ที่ฝังตัวอยู่กับกองทัพทั้งสองฝ่ายเหล่านี้ถือเป็นผู้สื่อข่าวสงคราม (ทั้งภาพและเนื้อข่าว) รุ่นบุกเบิกของสหรัฐฯ  พวกเขาเป็นคนหนุ่ม (ไม่มีผู้หญิงอยู่เลย) จากหลากหลายสาขาอาชีพ โดยมีทั้งทหาร วิศวกร ช่างพิมพ์หินและช่างแกะพิมพ์ ศิลปินภาพวาด และมีบ้างที่เป็นนักวาดภาพประกอบผู้คร่ำหวอด

ภารกิจของพวกเขาคือการผจญภัยสุดโหด  เจมส์ อาร์. โอนีลล์ ศิลปินพิเศษคนหนึ่ง ถูกสังหารระหว่างถูกจับเป็นเชลยโดยกลุ่มกองโจรซึ่งสนับสนุนฝ่ายสมาพันธรัฐ (Confederacy) หรือฝ่ายใต้  แฟรงก์ วิเซเทลลี เกือบเอาชีวิตไปทิ้งที่เมืองเฟรเดอริกส์เบิร์ก รัฐเวอร์จิเนีย เมื่อเดือนธันวาคม ปี 1862  ขณะที่อัลเฟรด วอด ซึ่งอยู่ระหว่างรายงานข่าวการสู้รบของกองทัพฝ่ายสหภาพหรือสหพันธรัฐ (Union หรือ Federation) หรือฝ่ายเหนือในฤดูร้อนปี 1862  เขียนถึงเพื่อนว่า “ไม่ว่าค่าจ้างจะมากขนาดไหนก็ไม่คุ้มกับการที่ต้องอยู่ในสภาพเลวร้ายอย่างที่เราเผชิญเมื่อไม่นานมานี้หรอก”

ศิลปินพิเศษเหล่านี้ทำงานอย่างว่องไว โดยกำหนดฉากสำคัญในสมรภูมิ สเก็ตช์ภาพคร่าวๆภายในเวลาไม่กี่นาที แล้วจึงเพิ่มเติมรายละเอียดในภายหลังเมื่อกลับถึงค่ายพักแรม พวกเขาภาคภูมิใจอย่างยิ่งกับการถ่ายทอดภาพที่เห็นได้ตรงกับความจริงมากที่สุด

ศิลปินส่งภาพสเก็ตช์จากสมรภูมิไปยังสำนักพิมพ์โดยทางม้าเร็ว รถไฟ หรือเรือ จากนั้น ศิลปินประจำสำนักพิมพ์จะคัดลอกภาพลงบนแม่พิมพ์ไม้ แล้วให้ช่างแกะพิมพ์แกะลวดลายส่วนต่างๆของภาพ โดยคนที่ชำนาญจะแกะภาพคนซึ่งมีรายละเอียดมาก และฉากหรือองค์ประกอบที่ซับซ้อน ส่วนช่างฝึกหัดจะแกะส่วนฉากหลังซึ่งง่ายกว่า เมื่องานแกะแม่พิมพ์ไม้แล้วเสร็จ ภาพจะถูกคัดลอกลงบนแม่พิมพ์โลหะเพื่อเตรียมพิมพ์ ภาพที่แกะแล้วนี้อาจถูกคัดลอกใหม่และส่งไปขายให้สำนักพิมพ์ในต่างประเทศเพื่อเพิ่มรายได้  ปกติแล้วกว่าภาพสเก็ตช์จะตีพิมพ์เสร็จอาจกินเวลาสองถึงสามสัปดาห์ แต่หากเป็นเหตุการณ์หรือยุทธการที่สำคัญ ก็อาจรีบตีพิมพ์ให้เสร็จภายในไม่กี่วัน

ย้อนหลังไปเมื่อปี 1861 หนังสือพิมพ์ภาพข่าวรายสัปดาห์ยักษ์ใหญ่สองฉบับ ได้แก่ แฟรงก์เลสลีส์อิลลัสเตรเทดนิวส์เปเปอร์ (Frank Leslie’s Illustrated Newspaper) และ ฮาร์เปอร์สวีคลี (Harper’s Weekly) เป็นผู้ครองตลาด ทั้งสองฉบับตีพิมพ์ในนครนิวยอร์ก  หนังสือพิมพ์  แฟรงก์เลสลีส์อิลลัสเตรเทดนิวส์เปเปอร์ แสดงจุดยืนว่าเป็นกลางอย่างชัดเจนโดยประกาศว่าจะ “ผลิตหนังสือพิมพ์ที่เป็นอิสระอย่างแท้จริงจากความคิดเห็นอคติน่ารังเกียจ หรือสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในเรื่องนโยบายระดับชาติ เป็นหนังสือพิมพ์ที่วางจำหน่ายได้ ทั่วทุกรัฐ และเป็นที่ยอมรับของทุกครอบครัวในฐานะผู้ถ่ายทอดเหตุการณ์ตามที่เกิดขึ้นจริงอย่างตรงไปตรงมา”

ขณะที่หนังสือพิมพ์ ฮาร์เปอร์สวีคลี ให้การสนับสนุนพรรคริพับลิกัน ประธานาธิบดีลิงคอล์น และนโยบายการเลิกทาสอย่างแข็งขัน  ด้วยเหตุนี้  ความคิดเห็น  ผู้สื่อข่าว และหนังสือพิมพ์ภาพข่าวรายสัปดาห์ฉบับนี้จึงไม่เป็นที่ต้อนรับในรัฐฝ่ายใต้ที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระ  

ทั้งสำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์และเลสลีต่างมีส่วนหล่อหลอมความคิดเห็นของสาธารณชน ทั้งตรวจพิจารณา (censor) ภาพที่เห็นว่าออกมาในเชิงลบเกินไปหรือโจ่งแจ้งจนไม่น่าดู และอาจปรับเปลี่ยนให้ดูเร้าใจหรือมีชีวิตชีวาขึ้น เช่น คณะบรรณาธิการของ ฮาร์เปอร์สวีคลี ปรับภาพวาดการตัดขาในโรงพยาบาลสนามที่แอนทีแทมของอัลเฟรด วอด ให้ดูสยดสยองน้อยลง ขณะที่ช่างแกะพิมพ์ปรับภาพสเก็ตช์อีกภาพของวอด โดยทำให้ม้าลากเกวียนบรรทุกปืนใหญ่ที่อยู่ในสภาพอ่อนล้าดูมีชีวิตชีวามากขึ้น เพื่อให้ได้ภาพหรือฉากของการเร่งรุดขนปืนใหญ่ไปยังแนวหน้า

กระนั้น การสเก็ตช์ภาพที่ซื่อตรงต่อความเป็นจริงมากที่สุดเท่าที่ทำได้ของศิลปินพิเศษ ได้ช่วยหักล้างความเชื่อผิดๆของผู้คนในยุคนั้นว่า สงครามคือการผจญภัยอันน่ายกย่องชื่นชม ต่อเมื่อผู้คนเคยชินกับภาพความรุนแรงมากขึ้น การตรวจพิจารณา (ก่อนเผยแพร่) ก็ผ่อนคลายลง

ภายในชั่วอายุคนต่อมา ศิลปินภาพสเก็ตช์ก็ถูกบดบังรัศมีจากช่างภาพที่ใช้กล้องรุ่นใหม่ๆ กระนั้น แม้ในปัจจุบัน ศิลปินก็ยังต้องออกไปแนวหน้า พวกเขาถูกส่งไปโดยกองทัพและสื่อ เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดอารมณ์ของสงครามในแบบที่กล้องถ่ายภาพทำไม่ได้ นั่นคือการบันทึกความรู้สึกนึกคิดของทหารที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้และเห็นคุณค่า

 พฤษภาคม 2555
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 พฤษภาคม 2012, 22:26:16 โดย pani »