ผู้เขียน หัวข้อ: ระบบผู้ป่วยฉุกเฉิน" ส่อวุ่น"  (อ่าน 1392 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
ระบบผู้ป่วยฉุกเฉิน" ส่อวุ่น"
« เมื่อ: 03 พฤษภาคม 2012, 20:34:22 »
ระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นับเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่สร้างความพอใจให้กับประชาชนได้ไม่น้อย เพราะเป็นการช่วยผู้ป่วยในภาวะวิกฤติของชีวิต แม้ว่าในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลฉุกเฉินในช่วงแรก จะยังคงมีความสับสนอยู่บ้าง โดยเฉพาะความกังวลต่อการใช้สิทธิในโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากกลัวถูกเรียกเก็บค่ารักษาภายหลัง ซึ่งจากตัวเลขในช่วง 30 วัน มีผู้ป่วยเข้ารับบริการโรงพยาบาลที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญา 1,425 ราย

 แต่นโยบายนี้เริ่มส่อเค้าไม่ราบรื่นภายหลังดำเนินการไม่ถึง 3 สัปดาห์ เพราะโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการแบบไม่สมัครใจเริ่มออกอาการตีรวน เนื่องจากมองว่าเป็นการบังคับจ่ายค่าบริการรักษาพยาบาลที่ไม่คุ้มทุนโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะการจ่ายค่ารักษาตามดีอาร์จี 10,500 บาท จึงมีการระดมตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด เพื่อร่วมหารือและวิเคราะห์ปัญหา และได้มีการจัดทำข้อเสนอแก้ไขระบบไปยังกระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหารทั้ง 3 กองทุนสุขภาพเพื่อพิจารณา

 ผลสรุปที่ได้ 3 ข้อ คือ 1. เมื่อโรงพยาบาลให้การรักษาผู้ป่วยจนพ้นภาวะวิกฤติแล้ว ควรมีทางเลือกในการรักษาต่อเนื่องที่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยในกรณีที่ผู้ป่วยเลือกใช้สิทธิตามการรวมบริหารจัดการผู้ป่วยฉุกเฉิน โรงพยาบาลจะส่งต่อผู้ป่วยกลับไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดตามสิทธิ แต่หากผู้ป่วยต้องการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งแรกต่อ และไม่ต้องการใช้สิทธิกองทุนสุขภาพ ขอให้มีการจัดทำเอกสารปฏิเสธการใช้สิทธิ เพื่อให้เกิดความชัดเจนระหว่างผู้ป่วยและโรงพยาบาลในการเรียกเก็บค่ารักษา แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัด แต่ไม่มีเตียงรองรับ ต้องรักษาที่โรงพยาบาลแห่งแรกต่อเนื่อง ให้โรงพยาบาลสามารถเรียกเก็บค่ารักษาจากต้นสังกัด หรือจากก่อนทุนได้ตามต้นทุนที่แท้จริง ไม่ใช่ตามดีอาร์จี

 2. ขอให้ผู้ป่วยที่มีกำลังจ่ายและมีหน่วยงานร่วมจ่าย สามารถจ่ายส่วนเกินจากอัตราค่ารักษาที่ทางกองทุนจ่ายได้ โดยคิดราคาตามต้นทุนของแต่ละโรงพยาบาล และ 3. ค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่โรงพยาบาลได้รับความเสียหายระหว่างเดือนเมษายนที่ผ่านมาและเบิกไม่ได้ โดยขอให้ 3 กองทุนช่วยจ่ายชดเชยเพิ่มเติมให้ 

 ข้อเสนอข้างต้นสะท้อนว่าแนวโน้นการรวมจัดการผู้ป่วยฉุกเฉินยังเป็นปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะการจ่ายค่ารักษาตามดีอาร์จี ที่โรงพยาบาลเอกชนส่วนหนึ่งไม่ยอมรับ แถมยังขอเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนเกินจากการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินในช่วงที่ผ่านมา จาก 3 กองทุน

 แต่ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการเคลื่อนไหวของโรงพยาบาลเอกชนครั้งนี้กลับขาดความเป็นเอกภาพ เพราะยังมีโรงพยาบาลเอกชนส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะโรงพยาบาลระดับกลางที่รับได้และพอใจกับนโยบายนี้ รวมไปถึงอัตราการจ่ายค่ารักษาดีอาร์จี 10,500 บาท ชี้ให้เห็นถึงการกำหนดอัตราการจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยฉุกเฉินที่เป็นไปอย่างเหมาะสม 

 ...ไม่ว่าอย่างไรปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ย่อมส่งผลต่อการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน แนวโน้มการปฏิเสธผู้ป่วยยังคงมีอยู่ จำเป็นที่กระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหาร 3 กองทุนต้องร่วมกันหาทางออก เพื่อให้ระบบผู้ป่วยฉุกเฉินเดินหน้าต่อไป ตามนโยบายรัฐบาลที่ได้ประกาศไว้ ทั้งยังเป็นการนำร่องความร่วมมือการรวมบริหารจัดการ 3 กองทุนในอนาคตต่อไป

http://www.bangkokbiznews.com