ผู้เขียน หัวข้อ: "เลขาฯ สปสช." : ข้อครหา "เกี้ยเซี้ย" การเมือง-เอ็นจีโอ-แพทย์ชนบท‏  (อ่าน 914 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
การเลือกตั้งเลขา สปสช. ถูกเตะถ่วงออกไปอีกครั้ง ตามกำหนดการบอร์ด สปสช. จะประชุมเพื่อสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งแทน นพ.วินัย สวัสดิวร ซึ่งหมดวาระไปเมื่อ 31 มี.ค. ในวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา

ทว่า ประเด็นการขาดคุณสมบัติของประธานกรรมการสรรหาเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ถูกหยิบขึ้นมาตีรวนในที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กระทั่งมติบอร์ด 11 เม.ย.เลื่อนการสรรหาออกไปไม่มีกำหนด

พิเคราะห์ความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ พบนัยสำคัญที่น่าครุ่นคิด…

ย้อนไปครั้งที่ วิทยา บุรณศิริ ขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ขณะที่ บอร์ด สปสช.กำลังหมดวาระ ขณะนั้นปรากฏวาทกรรม “ขบวนการล้มหลักประกันสุขภาพ” จากการเปิดประเด็นของเอ็นจีโอในนาม “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” และได้รับการขยายผลจาก “ชมรมแพทย์ชนบท”

พบความเคลื่อนไหวกลุ่มสมาคมยาข้ามชาติ โรงพยาบาลเอกชน เครือข่ายแพทย์สภาวิชาชีพ ข้าราชการ สธ.บางราย ผนึกกับฝ่ายการเมืองเพื่อล้มระบบบัตรทอง เนื่องจากสูญเสียอำนาจบริหาร-ตัดสินใจ-งบประมาณ” สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพระบุไว้วันที่ 8 ม.ค.

ความหมายคือความพยายามของฝ่ายการเมืองที่จะแต่งตั้งบอร์ด สปสช.ชุดใหม่ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มวิชาชีพ-กลุ่มทุน ระหว่างนั้นชมรมแพทย์ชนบท โดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมฯ เปิดหน้าชกด้วยการตีแผ่แผน “บันได 4 ขั้น” ขบวนการฮุบกองทุน

1.ฝ่ายการเมืองจะเปิดทางให้กลุ่มแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับระบบและฝ่ายการเมืองเข้ายึดครองบอร์ด สปสช. เพื่อจัดบุคคลเข้าสู่อนุกรรมการชุดต่างๆ
2.เปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งเลขา สปสช. โดยเอาตัวแทนฝ่ายการเมืองเข้าไปแทน
3.ของบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้น
4.สร้างกระแสสังคมให้ยุบเลิกหรือแก้ไขสาระสำคัญของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

สิ่งที่ช่วยยืนยันความเป็นไปได้ของแผน สะท้อนผ่านการประชุมบอร์ดวันที่ 24 ม.ค. ที่ประชุมสามารถแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 13 คณะ 217 คน ได้สำเร็จ และก่อนหน้านั้นเสียงส่วนใหญ่ในบอร์ดเห็นชอบแต่งตั้งบอร์ดสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มทุนได้สำเร็จ อาทิ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ บอร์ดการบินไทย เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย หรือกระทั่ง วรานุช หงสประภาส บอร์ด ปตท.สผ. ซึ่งได้รับเสนอชื่อเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง แต่ท้ายที่สุดขอถอนตัวไป

“ฝ่ายการเมืองจะเปิดทางให้กลุ่มแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับระบบและฝ่ายการเมืองเข้ายึดครองบอร์ด  สปสช. เพื่อจัดบุคคลเข้าสู่อนุกรรมการชุดต่างๆ” คือบันไดขั้นที่ 1 และเมื่อเชื่อมโยงจากความเคลื่อนไหวข้างต้น อาจเรียกได้ว่าประสบผลสำเร็จ

สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือท่าทีของชมรมแพทย์ชนบทและเอ็นจีโอในนามกลุ่มคนรักหลักประกันฯ เพราะระหว่างการคัดเลือก บอร์ด สปสช.สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ตำแหน่ง มีการกระพือวาทกรรม “ขบวนการล้มหลักประกัน” ชนิดรายวัน มีการเคลื่อนไหวเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศร่วมต่อต้าน

ทว่าภายหลังบันไดขั้นที่ 1 ลุล่วง ความเคลื่อนไหวกลับลดอุณหภูมิร้อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด เข้าสู่วันที่ 31 มี.ค. ซึ่ง นพ.วินัย หมดวาระเลขา สปสช. นับเป็นการเปิดม่านแผนบันไดขั้นที่ 2 คือ “เปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งเลขา สปสช. โดยเอาตัวแทนฝ่ายการเมืองเข้าไปแทนที่”

บอร์ด สปสช.แต่งตั้งปลัดกระทรวงแรงงาน นพ.สมเกียรติ เป็นประธานสรรหาเลขา สปสช. ประชุมนัดแรก 11 เม.ย. มีผู้สมัครชิงชัย 9 ราย คณะกรรมการสรรหาได้คัดเลือกเหลือเพียง 3 ราย ได้แก่ นพ.วินัย อดีตเลขา สปสช. นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข สธ.

จับกระแสความเป็นไปได้คือ “นพ.วินัย” ยังคงเต็งหนึ่ง และหนึ่งในผู้ผลักดันให้ นพ.วินัย กลับเข้ามาสู่ตำแหน่งเลขา สปสช.อีก 1 วาระ 4 ปี คือ “รัฐมนตรีวิทยา”…ทำให้ยิ่งน่าครุ่นคิด !!               

แวดวงสาธารณสุขทราบกันดีว่า “นพ.วินัย” มีสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับ “ชมรมแพทย์ชนบท” และว่ากันตามเนื้อผ้าชมรมฯเคลื่อนไหวหนักหน่วงเพื่อสั่นสะเทือนเก้าอี้ รมว.วิทยา ทั้งกรณีขบวนการล้มหลักประกันฯ การแฉทุจริตจัดซื้อกระเป๋าสะพายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) รวมถึงการต่อต้านนโยบายร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค

นอกจากนี้การที่นายวิทยา ล้างบางเปลี่ยนขั้วบอร์ด สปสช.โดยนำเอากลุ่มวิชาชีพ-กลุ่มทุน เข้ามาดำรงตำแหน่งเท่ากับลดทอนอำนาจ “ชมรมแพทย์ชนบท” ซึ่งมีตัวแทนอยู่ในบอร์ดเดิมอย่างไม่ไว้หน้า                                                                             

เหตุใดวิทยายังสนับสนุน “นพ.วินัย” อยู่?... อีกคำถามที่ตามมาคือ ในขณะที่เปิดม่านแผนบันไดขั้นที่2 เหตุใด “ชมรมแพทย์ชนบท-เอ็นจีโอ” จึงนิ่งเงียบ !!!

อีกฝากที่เคลื่อนไหวต่อต้าน นพ.วินัย อย่างออกนอกหน้า คือสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.) และสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 2 องค์กรนี้เคลื่อนไหวต่อต้าน “ตระกูล ส.” มาโดยตลอด หนึ่งในนั้นคือ “สปสช.” เห็นได้จากการล่ารายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายล้ม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้ง 2 องค์กรยังประกาศจุดยืนชัดเจนอยู่ขั้วตรงข้ามกับชมรมแพทย์ชนบทในทุกกรณี โดยเฉพาะการตามติดดิสเครดิต นพ.วิชัย โชควิวัฒน หนึ่งในบอร์ด สปสช. และคีย์แมนสำคัญในชมรมแพทย์ชนบท

จึงไม่แปลกที่ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธาน สพศท. จะเปิดประเด็นต่อต้าน นพ.วินัย  กลับเข้าดำรงตำแหน่งอีกครั้ง โดยยกข้ออ้างความไม่สง่างาม โดยระบุว่าพบหนึ่งในผู้ที่เข้ารับการสรรหามีปัญหาเรื่องการบริหารงบประมาณอย่างชัดเจน ถึงขั้นถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ชี้มูลความผิด 7 ประการ มีการใช้งบประมาณไม่ถูกต้องไม่ถูกวัตถุประสงค์ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่น่าเคลือบแคลง         

ที่น่าสนใจกว่านั้นคือข้อมูลจากการเปิดเผยของ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธาน สผพท. ซึ่งระบุว่า “ทราบว่านายวิทยาสั่งให้กรรมการสรรหาเลขา สปสช.เลือก นพ.วินัย กลับเข้าดำรงตำแหน่งอีก 1 สมัย ทั้งๆ ที่ชัดเจนว่าใช้จ่ายเงินไม่มีประสิทธิภาพ”… ยิ่งช่วยยืนยันว่า “วิทยา” สนับสนุน “นพ.วินัย”!!...

“การเร่งรีบสรรหาเลขา และเลือก นพ.วินัย กลับมาดำรงตำแหน่งอีก จึงน่าสงสัยว่านายวิทยา กำลังวางแผนที่จะรับสินบนจากเงินกองทุน สปสช.ตามที่มีกระแสข่าวว่าต่างตอบแทน 3,000 ล้านบาทหรือไม่”

พญ.เชิดชู ยังยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ยับยั้งการเร่งรีบแต่งตั้งบอร์ด สปสช.ในวันที่ 11 เม.ย. ซึ่งนำมาสู่ “การล้ม” สรรหาเลขาธิการ สปสช. 11 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมบอร์มีมติเลื่อนการพิจารณาออกไปไม่มีกำหนด

ด้วยเหตุผลคือ เกรงว่า นพ.สมเกียรติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา จะขาดคุณสมบัติ เพราะเป็นตัวแทนสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในการลงนามในบันทึกความร่วมมือ 3 กองทุนสุขภาพ ให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว

“ที่ประชุมเห็นว่า นพ.สมเกียรติอาจเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับ สปสช. จึงมีมติให้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก่อน จึงจะกลับเข้าสู่กระบวนการสรรหาใหม่อีกครั้ง”

ทั้งที่ข้อกังวลเรื่องคุณสมบัติ นพ.สมเกียรติ เคยมีการพูดในที่ประชุมแล้ว แต่ทุกฝ่ายก็ไฟเขียวให้ดำเนินการสรรหาต่อ นั่นทำให้การหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างให้เลื่อนการสรรหา มีพิรุธ!

แหล่งข่าวระดับสูง สปสช. ระบุว่า สาเหตุการเลื่อนพิจารณาครั้งนี้มาจากคำสั่งของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่โทรศัพท์ถึง “วิทยา” เนื่องจากได้รับหนังสือร้องเรียน

หากต่อจิ๊กซอว์ลำดับเหตุการณ์ ก็น่าทำให้ขบคิดต่อว่าโอกาสการเข้าสู่ตำแหน่งของ “นพ.วินัย” การผลักดันของ “นายวิทยา” และการเมินเฉยของ “ชมรมแพทย์ชนบท-เอ็นจีโอ” สบช่องกันอย่างถูกเหลี่ยม จนมีกระแสครหาว่า “เกี้ยเซี้ย” กันหรือไม่ ?

เป็นไปได้หรือไม่ว่า เมื่อรัฐมนตรีวิทยายึดกุมบอร์ด สปสช.ได้แล้ว จึงยอมให้ นพ.วินัย ซึ่งเป็นสายตรงของชมรมแพทย์ชนบท ดำรงตำแหน่งอีก 1 สมัย แลกกับการยุติการเคลื่อนไหวต่อต้าน

สำหรับประเด็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน 3,000 ล้านบาท พญ.เชิดชู บอกว่าไม่ทราบรายละเอียด แต่ได้ยินมาจากก๊วนกอล์ฟของ นพ.วินัย ที่ประกาศให้เตรียมเลี้ยงฉลองตำแหน่งได้เลย และมีข่าวลือเรื่องผลประโยชน์ต่างตอบแทน 3,000 ล้านบาท

ทั้งหมดเป็นเพียงจิ๊กซอว์ที่ประติดประต่อขึ้นมาจากประเด็นคำถามต่างๆ ถูกหรือผิด-ใช่หรือไม่? ยังรอคอยคำตอบจากฟากฝ่ายต่างๆ

ขอให้สังคมช่วยกันจับตาดูในฐานะที่ระบบหลักประกันสุขภาพ หรือ “บัตรทอง” เป็นสมบัติร่วมจากภาษีชาวไทยทุกคน ไม่ใช่เพียงผู้ใช้สิทธิ 47.7 ล้านคนเท่านั้น จึงไม่ใช่เครื่องมือที่ใครจะเอาไปต่อรองกัน !

วันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2012 เวลา 12:08 น. เขียนโดย ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา