ผู้เขียน หัวข้อ: แถลงการณ์สมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท.แห่งประเทศไทย  (อ่าน 2278 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
                แถลงการณ์สมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท.แห่งประเทศไทย
                           และเครือข่ายสหวิชาชีพทางการแพทย์
          เรารวมพลังวันนี้ เพื่อแสดงพลังคัดค้าน  ร่างพ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....  ที่ไม่เป็นธรรม   เพื่อถอนร่าง พ.ร.บ.ฯออกจากสภาผู้แทนราษฎร  มาทำประชาพิจารณ์  ให้เกิดความรอบคอบและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
                แม้เจตนารมณ์ของกฎหมายดี  แต่สาระและเนื้อหา ขัดแย้งกัน   กลับทำลายสัมพันธภาพที่ดี ระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ  ที่มีมาอย่างยาวนาน   และมีผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุขโดยรวม   มีประชาชนส่วนน้อยที่ได้รับประโยชน์  แต่ประชาชนส่วนใหญ่เสียประโยชน์
           เราจึงขอเป็นตัวแทนของบุคลากรสาธารณสุขทั่วทั้งประเทศ  ต้องการสื่อความเข้าใจ   ถึง รมต.สธ. รัฐบาล  ส.ส. ส.ว.  สื่อมวลชน  และประชาชนทั้งหลาย
                 หากกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้จะเกิดปัญหาตามมาดังนี้
           1.ทำลายสัมพันธภาพอันดีมาอย่างยาวนาน  ระหว่างผู้รักษาและผู้ป่วย   เพราะจะมีการร้องเรียนและฟ้องร้องมากขึ้น   ก่อให้เกิดความหวาดระแวงระหว่างกัน   เกิดภาวะการแพทย์ปกป้องตนเองอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น (defensive medicine) เพราะผู้รักษาขาดความมั่นใจในการตัดสินใจรักษาผู้ป่วย เนื่องจากไม่แน่ใจว่ากรรมการจะตัดสินตามมาตรฐานหรือตามความถูกใจของกรรมการ
            2.เกิดความไม่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย  เพราะขาดผู้เชี่ยวชาญจากสภาวิชาชีพ  ในคณะกรรมการกำหนดนโยบาย/พิจารณา/อุทธรณ์
            3.ซ้ำเติมภาวะขาดทุนกับรพ.ของรัฐ  ซึ่งปัจจุบัน ขาดทุนแล้ว  505 แห่ง  และจะส่งผลกระทบถึงคุณภาพบริการแก่ประชาชนส่วนใหญ่  เนื่องจากต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ทำให้โรงพยาบาลไม่มีเงินซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่ดีมารักษาผู้ป่วย และพ.ร.บ.นี้จะทำลายขวัญกำลังใจของบุคลากร
            4.สร้างภาระงบประมาณของประเทศมากขึ้น   เพื่อการดำเนินงานของกองทุนและองค์กรใหม่
            5.ประชาชนผู้เจ็บป่วยที่มารับการรักษาจากรพ.เอกชน   จะต้องรับภาระค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น เนื่องจากรพ.เอกชนก็จะถูกบังคับจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามพ.ร.บ.นี้ ทำให้รพ.เอกชนมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ต้องมาเรียกเก็บจากผู้ป่วยอย่างแน่นอน(ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น)
            6.ทำลายคลินิก  ร้านขายยา ขนาดเล็ก ที่ให้การรักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ  อาจจะต้องปิดกิจการลง  เพราะถูกบังคับร่วมจ่ายสมทบเข้ากองทุน  ทั้งๆที่ต้องเสียภาษีให้รัฐอยู่แล้ว ซึ่งก็คงจะต้องผลักภาระค่าใช้จ่ายนี้ไปสู่ผู้ป่วยอย่างแน่นอน


ทางออกที่เหมาะสม
             1.ม.41 ในพ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฯ  ควรขยายฐานให้ครอบคลุม  สิทธิประกันสังคม  และข้าราชการ   เพิ่มเพดานจ่ายมากขึ้น  ใช้กลไกเดิมในการพิจารณาเงินชดเชย  ซึ่งรวดเร็วและเป็นธรรมอยู่แล้ว   ไม่ต้องเสียงบประมาณเพื่อค้ำจุนองค์กรใหม่
              2.แหล่งเงินสมทบควรมาจาก  งบเดิม ในม.41  กองทุนประกันสังคม  และเงินกองทุนค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ
              3.เมื่อมีการประนีประนอมรับเงินชดเชย  ควรยุติคดีแพ่งและอาญา   ถ้าไม่พอใจวงเงิน  ควรสละสิทธิ์ และฟ้องศาล
              4.องค์ประกอบของคณะกรรมการทุกคณะ   ควรมีสัดส่วนที่สมดุล  ทั้งตัวแทนภาครัฐ  ผู้รักษา  ผู้ป่วย  และควรให้ผู้เชี่ยวชาญจากสภาวิชาชีพเป็นผู้ตัดสินมาตรฐานการรักษาผู้ป่วย

 การตัดสินบนความถูกต้อง อาจจะไม่ถูกใจใครบางคน แต่ประเทศชาติต้องยึดหลักความถูกต้องไม่ใช่ถูกใจใครบางคน จึงจะเกิดสันติสุขในบ้านเมือง

                                                                           ฝ่ายประชาสัมพันธ์  สมาพันธ์แพทย์ฯ
                                           พญ.สุธัญญา   บรรจงภาค  (086-623-9710)  รพ.นครปฐม                                                                                     
                                                                                    29-30 ก.ค.2553